เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

กรรมะโยคะ...วาระเร่งด่วน รวมน้ำใจช่วยเหลือชาวเฮติ.


กรรมะโยคะ...วาระเร่งด่วน รวมน้ำใจช่วยเหลือชาวเฮติ.
 กรรมะโยคะ วาระเร่งด่วนนี้ เนื่องจากภัยพิบัติอันเลวร้าย ที่เกิดจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงมากที่เฮติจึงทำให้ เพื่อนร่วมโลกของเรา ที่เฮติเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หากเป็นไปได้เราก็หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กับประเทศไทยของเราอีก เราทั้งหลายยังคงไม่ลืมเลือนถึงฝันร้าย จากภัยพิบัติสึนามิ และเราทุกคนต่างตระหนักดีว่าความลำบากนั้นเป็นเช่นไร หากมีอะไรที่เราพอจะสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกของเราได้ ก็อย่าได้ลังเลใจ อาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังความสามารถในการช่วยเหลือของเรา ผ่านช่องทางต่างๆ ดังต่อไปนี้

รัฐบาลไทย


บริจาคผ่านบัญชีธนาคาร

ชื่อบัญชี : รวมน้ำใจชาวไทยช่วยผู้ประสบภัยเฮติ

เลขที่ : 067-0-05765-7

ประเภท : ออมทรัพย์

ธนาคาร : กรุงไทย

สาขา : ย่อยทำเนียบรัฐบาล

บริจาคเงินด้วยตนเอง

บริเวณลานน้ำพุ เชิงสะพานมัฆวาน ถนนราชดำเนินนอก

ระหว่างวันที่ 20 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2553

เวลา 08.30-16.30 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

หมายเหตุ

ไม่รับบริจาคส่งของ เนื่องจากการขนส่งลำบากมาก มีค่าใช้จ่ายสูง

หากต้องการใบเสร็จรับเงิน หรือหนังสือขอบคุณ กรุณาเขียนชื่อที่อยู่ในใบ payin

เงินบริจาคนี้ไม่ได้รับการลดหย่อนภาษี

สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์หมายเลข 1111


กระทรวงการต่างประเทศ

เบื้องต้นจะขอรับบริจาคเป็นเงินเท่านั้น โดยเงินที่ได้รับบริจาคจะส่งผ่านสหประชาชาติ

ชื่อบัญชี กระทรวงการต่างประเทศ

ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสามยอด

ประเภทบัญชี กระแสรายวัน

บัญชีเลขที่ 002-6-18233-5

ที่อยู่ 632 ถนนมหาชัย วังบูรพาภิรมย์ กรุงเทพ 10200

Swift code KRTHTHBK

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์รวบรวมเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเฮติ สำนักนโยบายและแผน กระทรวงการต่างประเทศ

โทรศัพท์ 0 2620 6460 2

โทรสาร 0 2620 6463

ระหว่างเวลา 8.30 -16.30 น. ในวันและเวลาราชการ


สภากาชาดไทย

ชื่อบัญชี : สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติ

เลขที่ : 045-3-04368-1

ประเภท : กระแสรายวัน

ธนาคาร : ไทยพาณิชย์

สาขา : สภากาชาดไทย

แฟ็กซ์ใบนำฝาก(ใบโอนเงิน) พร้อมเขียนชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อให้ชัดเจน

เพื่อขอรับใบเสร็จ(สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)ไปที่

คุณ ภารดี วนกุล หัวหน้าฝ่ายการเงิน

สำนักงานการคลัง สภากาชาดไทย

หมายเลข FAX 0-2250-0120
หรือผ่านทาง E-mail : haiti@redcross.or.th This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it พร้อมระบุ ชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อให้ชัดเจนเพื่อขอรับใบเสร็จ



นอกจากนี้ยังสามารถบริจากออนไลน์ได้ที่ http://www.redcross.or.th/donation/moneydonate_internet.php?sc=0013&insertflag=1

หมายเหตุ สภากาชาดไทยยินดีรับบริจาคเป็นเงินเท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่งสิ่งของสูงมาก เงินบริจาคดังกล่าวจะนำไปสนับสนุนปฎิบัติการบรรเทาทุกข์ของสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ในประเทศเฮติขณะนี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Call Center 1664

สำนักงานการคลัง สภากาชาดไทย 0-2256-4068

0-256-4047– 8

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ไปรษณีย์ไทยได้เปิดจุดรับบริจาคเงิน จากประชาชน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศตั้งแต่ 21 ม.ค. เป็นต้นไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center 1545

ฝ่ายจัดระบบไปรษณีย์ โทร. 0 2831 3225

กองทุนช่วยเหลือผู้ประสพภัยเฮติ โดย มจ.ชาตรีเฉลิมยุคล ไทยทีวีสีช่อง ๓ และสรยุทธ สุทัศนจินดา

ชื่อบัญชี : กองทุนคนไทยช่วยผู้ประสบภัยเฮติ

เลขที่ : 468-006737-9

ประเภท : กระแสรายวัน

ธนาคาร : ไทยพาณิชย์

สาขา : คาร์ฟูร์พระราม 4


ครอบครัวข่าว 3 ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ Dtac AIS และ Truemove

โดยพิมพ์ เฮติ ส่งไปที่ 4567890

ค่าบริการ 10 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อทำรายการสำเร็จลูกค้าจะได้รับ SMS ตอบรับทุกครั้ง

ทั้งนี้ สามารถส่ง SMS บริจาคได้ไม่จำกัด ตั้งแต่วันนี้ -19 มีนาคม 2553

ไม่หักค่าใช้จ่าย รายได้ทั้งหมดส่งผ่านสภากาชาดไทย

หมายเหตุ

นอกจากการส่ง SMS แล้ว ลูกค้าของ AIS สามารถใช้วิธี กด *650 # โทรออก ครั้งละ 50 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพื่ม) เพื่อนำรายได้ทั้งหมด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศเฮติ บริจาคได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 19 มีนาคม 2553 ทั้งนี้เมื่อทำรายการสำเร็จแล้ว ลูกค้าจะได้รับข้อความยืนยัน


มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เชิญร่วมบริจาคช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบภัย แผ่นดินไหว ประเทศเฮติ ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.worldvision.or.th/make_donation.html

ดาวน์โหลดแบบตอบรับการบริจาค และส่งกลับทางโทรสารหมายเลข 0-2711-4100 ถึง 2


มูลนิธิพุทธฉือจี้

เงินสด : บริจาคได้ที่สำนักงานมูลนิธิฉือจี้ ในเวลาทำการ วันจันทร์ - วันอาทิตย์ 08.30 – 17.30 น. ทั้ง 3 สาขาและ 1 สำนักงานย่อย หรืออาสาสมัครของมูลนิธิฉือจี้

เช็ค : กรุณาสั่งจ่ายเช็คในนาม มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ในประเทศไทย หรือ Taiwan Buddhist Compassion Relief Tzu Chi Foundation In Thailand ทั้งนี้ กรุณาขีดคร่อมเช็คเพื่อเป็นการนำเข้าบัญชีของมูลนิธิเท่านั้น

โอนเงิน : ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนพระราม 9 ชื่อบัญชีมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ในประเทศไทย บัญชีประเภท : ออมทรัพย์ หมายเลขบัญชี : 215-0-74133-4

เนื่องจากมูลนิธิฉือจี้ ได้แยกประเภทในการให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน กรณีที่ท่านบริจาคด้วยกำลังทรัพย์ ขอความกรุณาผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ระบุประเภทในการบริจาคเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเฮติ และเรียกรับใบเสร็จรับเงินที่ท่านบริจาคทันทีจากเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัคร

บริจาคเป็นเงิน(บัตรเครดิต) ผ่านเวบองค์กรสากล

โครงการ World Food Programme ของ UN

https://www.wfp.org/donate/haiti

Google

www.google.com/haitiearthquake

SOS Children's Villages International - หมู่บ้านเด็กโสสะนานาชาติ

http://www.sos-childrensvillages.org

โครงการ World Food Programme ของ UN

https://www.wfp.org/donate/haiti

UNICEF - องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(สหจัญอเมริกา)

- เวปองค์กร: http://www.unicef.org

- ลิงค์บริจาค: https://secure.unicefusa.org/site/Donation2?df_id=6680&6680.donation=form1

องค์การยูนิเซฟในประเทศไทย

- ดาวน์โหลดแบบฟอร์มการบริจาคเงินช่วยเหลือได้ที่ http://www.unicef.org/thailand/tha/Donation_Form_for_Haiti_2010_Thai.pdf

- หรือ บริจาคออนไลน์ผ่านยูนิเซฟ สำนักงานใหญ่ ผ่านทางเว็บไซต์: http://www.supportunicef.org/site/pp.asp?c=9fLEJSOALpE&b=1023561

- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2356-9299 โทรสาร 0-2356-9229,0-2281-6033 หรือ email: psfrbangkok@unicef.org This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

องค์การ Save the Children

- เวปองค์กร: http://www.savethechildren.org

- ลิงค์บริจาค: https://secure.savethechildren.org/01/web_e_haiti_earthquake_10?source=hp_fb_haitidonate&WT.ac=hp_fb_haitidonate&dcsref=http://www.savethechildren.org/

International Committee of Red Cross - องค์การกาชาดสากล

- เวปองค์กร: http://www.icrc.org

- ลิงค์บริจาค: http://www.icrc.org/web/eng/siteeng0.nsf/html/helpicrc

Medecins Sans Frontieres - องค์การหมอไร้พรมแดน

- เวปองค์กร: http://www.doctorswithoutborders.org/


ผู้ที่อยู่ต่างประเทศ

สามารถตรวจสอบช่องทางการบริจาค ที่ท่านสะดวกได้ที่ http://www.cnn.com/SPECIALS/2007/impact

ขอสันติสุข จงอยู่กับโลกเราตลอดไป 
โอม สานติ สานติ สานติฮี...

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

ภาษาอังกฤษ...กับการสอนโยคะ(ปัญหาระดับชาติของผม)


ภาษาอังกฤษ...กับการสอนโยคะ(ปัญหาระดับชาติของผม)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมก็เคยเป็นเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษมาก ขยันทำการบ้านและท่องศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นนิจ แต่พอเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆก็พบว่าแค่นั้นมันไม่เพียงพอหรอก และเมื่อเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็พบกับปัญหาใหญ่ของภาษาอังกฤษในชีวิตของผม คือผมฟังชาวต่างชาติพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ และไม่สามารถพูดโต้ตอบกับชาวต่างชาติได้เลย จึงทำให้ผมมีคะแนนวิชาภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างแย่(เป็นเครื่องยืนยันได้ทันทีว่า การเรียนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนมัธยมต่างจังหวัดของผม ยังมีความบกพร่องในเรื่องการพูดและการฟัง)

จากเหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น จึงส่งผลกระทบมาจนถึงชีวิตการทำงานของผมด้วยครับ หลายๆครั้งจึงทำให้ผมต้องพยายามหลีกเลี่ยงจากการพูดคุยภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ แต่มันก็เหมือนเป็นเวรกรรมคอยติดตามตัวตลอด ยิ่งหนีก็ยิ่งเจอ สมัยที่ผมเริ่มทำงานครั้งแรก ก็เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฟิตเนส มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ในฟิตเนสที่ผมทำงานตอนนั้นมีสมาชิกเป็นชาวต่างชาติถึงประมาณ 20% ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารบ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง จึงทำให้ทักษะในการพูดและการฟังภาษาอังกฤษของผม กระเตื้องขึ้นจากเดิมเล็กน้อย

เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นจุดพลิกผลันครั้งสำคัญสำหรับภาษาอังกฤษในชีวิตของผม ก็เกิดขึ้นจากการสอนโยคะอีกนั่นแหล่ะครับ ตอนนั้นหลังจากที่ผมเริ่มสอนโยคะได้สักระยะหนึ่งแล้ว(ผมก็อาศัยช่วงเย็นในวันที่ผมเลิกงานเร็ว วิ่งออกมาสอนแบบพาร์ทไทม์) มีฟิตเนสใหญ่แห่งหนึ่งติดต่อให้ผมเข้าไปสอนโยคะแบบพาร์ทไทม์ ด้วยความดีใจ ค่าสอนไม่ได้สนใจเท่าไหร่นัก(แต่ก็ราคามาตรฐาน) ผมก็รีบตกลงรับงานทันที โดยหารู้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตการสอนโยคะของตนเองในขณะนั้น ไปสอนแรกๆผมก็มีความสุขและสนุกกับการสอนมากๆ พอเข้าสู่สัปดาห์ที่สองของการสอนความทุกข์ก็เริ่มมาเยือนครับ ดันมีสมาชิกชาวต่างชาติเข้ามาเรียนในคลาสผมสองคน ผมไม่เคยสอนโยคะเป็นภาษาอังกฤษครับ(ปกติในตอนนั้นแค่สอนเป็นภาษาไทยก็เกือบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว) เนื่องจากเขาไม่เข้าใจภาษาไทยเลย คลาสของผมยังไม่ทันจบชาวต่างชาติสองคนนั้นก็เดินไปบอกผู้จัดการฟิตเนสทันทีว่าผมไม่สอนโยคะเป็นภาษาอังกฤษ เขาฟังไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ เท่านั้นหล่ะครับ งานเข้าเลยครับ! พอผมสอนเสร็จ ไม่กี่นาทีผู้จัดการฟิตเนสก็ส่งคนมาเชิญผมเข้าไปพบทันที ผมจำได้ว่าผู้จัดการฟิตเนสเป็นผู้หญิงสัญชาติสก็อตแลนด์ เขาก็พูดภาษาอังกฤษใส่ผมเป็นชุด แต่ผมไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดสักเท่าไหร่นักเขาจึงเรียกลูกน้องของเขาคนหนึ่งมาช่วยเป็นล่ามแปลให้ฟัง ได้ใจความสำคัญว่า "ต่อไปหากมีชาวต่างชาติเข้าเรียน ก็ให้สอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย หากสอนเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ อาจจะต้องพิจารณาหาคนอื่นที่พูดภาษาอังกฤษได้มาสอนแทน" เท่านั้นหล่ะครับ ถึงกับเครียดมากถึงมากที่สุด เหมือนโดนขุดคุ้ยปมด้อยยังไงยังงั้นเลย จนทำให้ผมต้องคิดอย่างหนักว่าจะกลับไปสอนที่นี่ต่อหรือจะขอยกเลิกคืนรอบสอนให้เขาไปเลยดีกว่า...แต่ก็ยังลังเลใจ ว่างานและโอกาสดีๆแบบนี้ไม่ได้หากันง่ายๆ

ก็ต้องกลับเข้าสู่ การหาหนทางแห่งการดับทุกข์ของผมอีกครั้ง ผมจึงพยายามหาที่ปรึกษา ก็พี่ๆที่ทำงานด้วยกันที่ฟิตเนสหล่ะครับ อีกส่วนหนึ่งก็คือพี่ๆสมาชิกของฟิตเนสที่ผมทำงานอยู่(ส่วนใหญ่แนวคิดดีๆจะได้จาก พี่สมาชิกฟิตเนส เพราะสมาชิกหลายๆท่านมีพื้นฐาน ทางด้านภาษาอังกฤษค่อนข้างดี) ในที่สุดก็ได้พี่คนหนึ่ง ที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำให้ผมกลับมาพยายามตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษอีกครั้ง คือพี่ซิง พี่ซิงเป็นนักธุรกิจ(แต่ผมไม่เคยถามพี่เขาเลย ว่าธุรกิจอะไร?) รู้แต่ว่าพี่เขาเป็นนักเรียนนอก และใจดีมากๆ บางครั้งเขาก็จะพาครอบครัวมาออกกำลังกายด้วย จึงทำให้ผมทราบว่าลูกชายของพี่ซิงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมแต่ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ(อเมริกา) และก็มีลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย(ในตอนนั้น ก็น่าจะประมาณปี พ.ศ.2543)  ผมจึงนำความหนักใจเรื่องของภาษาอังกฤษมาปรึกษาพี่ซิง แล้วก็ไม่ผิดหวังครับ พี่ซิงมักเดินทางไปต่างประเทศบ่อยมากๆ เขาเลยซื้อหนังสือโยคะภาษาอังกฤษมาฝากผม(พูดตรงๆ เงินเดือนของผม ณ. ขณะนั้นไม่มีปัญญาซื้อหนังสือโยคะภาษาอังกฤษราคาขนาดนั้นได้แน่ๆ) พี่ซิงบอกต่อว่า พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าศัพท์เทคนิคต่างๆที่ใช้ในการสอนโยคะมีคำอะไรบ้าง ถ้ายังไงก็ลองไปดูก่อนแล้วจะได้มาฝึกวิธีการออกเสียง ผมพอที่จะจำแนก เทคนิคของพี่ซิงที่แนะนำผมได้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  คือการเลือกดูศัพท์ที่เราคิดว่า เราต้องใช้ในการสอน จากหนังสือโยคะภาษาอังกฤษ แล้วก็เขียนมาเป็น สคริ๊ปบทพูดที่ใช้ในการสอนสำหรับ คลาส 1ชั่วโมง

ขั้นตอนที่ 2 คือการนำสคริ๊ปบทพูดการสอนโยคะที่ผมคัดลอกและเรียบเรียงจากหนังสือโยคะภาษาอังกฤษ มาให้พี่ซิงช่วยปรับปรุงให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ การพูดภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้ฟังดูลื่นหูมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 3 พี่ซิงก็จะสอนผม ฝึกการออกเสียงคำต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้นเพื่อชาวต่างชาติจะได้ฟัง(สำเนียงต่างด้าวของผม)เข้าใจง่ายขึ้น อันนี้สำคัญ เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพูดคุยและฝึกการออกเสียงกับพี่ซิงพักใหญ่ จนรู้สึกเกรงใจพี่เขามากๆ แต่ก็ได้เทคนิค ที่สำคัญมากๆมา ก็คือการที่เราจะต้องออกเสียงตัวสะกดที่ลงท้ายคำศัพท์แต่ละคำให้ชัดเจนที่สุด ตัวอย่าง เช่น First ก็ควรออกเสียง เฟิร์ส.สื่อ.ทื่อ อะไรทำนองนี้(ถึงแม้นว่ามันจะฟังดูเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ไม่เคยมีใครสอนเทคนิคแบบนี้ให้ผมมาก่อน)

ขั้นตอนที่ 4 ก็คือการบ้านของผมที่ต้องกลับไปท่องสคริ๊ปคำพูดให้แม่นยำ และหัดพูดออกเสียงบ่อยๆ จะได้เคยชินไม่เขินอาย แล้วพี่ซิงก็แนะนำว่า ถ้าวันไหนเจอชาวต่างชาติที่พูดภาษาไทยเก่งๆ ก็ลองขอคำชี้แนะจากเจ้าของภาษาโดยตรงอาจจะได้อะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้ แล้วพี่ซิงก็ออกตัวว่า...ถึงแม้นว่าพี่ซิงจะเป็นนักเรียนนอกหรือไปต่างประเทศบ่อยครั้ง แต่ก็คงสู้เจ้าของภาษาตัวจริงไม่ได้แน่นอน ดังนั้นควรหาเพื่อนต่างชาติที่พูดภาษาไทยเก่งๆไว้บ้างก็ดี

ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น จากการแนะนำและช่วยเหลือของพี่ซิงทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย เริ่มมีความมั่นใจขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ เริ่มพูดสอนเป็นภาษาอังกฤษพอได้ แต่ถ้าชาวต่างชาติสงสัยเดินเข้ามาถามอะไรหลังเลิกคลาส ผมก็ยังฟังเขาเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างอยู่ดี(พูดประโยคยาวๆมาก็จะเข้าใจแค่ประมาณ 50%) ผมจึงตัดสินใจไปเรียนภาษาอังกฤษ ที่สถาบัน เอ.ยู.เอ. ราชประสงค์ เพราะคิดว่าราคาไม่แพง และดูหลักสูตร มันเป็นขั้นเป็นตอนดี มีตั้งแต่ระดับพื้นฐานมากๆ ไปจนถึงขั้นสูง ไอ้ส่วนที่เป็นหลักสูตรแบบพื้นฐานมากๆดูจะเหมาะกับคนสติปัญญาประมาณผมดี(โง่ดักดาน) จึงไปลงทะเบียนและสอบวัดระดับ ผมจำได้ว่าตอนที่ผมไปเรียน เขามี 15ระดับ ผมสอบวัดระดับได้คะแนนที่ควรจะเริ่มต้นเรียนในระดับที่3 ก็ถือว่าแย่ แต่ก็คงดูดีกว่า สตาร์ทที่ระดับแรก ผมพยายามไปเรียนอย่างต่อเนื่องและก็ไม่เคยสอบตกจนไปถึงระดับที่ 10 เนื่องจากภาระการสอนที่มีเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ผมต้องหยุดเรียนที่ระดับนี้

การได้ฟังชาวต่างชาติพูดบ่อยๆ อย่างเช่นการที่ผมเรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่เอ.ยู.เอ.ก็ช่วยทำให้ทักษะในการฟังเริ่มดีขึ้น ครูชาวต่างชาติคนหนึ่ง(ผมจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร) หลังจบคลาสผมเคยนำปัญหาของผมเกี่ยวกับความลำบากในการสอนโยคะด้วยภาษาอังกฤษ ไปปรึกษาเขา เขาจึงแนะนำผมเป็นภาษาไทยว่า "ปัญหาของคุณก็คือ เขินอาย ไม่กล้าพูดกลัวว่าจะพูดผิด แต่จริงๆแล้วคุณไม่ต้องกลัวอะไรเลย ดูอย่างผม ผมพูดภาษาไทยกับคุณผมก็พูดผิดๆถูกๆแต่คุณก็ไม่เคยว่าผมเลยแถมยังช่วยบอกอีกว่าจะต้องพูดยังไงให้ถูกต้อง มันเป็นเรื่องปกติ มันไม่ใช่ภาษาหลักที่คุณใช้ ดังนั้นจำไว้ว่า อยากจะพัฒนา ต้องพูดบ่อยๆโดยไม่ต้องกลัวว่าจะพูดผิด" จากนั้นมาผมก็เริ่มมั่นใจมากขึ้นและกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น จากที่เคยพูดเสียงเบาๆด้วยความกลัวว่าจะพูดผิด ก็เริ่มพูดเสียงดังขึ้น(เริ่มหน้าด้านมากขึ้น)

จนในที่สุดก็ทำให้ผมมั่นใจ จนกล้าที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพียงลำพังคนเดียว(ก็การไปเรียนโยคะที่ประเทศมาเลเซียประมาณ 20วันเพียงคนเดียว)

 แม้ทุกวันนี้ผมจะไม่มีเวลาไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเลย แต่ก็ไม่มีวันไหนเลยที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ผมต้องสอนโยคะบางคลาสที่มีชาวต่างชาติเข้าเรียนเป็นภาษาอังกฤษ และก็ต้องสื่อสารกับคุณซูซาน(เจ้าของสถาบันฟิต)ต้นสังกัดของผม เป็นภาษาอังกฤษทุกวัน บางวันคุยน้อย บางวันคุยนานหน่อยแล้วแต่วาระการคุย  ภาษาอังกฤษของผมถือว่ามีการพัฒนาขึ้นมาพอควรแต่ ผมก็ยังแอบหวังไว้เสมอว่าหากมีโอกาสผมจะหาเวลาไปเรียนภาษาอังกฤษให้มันพัฒนาขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผมจะสามารถทำได้

ก็ต้องขอขอบคุณพี่ซิงมากๆครับ สำหรับแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมยังมีความหวังในการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น และขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่สอนภาษาอังกฤษให้ผม รวมจนถึงขอขอบคุณชาวต่างชาติทุกท่านที่อดทนสนทนาภาษาอังกฤษกับผม และที่สำคัญที่สุดต้องขอขอบพระคุณชาวต่างชาติทุกท่านที่อดทนเข้าเรียนโยคะกับผม

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความหวังในการพัฒนาภาษาอังกฤษของผม จะยังคงอยู่กับผมตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

จรรยาบรรณ...สำหรับครูสอนโยคะ


H.H. Sri Swami Guhabhaktanandaji Maharaj, Jimmy and Master Paalu Ramasamy in Sivanada Ashram Divine Life Society, Buta Caves, Malaysia.


จรรยาบรรณ...สำหรับครูสอนโยคะ...

เป็นระยะเวลาเกือบ 10ปีแล้ว ที่ผมสอนโยคะอยู่ในวงการ เท่าที่ผมจำได้ในตอนนั้นยังมีครูสอนโยคะเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สอนโยคะตามสถานที่ต่างๆแบบอิสระ ผมก็จัดเป็นครูสอนโยคะที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในตอนนั้นก็ว่าได้ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีประชากรของผู้สอนโยคะก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้นับไม่ถ้วน(น่าจะมีการจัดระเบียบครูสอนโยคะบ้างได้แล้วครับ) คิดว่าน่าจะมีองค์กรใดก็ได้มาช่วยจัดระเบียบครูสอนโยคะ กำหนดมาตรฐานใบประกอบวิชาชีพแบบให้เป็นเรื่องเป็นราวสักที ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่เพื่อใครอื่น...ก็เพื่อผู้บริโภคทุกๆคนจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะเราไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่าครูคนไหนได้ผ่านการฝึกมาอย่างถูกต้องตามแบบแผน หรือครูคนไหนเป็นแบบประเภทครูพักรักจำเอามาสอน หลายขั้นตอนที่ต้องผ่านการเรียนการฝึกมาตามแบบแผนจึงจะสามารถผ่านออกมาเป็นครูผู้สอนโยคะได้ และหัวข้อที่สำคัญมากๆสำหรับคนที่จะมาเป็นครูผู้สอนโยคะ ควรจะต้องผ่านการอบรมก็คือเรื่องของ จรรยาบรรณสำหรับครูสอนโยคะครับ เป็นสิ่งที่ครูสอนโยคะที่ดีพึงจะต้องระลึกอยู่เสมอถึงสิ่งๆนี้ เป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้เราเหลวไหลออกนอกลู่นอกทาง

ผมก็เป็นครูโยคะธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้เก่งอะไร และก็พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโยคะอยู่เสมอๆถ้ามีโอกาส  ในสมัยที่ผมได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมเป็นอย่างดีตลอดมา คือ...มีอยู่วันหนึ่งมาสเตอร์ปาลู รามาซามี่(มาสเตอร์ที่สอนผม ที่มาเลเซีย) ก็ถามผมขึ้นมาว่า "จิมมี่!คุณอยากเป็นครูสอนโยคะที่เก่งหรือครูสอนโยคะที่ดี?" ผมตอบทันทีว่า "อยากเป็นครูสอนโยคะที่ดี แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากเป็นทั้งครูที่เก่งและดี" มาสเตอร์ปาลู รวมทั้งเพื่อนๆทุกคนในคลาสเรียน ต่างหัวเราะ ยิ้มๆ แล้วมาสเตอร์ปาลูก็พูดต่อว่า ถ้าอย่างนั้นอย่าลืมปฏิบัติตนตามหลักของยมะ, นิยมะ ในมรรค8 แห่งโยคะ(ผมได้เคยกล่าวอ้างไว้อย่างละเอียดในบทความเรื่อง หัวใจแห่งโยคะ) และจงจดจำจรรยาบรรณสำหรับครูสอนโยคะไว้ให้ขึ้นใจ สิ่งนี้จะเป็นเหมือนดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะคอยปกป้องคุ้มครองพวกคุณตลอดไป ตราบเท่าที่คุณยังคงประพฤติปฏิบัติตนตามศีลธรรมจรรยาบรรณอันดีงามสำหรับครูสอนโยคะ และเหมือนกับว่าคำพูดดังกล่าวนี้ ยังคงดังก้องอยู่ในหัวของผมเสมอๆ

ผมพยายามแปลจรรยาบรรณสำหรับครูสอนโยคะเป็นภาษาไทยได้ใจความดังต่อไปนี้

จรรยาบรรณสำหรับครูฝึกโยคะ คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องหยิบยกคำว่า ยมะ, นิยมะ ในมรรค 8 แห่งโยคะซึ่งหมายถึง ระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งผู้ที่เลือกประพฤติและปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งโยคะพึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งก็คล้ายคลึงกันกับหลักคำสอนของ ท่าน ปตัญชลี ในโยคะสูตร ยมะได้กล่าวถึงคุณธรรม 5 ประการ สำหรับแนวทางแห่งโยคะ คือ การไม่เบียดเบียนชีวิต( อหิงสา ), การไม่พูดปลด พูดแต่ความจริง( สัตยะ ), ไม่ลักขโมยทรัพย์( อัสเตยะ), ไม่ประพฤติผิดในกาม ( พรหมจริยา), และไม่ฉวยโอกาส ไม่ละโมบ โลภมาก ( อปริคระหะ) ซึ่งคล้ายคลึงกับศีล 5 ตามแนวทางของพุทธศาสนา นิยมะ ได้กล่าวถึงทัศนคติที่เราควรนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราเอง 5ประการ คือ ความสะอาด บริสุทธิ์(เศาจะ), ความพอประมาณและรู้สึกพึงพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่(สันโดษ), การทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพดีเสมอ(ตบะ), ศึกษาตัวตนของคุณเอง(สวาธยายะ), การวางการกระทำทุกอย่างของคุณไว้แทบเท้าของพระเจ้า( อิศวรประณิธาน)

หลักคำสอนและแนวทางต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็ยังคงใช้สอนสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นเครื่องเตือนใจให้เราทุกคนตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมอันดีงาม ที่นับวันจะค่อยๆเสื่อมหายไปจากสังคม

จรรยาบรรณสำหรับครูฝึกโยคะในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างไปจากแนวทางเดิมมากนัก เพียงแต่ถูกปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง

ครูฝึกโยคะ พึงปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับ จรรยาบรรณสำหรับครูฝึกโยคะดังต่อไปนี้

1. ครูฝึกโยคะ ต้องเข้าใจในหลักและวิธีการสอนโยคะอย่างแท้จริง รู้จักหน้าที่ของตนเอง คือการสอนโยคะด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใด จากการสอนโยคะ มุ่งหวังให้ผู้อื่นมีสุขภาพที่ดี และได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเรียนโยคะ

2. ครูฝึกโยคะ พึงดูแลรักษาความสะอาดทั้งร่างกาย และจิตใจ มีการแต่งกายที่สะอาดเหมาะสมกับการสอนโยคะ มีบุคคลิกที่ดูน่าเชื่อถือเหมาะสมกับการเป็นผู้นำทางด้านความรู้และสุขภาพ

3. ครูฝึกโยคะ พึงส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการฝึกโยคะในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถนำแนวทางในการฝึกโยคะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติ

4. ครูฝึกโยคะ พึงรักษาระดับมาตรฐานการสอนของตนเอง และพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยการหมั่นศึกษาหาความรู้ทางด้านโยคะเพิ่มเติมเสมอๆ

5. ครูฝึกโยคะ ควรอุทิศตนเพื่อการศึกษาและการพัฒนาความรู้ทางด้านโยคะ ในแขนงที่ตนเองสอนอยู่เสมอๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการสอน และการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่น

6. ครูฝึกโยคะไม่ควรข้องเกี่ยวกับสิ่งเสพติดและอบายมุขทุกประเภท หากยังข้องเกี่ยวกับสารเสพติดหรืออบายมุขต่างๆอยู่ ควรเลิกให้ได้เสียก่อนจึงค่อยเริ่มมาสอนโยคะ

7. ครูฝึกโยคะ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน จริงใจ เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของนักเรียน ไม่นำข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนไปเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้จนเป็นที่เสื่อมเสียและอับอาย

8. ครูฝึกโยคะ ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนโยคะมีพัฒนาการที่ดี ทั้งทางด้านร่างกาย, จิตใจ, อารมณ์, สังคม, ความคิดและทัศนคติในเชิงบวก

9. ครูฝึกโยคะ พึงหลีกเลี่ยงการแนะนำการใช้ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆให้กับนักเรียนผู้ฝึกโยคะ ในกรณีที่นักเรียนมีปัญหาทางด้านสุขภาพควรแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรง

10. ครูฝึกโยคะ พึงสอนโยคะอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ, ศาสนา, ภาษา, เพศ, อายุ, สีผิว, สถานภาพทางสังคมและการเงิน รวมจนถึงความบกพร่องทางร่างกายบางอย่าง

11. ครูฝึกโยคะ พึงยอมรับที่จะสอน นักเรียนที่มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย โดยการประยุกต์หาเทคนิคและแนวทางในการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนกลุ่มดังกล่าว

12. ครูฝึกโยคะ พึงสอนโยคะด้วยการดูแลเอาใจใส่ผู้เรียน ไม่ปล่อยประละเลย แนะนำแนวทางในการป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึกโยคะ คำนึงถึงความปลอดภัยในการฝึกเป็นสำคัญ ใส่ใจในทุกรายละเอียด มุ่งหวังผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฝึกโยคะ

13. ครูฝึกโยคะ ควรมีใจเป็นกลาง เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และไม่นำความคิดเห็นที่แตกต่างกันของผู้เรียน มาสร้างความแตกแยกแบ่งพรรค, แบ่งพวก พยายามอย่านำความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาเป็นประเด็นพูดในขณะที่กำลังเรียนหรืออยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ เพราะอาจนำมาซึ่งความแตกแยกและอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นควรแนะนำให้นักเรียนทุกคนพึงระลึกเสมอว่า ถึงแม้ความคิดเห็นบางอย่างจะแตกต่างกันแต่ทุกคนก็มีจุดมุ่งหมายและแนวทางในการฝึกโยคะที่คล้ายคลึงกัน

14. ครูฝึกโยคะ ต้องไม่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้เรียน เกินเลยจากความเป็นศิษย์และครูผู้ถ่ายทอดศาสตร์แห่งโยคะ

15. ครูฝึกโยคะ พึงหลีกเลี่ยงการแสวงหาผลประโยชน์จากนักเรียน ซึ่งให้การยอมรับนับถือในการสอนของครูฝึกโยคะ

16. ครูฝึกโยคะ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจทางด้านโยคะอย่างแท้จริง เพื่อจะได้อธิบายไขข้อสงสัยต่างๆของนักเรียน ได้อย่างถูกต้อง, แจ่มแจ้งชัดเจน, หรือหากยังไม่สามารถตอบคำถามของนักเรียนได้ในขณะนั้น ควรขอเวลานักเรียนเพื่อไปค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนมาอธิบาย และกลับมาตอบปัญหาข้อสงสัยนั้นๆโดยเร็วที่สุด เพราะการตอบปัญหาของครูฝึกโยคะทุกครั้ง ทั้งในเวลาที่สอนและนอกเวลาที่สอน มักจะมีผู้อื่นให้ความสนใจและจดจำคำอธิบายของเราพูดต่อกันไปเป็นทอดๆ หากข้อมูลที่เราอธิบายผิดก็จะมีผลกระทบกลับมาถึงเราทันที และจะลดความน่าเชื่อถือของเราลงไปทันที

17. ครูฝึกโยคะ ต้องมีความพากเพียร, พยายาม, อดทนอดกลั้นกับสิ่งยั่วยุต่างๆ รวมทั้งการนินทาว่าร้ายจากนักเรียนที่ไม่พึงพอใจในการสอนและเพื่อนร่วมวิชาชีพครูฝึกโยคะ รวมจนถึงความกดดันจากโรงเรียนที่สอนโยคะและนายจ้าง จงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้น ด้วยสติปัญญาและความถูกต้อง ตามแนวทางแห่งโยคะที่ท่านได้ศึกษามา

จรรยาบรรณ สำหรับครูฝึกโยคะข้างต้นดังที่ได้กล่าวมานี้ พึงนำมาประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎหมายบ้านเมืองของแต่ละท้องถิ่น, แต่ละประเทศ เป็นสำคัญ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศีลธรรมจรรยาบรรณอันดีงาม จะอยู่กับครูผู้สอนโยคะและผู้ฝึกโยคะทุกคนตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger