เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การตามหา...ใบประกอบวิชาชีพ ครูสอนโยคะ

การตามหา...ใบประกอบวิชาชีพ ครูสอนโยคะ (ของจิมมี่)

หลังจาก สอนโยคะมาได้สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีนักเรียนที่เป็นชาวต่างชาติ มาเรียนกับผม คำถาม อมตะของชาวต่างชาติที่เรียนโยคะกับผม ส่วนใหญ่ก็คือ " โยคะสไตล์ที่คุณสอนคือ? คุณไปเรียนมาจากที่ไหน? คุณCertified Yoga Teacher หรือ Registered Yoga Teacher กับองค์กรโยคะไหน? " สองข้อแรกพอจะตอบกลับไปได้ไม่ยาก แต่คำถามสุดท้ายไม่รู้จะตอบยังไง เพราะไม่รู้เรื่อง แล้วก็ถามเขากลับไปด้วยความซื่อบื้อว่า "มันเป็นยังไงครับ?" เขาก็เลยตอบผมกลับมาว่ามันก็เหมือนการได้รับใบประกอบวิชาชีพครูสอนโยคะนั่นเอง คุณทำอาชีพอะไร คุณก็ควรจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพนั้นๆ ในต่างประเทศ(ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย) หากไม่มีใบประกอบวิชาชีพนั้นๆ คุณก็ไม่สามารถประกอบอาชีพนั้นได้ จึงเข้าใจทันทีเลยว่าสำหรับผมในตอนนี้ก็มีค่าเทียบเท่าครูสอนโยคะเถื่อนนั่นเอง ฟังดูน่ากลัวจังเลย และจะนิ่งเฉยเป็นครูสอนโยคะเถื่อนเรื่อยไปก็คงไม่ดีแน่

ผมจึงเริ่มหาข้อมูล และเริ่มใช้อินเตอร์เนต แล้วก็ทราบข้อมูลว่า สำหรับในประเทศไทยแล้วการเป็นครูสอนโยคะยังไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ อะไรมาบังคับ แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็จะมีกฎหมายกำหนด หรือไม่ก็จะมีองค์กรเกี่ยวกับโยคะมาควบคุม จัดระเบียบครูสอนโยคะให้ได้มาตรฐาน โดยทั่วไปแล้วการอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะจะมีด้วยกันสองแบบ คือแบบ 200ชั่วโมง กับแบบ 500ชั่วโมง ซึ่งทั้งสองแบบควรจะได้รับการรับรองจากองค์กรโยคะระดับนานาชาติเพื่อให้หัวข้อที่ใช้ฝึกอบรมเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และผมก็สืบทราบมาว่าองค์กรโยคะระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ก็มีหลักๆ สององค์กร องค์กรแรกคือ International Yoga Federation ( IYF.)ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอุรุกวัย องค์กรนี้ทำงานแบบอาสาสมัคร มีเจ้าหน้าที่ทำงานจริงๆเพียงไม่กี่ท่าน(จึงทำงานกันค่อนข้างช้า-ช้ามาก) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายนักบวชฮินดูที่ย้ายไปอยู่ทางอเมริกาใต้ องค์กรนี้ค่อนข้างเก่าแก่ มีเครือข่ายและสมาชิกขององค์กรอยู่มากมายทั่วโลก ส่วนอีกองค์กรหนึ่งคือ Yoga Alliance ( YA.) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา(องค์กรนี้ทำงานรวดเร็วทันใจมาก แต่ก็ต้องมีค่าธรรมเนียมต่างๆที่ต้องจ่ายให้องค์กร) องค์กรนี้จริงๆแล้วเกิดขึ้นเพื่อ ควบคุมและกำหนดมาตรฐานครูโยคะของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีมาตรฐานต่างๆที่ค่อนข้างชัดเจนมากๆ ประกอบกับกระแสการฝึกโยคะของประเทศในย่านเอชียตะวันออกเฉียงใต้(รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย) มักจะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมหลายๆอย่างจากสหรัฐอเมริกามากกว่าทางอินเดีย (เห่อตามฝรั่งกัน) YA. จึงเข้ามามีอิทธิพล กับการจัดระเบียบครูโยคะ และเป็นเครื่องหมายการค้าว่า ถ้าอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะถ้าจะให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ก็ควรอบรมกับครูต่างชาติและเป็นหลักสูตรที่ YA.รับรอง ซึ่งเมื่ออบรมจบจนได้ใบประกาศที่ผ่านการรับรองจากสององค์กรโยคะนานาชาติทั้งสององค์กรนี้แล้ว ก็จะต้องทำการขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นครูโยคะระดับนานาชาติ สำหรับ IYF. ไม่ยุ่งยากเพราะ ถ้าจบจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจาก IYF. แล้วเขาจะถือว่าคุณได้ขึ้นทะเบียนเป็นครูโยคะนานาชาติแล้วแบบอัตโนมัติ แล้วก็จะสามารถใช้เครื่องหมาย IRYT.(International Registered Yoga Teacher)ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และยังสามารถนำใบประกาศนั้นไปสมัครสอนโยคะได้ทั่วโลก(แต่บางกรณีอาจไม่เป็นที่ยอมรับในสหรัฐอเมริกา) เพราะว่าที่สหรัฐอเมริกานั้น YA.เขาคลุมอยู่ ส่วนผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะที่ได้รับการรับรองจากYA. จะต้องถ่ายเอกสารใบประกาศพร้อมกับค่าธรรมเนียมรายปี ไปที่YA. (สำหรับYA.ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้เขาทุกปีล่ะ)เพื่อทำการขึ้นทะเบียนและมีข้อมูลขึ้นโชว์บน เว็บไซต์ของ YA. ซึ่งผู้ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นครูสอนโยคะกับ YA. แล้วนั้น จะได้รับหนังสือตอบรับและบัตรประจำตัวครูฝึกโยคะที่ขึ้นทะเบียนกับYA. และจะสามารถใช้เครื่องหมาย RYT.(Registered Yoga Teacher) ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และยังนำใบประกาศไปใช้สมัครสอนโยคะได้ทั่วโลก ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆสามารถลิงค์เข้าไปดูได้ตามเว็บไซต์ด้านล่างบทความนี้ ดังนั้นผู้ที่จะเป็นครูโยคะตามมาตรฐานนานาชาติได้นั้น ควรจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรครูสอนโยคะ ขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 200 ชั่วโมงและขึ้นทะเบียนกับองค์กรโยคะนานาชาติ

สถาบันผลิตครูโยคะที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในประเทศอินเดีย แต่ในปัจจุบันเนื่องจากศาสตร์แห่งการฝึกโยคะเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก จึงมีสถาบันผลิตครูโยคะอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเราควรจะต้องตรวจสอบดูให้ดีว่าสถาบันต่างๆเหล่านั้นมีโครงสร้างหลักสูตรเป็นอย่างไรและขึ้นทะเบียนกับองค์กรโยคะใด เพราะในปัจจุบันมีสถาบันหลายๆแห่งเปิดเองสอนเองโดยไม่มีองค์กรโยคะใดมารับรอง

แต่พอทราบรายละเอียดต่างๆแล้ว มันยังมีอะไรมากกว่านั้นอีก มาดูเรื่องค่าใช้จ่ายของการอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะ ราคาค่อนข้างสูงมากสำหรับครูโยคะเถื่อนอย่างผม คงต้องเก็บเงินกันนานเลยล่ะ ราคาอยู่ประมาณ60,000 - 100,000 บาทเลยเชียว อันนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ตั๋วเครื่องบิน, ที่พักและค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระยะเวลาที่ไปฝึกอบรม รวมแล้วน่าจะต้องใช้เงินมากถึง200,000บาท

สุดท้ายแล้ว ในเมื่อเรารักในการสอนโยคะ โยคะเป็นสิ่งเดียวที่สร้างรายได้ให้กับผมในตอนนี้(ไปทำงานอย่างอื่นก็ไม่เป็นด้วยล่ะที่สำคัญ) ในเมื่อคิดจะเอาดีทางด้านนี้แล้ว ผมก็ควรจะลงทุนและทำให้มันถูกต้องตามมาตรฐานสากล เผื่อว่าวันหนึ่งจะมีใครเชิญไปสอนโยคะที่ต่างประเทศบ้าง(ฝันไปไกลถึงขนาดนั้นเลยเชียว)

ไม่นานนักผมก็ดิ้นรน กระเสือกกระสนหาหนทางผลักดันตัวเองไปอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะตามมาตรฐานสากลจนได้ในที่สุด ด้วยวิถีทางของผม ผมเลือกที่จะไปอบรมที่ประเทศมาเลเซีย สถาบันนี้เปิดอบรมหลักสูตรครูสอนโยคะมาตรฐานสากล200ชั่วโมง โดยได้รับการรับรองจาก Yoga Alliance ( YA.) เหตุผลที่เลือกจะไปอบรมที่นี่ก็คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ใช้เวลาในการอบรมไม่นานมากนัก แค่ประมาณ20วัน(แค่นี้ก็เตรียมตัวกินแกลบได้เลยตอนกลับมาเมืองไทย) และใช้เวลาเดินทางน้อย สภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับเมืองไทยมากๆ ปรับตัวไม่ยากแน่ๆ

ในที่สุดเมื่อทุกอย่างลงตัว การเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของผมก็กำลังจะมาถึง (น่าตื่นเต้นจังเลย)


รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ 

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

http://www.fitthai.com/

http://www.yogaalliance.org/

http://www.internationalyogafederation.net/

http://www.yogaaum.com/

ครั้งแรก...สำหรับการสอนโยคะนอกสถานที่




ครั้งแรก...สำหรับการสอนโยคะนอกสถานที่(ของจิมมี่)
เพียงไม่นานเท่าไหร่นัก หลังจากฝึกโยคะกับครูวัฒน์และสอนโยคะให้กับสมาชิกในฟิตเนสที่ผมทำงานอยู่ ครูวัฒน์ก็คงเห็นว่าผมมีแววพอสอนได้ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวนั้นครูวัฒน์ มีงานสอนโยคะติดต่อเข้ามาจนล้นมือ ครูวัฒน์จึงให้โอกาสผมได้ไปสอนโยคะนอกสถานที่เป็นครั้งแรก ครูวัฒน์ติวเข้มให้ผมพักใหญ่จนมั่นใจ ว่าผมสอนได้แน่ๆ จึงให้ผมไปสอน

ขอกล่าวถึงครูวัฒน์ พอสังเขปว่า ครูวัฒน์ก็เป็นคนแรกๆ ที่นำโยคะแนวใหม่มาเผยแพร่ในกรุงเทพฯ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านได้เดินทางไกลไปเรียนโยคะมาหลายแห่ง ทั้งที่ อินเดีย, เนปาล, ภูฏาน, ฐิเบต และสิขิม ครูวัฒน์เรียนทุกแขนงของโยคะเท่าที่ท่านจะสามารถเรียนได้ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวจริงทางด้านโยคะอีกท่านหนึ่งในวงการ และทุกๆปีท่านก็จะต้องเดินทางกลับไปเยี่ยมสำนักที่ท่านได้เคยเรียนมาพร้อมกับศึกษาเพิ่มเติมเทคนิคใหม่ๆทางด้านโยคะและอายุรเวท อยู่เรื่อยๆ

สถานที่แรกที่ผมไปสอน ก็เป็นหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ย่านพญาไท เป็นการรวมเงินกันมาเรียนหลังเลิกงาน มีคนเรียนประมาณ15-20คน จำได้ว่า สอนเย็นวันอังคารหลังจากที่ผมออกเวร จากฟิตเนส บ่ายสามโมงตรง ก็รีบวิ่งออกมาสอนให้ทัน สี่โมงครึ่ง เป็นห้องติดแอร์แต่ผมเหงื่อออกเยอะมากเหมือนดังว่าเขาไม่ได้เปิดแอร์ ทุกคนที่จะเรียนจะต้องนำอุปกรณ์ ปูรองนั่ง,นอน มากันเอง ในช่วงเวลานั้นเสื่อโยคะแบบเป็นกิจลักษณะเหมือนปัจจุบันยังไม่ค่อยมี ถึงมีก็ราคาแพงมากต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ที่เราพอจะหามาใช้ได้ราคาไม่แพงมากนักตามฐานะของเราๆ ก็คือผ้าห่มหนาๆนำมาพับครึ่ง,ที่นอนปิคนิค หรือเบาะโฟมที่ปูรองนอนในเต๊นท์ ราคาจะตกประมาณผืนละ ร้อยกว่าบาท เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการลงทุนสูงแล้วสำหรับพวกเราทุกคน จริงๆแล้วการฝึกโยคะนั้นแทบจะไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรเลย แต่สิ่งที่พูดมานี้สำคัญมากมันจะช่วยเราป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึก ช่วยลดแรงกดน้ำหนักของร่างกายกับพื้นแข็งๆ อาทิเช่นหัวเข่า หรือกระดูกสันหลังของเราซึ่งจะต้องลงไปสัมผัสพื้นบ่อยมากในการทำท่าโยคะอาสนะ ส่วนใหญ่ผู้ที่ฝึกโยคะกับผมที่นี่อายุจะอยู่ในช่วง 35-50ปี จึงสอนแบบเรื่อยๆ ค่อยเป็น ค่อยไป ทุกคนที่นี่ก็นิสัยดีมากๆด้วย เป็นกันเอง การสอนที่นี่จึงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก และผมก็สอนโยคะอยู่ที่นี่เป็นเวลานานหลายปี

หลังจากนั้นไม่นานนัก ผมก็เริ่มมีงานสอนโยคะนอกสถานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มีงานสอนเกือบทุกวัน ทั้งการทำงานประจำและวิ่งออกมาสอนโยคะนอกสถานที่ จึงทำให้มีเวลาพักผ่อนค่อนข้างน้อยและงานหนัก ในที่สุดผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำหลังจากทำงานประจำได้เพียงแค่ปีกว่าเท่านั้นเอง เพื่อมาทำในสิ่งที่ตนเองรักอย่างเต็มตัว คือสอนโยคะเพียงอย่างเดียว ในเวลานั้นก็ไม่กล้าบอกให้ทางครอบครัวทราบ เพราะกลัวทางบ้านจะเป็นกังวลกับการตัดสินใจของผม ตอนนั้นผมคิดว่าเป็นไปได้สองทางคือ ทางแรกประสบความสำเร็จกับการสอนโยคะ ส่วนอีกทางหนึ่งซึ่งไม่มีใครปรารถนาจะให้เป็นก็คือความล้มเหลว ผมคิดเข้าข้างตัวเองนิดๆว่าอายุเรายังไม่มาก หากล้มเหลวก็แค่กลับไปหางานประจำทำใหม่ จึงตัดสินใจเดินหน้าเต็มตัวสู่การสอนโยคะ วันไหนที่ว่างก็มักจะขอติดตามครูวัฒน์เพื่อไปสังเกตการสอน (จริงๆแล้วว่างทุกวัน นั่งๆนอนๆอยู่ที่ห้องพักเกือบทั้งวัน เพราะสอนวันละรอบเดียวเท่านั้น)

ผมค่อยๆสะสมประสบการ จากการติดตามไปดูครูวัฒน์สอน และจากการสอนของตัวเอง จนมีงานสอนโยคะทุกวันไม่มีวันหยุด จากสอนวันละรอบเพิ่มเป็นวันละสองรอบ ในเวลาปีเดียว ครูวัฒน์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงต่างๆมากมายที่ควรต้องรู้ให้ผม สำหรับการเป็นครูสอนโยคะแบบอิสระ เพราะการทำงานลักษณะนี้การแข่งขันสูงมาก ต้องรู้จักการเอาตัวรอด และการรักษางานสอนให้คงที่หรือเพิ่มขึ้น อย่าให้งานลดลงเพราะจะมีผลกระทบกับรายจ่าย ดังนั้นทำได้ก็ต้องเก็บออมไว้เผื่อวันข้างหน้า คาดเดาอะไรไม่ได้ว่าเราจะมีงานแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ช่วงหลังๆงานสอนผมเริ่มค่อยๆเพิ่มขึ้น จนสอนถึงวันละสาม ถึงสี่รอบ จึงมีเวลาน้อยมากที่จะได้เจอครูวัฒน์และเวลาสอนก็ไม่ค่อยตรงกัน นานๆจึงจะได้เจอครูวัฒน์สักครั้ง ทุกครั้งที่เจอกับครูวัฒน์ก็จะทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงวันแรกของการฝึกโยคะของผมเสมอ หากผมไม่ได้เจอกับครูวัฒน์ในวันนั้นและถ้าผู้จัดการฟิตเนสไม่บังคับให้ผมสอนเต้นแอโรบิค ผมคงอาจจะไม่ได้เป็นครูสอนโยคะมาจนถึงทุกวันนี้

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ


นมัสเต

จิมมี่โยคะ

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โยคะ...หนทางแห่งการดับทุกข์




โยคะ...หนทางแห่งการดับทุกข์ ( ของจิมมี่ )

การเริ่มต้นฝึกโยคะ ครั้งแรกของผม ผมคิดว่าเหตุผลในการมาฝึกโยคะของผมนั้น มันเริ่มต้นได้ไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไหร่นัก ก็ต้องขอท้าวความยาวไปถึงประมาณปี พ.ศ. 2542 ผมเพิ่งจบปริญญาตรีทางด้านพลศึกษา โชคดีที่ได้งานทำทันทีหลังจากที่เรียนจบ ผมทำงานเป็นครูฝึกในฟิตเนส หน้าที่หลักๆของผม คือคอยดูแลการออกกำลังกายให้กับสมาชิก, ดูความเรียบร้อยของห้องออกกำลังกาย, ทำความสะอาดเครื่องออกกำลังกาย และอี่นๆอีกมากมายที่เราจะสามารถทำได้ในฟิตเนส โชคไม่ค่อยดีก็ตรงที่ครูฝึกทุกคนรวมทั้งผมด้วยต้องสอนเต้นแอโรบิก สัปดาห์ละสองคลาส สำหรับคนอื่นคงจะไม่ค่อยรู้สึกหนักหนาอะไร แต่สำหรับมนุษย์ไร้จังหวะอย่างผม โคตรกดดัน เกิดเป็นความทุกขเวทนาขึ้นมาทันที เพราะคนมันไม่ชอบเต้น ไม่มีใจรักในการเต้น เต้นไม่เป็น แต่ก็ต้องกล้ำกลืนฝีนใจทนสอนเต้นด้วยลีลาการเต้นประหลาดๆ แถมเต้นค่อมจังหวะอีกต่างหาก ผลสุดท้ายจึงต้องหาหนทางแห่งการดับทุกข์ เพื่อที่จะหลีกหนีจากการสอนเต้นแอโรบิค

และเมื่อวันหนึ่งมีคลาสโยคะในฟิตเนส ทางฟิตเนสของเราได้เชิญครูโยคะจากข้างนอกมาสอน ผมก็ออกเวรพอดีด้วย จึงทดลองเข้าเรียน แล้วก็พบว่าท่าฝึกโยคะหลายต่อหลายท่าคล้ายกับท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ผมมักทำประจำหลังจากที่ฝึกซ้อมกรีฑาเสร็จทุกครั้ง สมัยที่ผมเป็นนักวิ่งของมหาวิทยาลัย จึงปรับตัวเข้ากับการฝึกโยคะได้อย่างไม่ยากนัก ในที่สุดผมก็พบว่า เจอแล้ว ผมเจอหนทางแห่งการดับทุกข์แล้ว จึงฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์สอนโยคะท่านนั้นทันที อาจารย์ท่านชื่อว่า อาจารย์จุลวัฒน์ จุลสุคลธ์( ครูวัฒน์ ), และผมก็เริ่มฝึกหะฐะโยคะกับครูวัฒน์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

เมื่อผมเรียนโยคะกับครูวัฒน์ได้สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นเล็กน้อย(เนื่องจากมีพื้นฐานการสอนวิชาพลศึกษาอยู่บ้างแล้ว) จนทำให้ผมกล้ามาต่อลอง ขอผู้จัดการฟิตเนส จากการสอนเต้น สองคลาสต่อสัปดาห์ เป็นสอนเต้นแค่คลาสเดียวส่วนอีกคลาสขอเป็นสอนโยคะแทน(เริ่มพยายามทำการดับทุกข์ของตนเอง) ด้วยความหน้าด้านของผมกับสเต็ปการเต้นที่ไม่น่าจะรุ่งได้ ผู้จัดการจึงตกลง หลังจากนั้นผมก็เริ่มสอนโยคะแบบ งูๆปลาๆ โดยคอยปรึกษาเรื่องการสอนกับครูวัฒน์ เป็นระยะๆ จนในที่สุดก็เริ่มสอนโยคะในขั้นพื้นฐานได้คล่องขึ้นเรื่อยๆ

ความทุกข์ของผมก็เริ่มค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไป ทุกครั้งที่จะต้องสอนโยคะผมจะกระตือรือร้นเตรียมตัวที่จะสอน แตกต่างจากการสอนเต้นแอโรบิคอย่างชัดเจน แล้วก็ค่อยๆเริ่มเกิดเป็นความสุขใจทุกครั้งที่ได้สอนโยคะ และก็จะสุขใจเพิ่มขึ้นทุกครั้ง เมื่อได้เห็นคนที่เรียนกับเรายิ้มแย้มแจ่มใส สบายร่างกาย ผ่อนคลายจิตใจ หลังจากที่ได้เรียนโยคะกับเรา

ตอนนี้เท่ากับว่า นอกจากจะหาหนทางดับทุกข์เจอแล้ว ผมยังได้เจอสิ่งที่ผมรู้สึกรัก ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้สอนโยคะ และยังแถมด้วยประโยชน์นานัปการที่ได้รับจากการฝึกโยคะ จึงไม่ยากเลยที่จะตัดสินใจจริงจังกับการสอนโยคะแล้วก็พยายามพัฒนาการสอนให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ


นมัสเต

จิมมี่โยคะ




ป้ายกำกับ

Powered By Blogger