เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไร...แต่ในที่สุดก็ต้องคิดจนได้


ทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไร...แต่ในที่สุดก็ต้องคิดจนได้

หลังจากที่นิตยสารโยคะเจอร์น่อล ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม ออกวางจำหน่าย นักเรียนของผมหลายต่อหลายคน รวมจนถึงผู้ที่เป็นแฟนบล็อกของผม ต่างก็ถามว่า "ครูจิมมี่ ที่ลงในหน้า Community เป็นบทความที่เขานำไปจากบล็อกของครูจิมมี่ใช่ไหมเอ่ย?" ผมตอบอย่างภาคภูมิใจว่า "ใช่ครับ คือคอลัมนิส ที่เขียนหัวข้อนี้เขาโทร สายตรงมาหาผมและขอนำเรื่องนี้ไปลงครับ" และแล้วนักเรียนของผมผู้นั้นก็ถามต่ออีกว่า "แล้ว ทำไมไม่เห็นมีรูปครูล่ะ? มีแต่รูปมาสเตอร์ไซม่อน" อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไรเช่นกัน (เนื่องจากตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้เห็น บทความในคอลัมน์) ต่อจากนั้นนักเรียนของผมก็วิภาควิจารณ์ไปต่างๆนานาต่อทันที ทำไม?...... ฯลฯ.......

เมื่อผมได้เห็นบทความ ผมก็เลยพอจะเข้าใจว่าทำไมนักเรียนผู้นั้นของผม ถึงได้ถามผมแบบนั้น...เพราะหากคนที่ไม่รู้จักผมหรือมาสเตอร์ไซม่อน ก็ต้องเข้าใจว่า รูปฝรั่งที่ปรากฏอยู่ในบทความนั้นน่าจะต้องเป็นครูจิมมี่แน่ๆ...

จากนั้นวันต่อมา นักเรียนของผมอีกกลุ่มหนึ่งก็มาถามอีก ด้วยความภูมิใจ ในครูผู้สอนคนนี้ที่พวกเขามีให้ ว่ามีผลงานได้ลงในนิตยสารโยคะหนึ่งเดียวของเมืองไทย แต่ไอ้คำถามที่สอง เหมือนเดิมเป๊ะเลยครับ "ทำไมไม่มีรูปครูลงบ้างล่ะ?" และก็ อีกหลายต่อหลายวันที่ผมต้องคอยตอบคำถามเช่นเดิมแบบเดียวกันนี้กับนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ในสถานที่แตกต่างกันไป  จากที่ผมไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่า เขาช่วยโปรโมท บล็อกของเรา โดยการนำเรื่องของเราไปลงก็ดีแล้ว   ในที่สุดก็ทำให้ผมต้องคิด มีบางข้อเสนอแนะที่นักเรียนบางคนพูดมา ทำให้ผมต้องคิดคือว่า "ฉบับอื่นๆที่เขาเคยลง เมื่อเขานำบล็อกหรือเว็บของใครมาลงในคอลัมน์ เขาก็ต้องให้เครดิต ให้เกียรติโดยการนำรูปเจ้าของบล็อก, เจ้าของเว็บมาลงทั้งนั้นแหล่ะ ก็เห็นมีแต่ของครูนี่แหล่ะ"

ผมก็เลยมาถามตัวเองว่า เป็นเพราะอะไร? ทำไมเอ่ย? เขาจึงไม่นำรูปเราไปลง   ทั้งๆ ในความป็นจริงรูปที่เขานำไปลงนั้นเป็นรูปที่ผมส่งให้เขาเอง เป็นรูปที่ผมถ่ายคู่กับมาสเตอร์ไซม่อน บรอก โอริเวียร์(เพราะเขาเป็นคน บอกให้ผมส่งรูปที่ผมถ่ายคู่กับมาสเตอร์ไซม่อน) ด้วยซ้ำ แต่เขาก็ตัดให้เหลือเพียงหน้าของมาสเตอร์ไซม่อนคนเดียว

ผมก็เลยตั้งสมมติฐานขึ้นมาเล่นๆ ว่า...

1. หน้าตา...ผมดีไม่พอ (ก็เป็นไปได้)
2. หน้ากระดาษ นั้นมันมีพื้นที่จำกัดไม่พอให้รูปของผมแทรกลงไป(หน้าผมอาจจะใหญ่เกินไป)
3. เขาไม่ได้สนใจเรื่องของผม เขาสนใจแต่เรื่องของมาสเตอร์ไซม่อนเพียงคนเดียว
4. คอลัมนิสต์ ส่งรูปเต็มๆไป แต่ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เป็นคนจัดการเรื่องรูปนั้น และการจัดหน้า

จากตรงนี้ ด้วยความสงสัย ผมจึงส่งเมล์ไปถาม คอลัมนิสต์ ก็จึงได้คำตอบ ดังต่อไปนี้ ครับ

ครูจิมมี่


ขอโทษจริงๆค่ะ


การเป็นนักเขียนอิสระนั้น ทำให้ไม่สามารถกำหนดกฏเกณฑ์อะไรได้ทั้งหมด รวมถึงเรื่องการใช้รูปภาพประกอบด้วย ทั้งหมดนั้นขึ้นกันการตัดสินใจจากกองบรรณาธิการทั้งสิ้น


จุดหมายที่แจ้งไปในตอนที่โทรคุยกับครูจิมมี่ครั้งแรกนั้นชัดเจนมาก คือให้ครูจิมมี่เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของไซม่อน และรูปก็ควรจะเป็นรูปคู่ที่ทางครูจิมมี่ได้เป็นผู้ส่งไปให้ ซึ่งก็น่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว เมื่อกองบรรณาธิการมีการตัดรูปออกไปนั้น ก็ไม่ได้มีการแจ้งให้แก่ทางนักเขียนทราบเช่นกัน กว่าจะทราบก็เมื่อหนังสือออกมาแล้ว คือพร้อมๆกับผู้อ่านทุกคนนั่นแหละ

และเหตุการณ์เช่นนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับนักเขียนอิสระอย่างเรา เคยแม้แต่ไม่ลงรูปประกอบให้เลยก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะนักเขียนเขียนเรื่องยาวเกิดไปก็เป็นได้ ขออภัยอย่างยิ่งเลยค่ะที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

วิภาศัย

จากตรงนี้ ผมก็เลยเข้าใจชัดเจน ก็ต้องขอขอบคุณ คุณวิภาศัยมากๆครับ

จึงเรียนมาให้แฟนๆบล็อกที่รักทุกท่านทราบโดยทั่วกัน

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

อาจารย์กวี แนะนำเรื่องปตัญชลีโยคะสูตร ที่สถาบันฟิต

อาจารย์กวี แนะนำเรื่องปตัญชลีโยคะสูตร ที่สถาบันฟิต

เนื่องจาก การสอนหลักสูตรครูฝึกโยคะ ที่ผมรับผิดชอบที่สถาบันฟิต ช่วงหลังมานี้มีผู้ให้ความสนใจเยอะมาก และก็มีบางหัวข้อ ที่ผมมีความรู้อยู่บ้างเพียงนิดหน่อยจึงคิดว่า น่าจะเชิญผู้รู้ตัวจริงของวงการโยคะในบ้านเรามา ช่วยบรรยายให้นักเรียนในคอร์สฟัง เพื่อจะได้เกิดประโยชน์สูงสุด เกี่ยวกับที่มาที่ไปเบื้องลึกของโยคะ และปตัญชลีโยคะสูตร ก็จึงทำให้ผมนึกถึงท่านอาจารย์กวี คงภักดีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันโยคะวิชาการ คนในวงการโยคะบ้านเราทั้งหลายต่างก็ให้การยอมรับท่านว่าเป็นกูรูทางด้านโยคะตัวจริงอีกคนหนึ่งของบ้านเรา โดยเฉพาะทางด้านวิชาการเกี่ยวกับศาสตร์ของโยคะแบบดั้งเดิม

ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คอยติดตามผลงานการเขียนหนังสือเกี่ยวกับโยคะของท่าน ตั้งแต่บทความในนิตยสารหมอชาวบ้านยุคแรกๆ รวมจนถึงวารสาร,จุลสารโยคะสารัตถะ ของสถาบันโยคะวิชาการ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมไม่ได้รู้จักกับท่าน เคยพบเจอท่านครั้งหนึ่งก็คือ ตอนที่นิตยสารโยคะเจอร์น่อล ไทยแลนด์ จัดงานที่สโมสรกองทัพบก ผมได้มีโอกาสไปออกบู๊ทกับทางสถาบันฟิตเพื่อโปรโมท คอร์สครูฝึกโยคะของสถาบัน  ผมจึงได้ซื้อหนังสือของอาจารย์กวี พร้อมกับขอให้ท่านเซ็นต์สลักที่หนังสือให้  หลายคนบอกว่าท่านใจดี มีอะไรโทรไปคุยได้ ผมจึงตัดสินใจสืบหาเบอร์โทรของอาจารย์กวี และโทรไปเรียนเชิญท่านมาเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับทางสถาบันของเรา พออาจารย์กวีรับสายผมก็ต้องรีบแนะนำตัวก่อนเลยครับ เพราะแน่นอน ท่านคงจำผมไม่ได้แน่ๆ ผมก็เป็นเด็กรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่เพิ่งจะหันมาฝึกโยคะได้ไม่นานนัก แต่ท่านก็คุยกับผมอย่างมีอัธยาศัยไมตรี และท่านก็รีบเช็คเวลา ตารางการสอนของท่านให้ผมทราบทันที ผมพอจะทราบดีว่าท่านก็มีภาระงานสอนที่ต้องเดินทางไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆมากมาย ในที่สุดก็นัดหมายได้เวลาลงตัวกัน ผมตกลงให้ท่านอาจารย์กวี ช่วยบรรยายเรื่องปตัญชลีโยคะสูตร เป็นสิ่งที่นักเรียนหลายคนของผมสงสัยมากๆว่า โยคะที่เราฝึกกันอยู่ทุกวันนี้มีความแตกต่างหรือเป็นไปตามแนวทางที่ท่านปตัญชลีได้เคย เรียบเรียงไว้ในโยคะสูตรหรือไม่?

พอท่านอาจารย์กวี ได้ยินเข้าว่าเชิญท่านมาบรรยายเรื่องปตัญชลีโยคะสูตร ท่านบอกผมว่า ท่านดีใจมากเพราะไม่ค่อยมีที่ไหน เชิญท่านไปบรรยายเรื่องนี้ แล้วอาจารย์กวี ก็ขอข้อมูล ว่านักเรียนของผม มีประมาณกี่คน? อายุเท่าไรกันบ้าง? การศึกษาระดับไหนบ้าง? ทุกคนเรียนเพื่อจะไปเป็นครูโยคะหมดเลยหรือ? ทำเอาผมถึงกับงง ตั้งตัวเกือบไม่ติด บอกตามตรงเลยว่าคำถามที่ท่านอาจารย์ถามเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานดังกล่าว ในบางครั้งผมแทบจะไม่เคยได้ใส่ใจเลย จึงทำให้ผมต้องขอเวลากลับไปรวบรวมข้อมูลจากใบสมัครเรียนของนักเรียนทุกคน  และนี่เป็นสิ่งแรกที่ผมได้รับจากอาจารย์กวี เป็นเหมือนคำสอนทางอ้อมที่ผมรู้สึกว่า ยังมีอะไรอีกมากมายที่ผมต้องเรียนรู้ และก็คิดว่าตัดสินใจไม่ผิดเลยจริงๆ ที่ได้เชิญท่านอาจารย์กวีมาในครั้งนี้

จากสิ่งที่อาจารย์กวีได้ถามข้อมูลเบื้องต้นของผู้เข้าอบรม ทำให้ผมเกิดการเรียนรู้ขึ้นมาทันทีว่า การเตรียมตัวก่อนการสอนเป็นเรื่องสำคัญ ต่อจากนั้นก็เป็นหัวข้อที่เราต้องสอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทราบข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายด้วย เพราะการยึดติดกับหัวข้อการสอนมากเกินไป อาจทำให้เราลืมคิดถึงกลุ่มเป้าหมายและความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา

พอถึงวันนัดหมาย ท่านอาจารย์กวีก็แน่นอนมากๆครับ ท่านมาก่อนเวลาเสมอ เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ซึ่ง อาจารย์ก็เตรียมคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คคู่ใจมาต่อเข้ากับเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ที่ทางสถาบันของผมมีอยู่แล้ว เสร็จเรียบร้อย ท่านอาจารย์ก็เป็นฝ่ายนั่งรอนักเรียนอยู่ในห้องเรียน เตรียมพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้(สุดยอดจริงๆเลย) เพราะหลายต่อหลายครั้งที่ผมเคยพบก็คือนักเรียนต้องไปนั่งรออาจารย์เมื่อนักเรียนพร้อมอาจารย์ถึงจะเริ่มสอน นักเรียนหลายคนของผมที่เดินทอดน่องแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวพอเห็นว่าท่านอาจารย์กวีซึ่งเป็นวิทยากรพิเศษมานั่งรออยู่ ก็เลยต่างรีบกระตุ้นซึ่งกันและกัน เข้ามาในห้องอย่างรวดเร็ว

เมื่อทุกคนพร้อมอาจารย์กวีก็เริ่มบรรยายทันที ถึงเรื่องราวและแง่มุมต่างๆที่ทำให้เรามาสนใจ เรื่องของปตัญชลีโยคะสูตร อาจารย์กวีถามทุกคนว่า เคยเห็นหนังสือปตัญชลีโยคะสูตรที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดไหม? มีเนื้อหาเยอะหลายหน้าไหม? ทุกคนตอบอย่างไม่ต้องคิดเลยว่า หลายหน้าและบางครั้งก็อ่านไม่ค่อยเข้าใจด้วย อาจารย์กวีแอบยิ้มเล็กๆและกล่าวต่อว่า จริงๆแล้วต้นตำหรับของปตัญชลีโยคะสูตรไม่ได้มีเนื้อหาเยอะอะไรเลย ปตัญชลีโยคะสูตร แบ่งออกเป็น 4ส่วนคือ สมาธิปาท 51บท, สาธนปาท 55บท, วิภูติปาท 55บท และ ไกวัลยปาท 34บท รวมทั้งหมดได้ 195บท ซึ่งหากจะพูดกันจริงๆแล้ว สิ่งที่ท่านได้เรียบเรียงไว้ใช้เพียงกระดาษ ขนาด A4 จำนวน 3-4แผ่น ก็เหลือเฟือที่จะบันทึก เพราะทั้ง4ส่วนที่ได้กล่าวมานี้ ประกอบด้วยข้อความสั้นๆเพียงไม่กี่ข้อความ แต่แขวงไปด้วยปรัชญาอันล้ำลึก ซึ่งสามารถตีความไปได้หลากหลายไม่มีขีดจำกัด ซึ่งอาจารย์กวีก็นำตัวอย่างปตัญชลีโยคะสูตรฉบับดั้งเดิมมาโชว์ให้ทุกคนดู ลักษณะไม่เหมือนหนังสือ เป็นเหมือนแผ่นพับขนาดเล็กกระทัดรัด ไม่หนา สามารถใส่เข้ากระเป๋ากางเกงทั่วๆไปได้อย่างสบายๆ จากตรงนี้นี่เองจึงเป็นที่มาของหนังสือปตัญชลีโยคะสูตรเล่มหนาๆ เพราะผู้เขียนแต่ละคนก็เขียนและตีความกันต่างๆกันออกไปตามแนวคิดของแต่ละคน ซึ่งไอ้ส่วนที่หนาขึ้นมาก็น่าจะเป็นแนวคิดของนักเขียนท่านนั้นๆที่มีต่อปตัญชลีโยคะสูตรในบทต่างๆ

จากข้างต้นจึงส่งผลมาถึงการฝึกโยคะในปัจจุบันด้วยเช่นกัน จึงเกิดเป็นการฝึกโยคะแบบสไตล์ต่างๆมากมายมาจนถึงทุกวันนี้ก็เนื่องมาจากการตีความจากปตัญชลีโยคะสูตรที่แตกต่างกันออกไป ของกูรูทางด้านโยคะแต่ละท่าน  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า โยคะแบบไหนจะเหมาะกับเรา ซึ่งอันนี้มีองค์ประกอบอย่างอื่นอีกมากมาย

จากการมาบรรยายให้สถาบันฟิต ของอาจารย์กวี คงภักดีพงษ์ ในครั้งนี้ทำให้ผมและนักเรียนในคอร์สของผมทุกๆคน ได้เข้าใจแนวทางของการฝึกโยคะที่ชัดเจนมากขึ้นและรู้จัก ที่มาที่ไปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประวัติของโยคะและปตัญชลีโยคะสูตร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในโอกาสต่อๆไปท่านอาจารย์กวี จะยังคงมีเวลาว่างให้เกียรติมาบรรยายให้กับนักเรียนรุ่นต่อๆไปอีก

สุดท้ายของบทความนี้ผมขอทิ้งท้ายด้วยข้อความที่ ท่านอาจารย์กวีได้เซ็นต์สลักไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้รับจากมือของท่านเอง เป็นคำพูดสั้นๆ แต่แฝงไว้ด้วยปรัชญาลึกซึ้ง

ขอให้การปรุงแต่งของจิตจงดับสิ้นเทอญ

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ


ขอขอบพระคุณ สถาบันโยคะวิชาการ http://www.thaiyogainstitute.com/

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

ศูนย์ฝึกโยคะ ในบ้านเรา มีแบบไหนบ้างหนอ?


ศูนย์ฝึกโยคะ ในบ้านเรา มีแบบไหนบ้างหนอ?

มีคำถามต่างๆมากมายที่นักเรียนในหลักสูตรครูฝึกโยคะ มักเกิดความสงสัยและสอบถามผม เกี่ยวกับโยคะในบ้านเรา ณ ปัจจุบันนี้ ทั้งเรื่องที่โยคะมีมากมายหลายสไตล์ จนเรางงไปหมดว่าสไตล์ไหน?เป็นแบบไหน? ซึ่งอันนี้ผมก็พอจะทราบบ้างประมาณหนึ่ง  นักเรียนในหลักสูตรบางคนจะมีประสบการณ์ในการเรียนโยคะมากมาย หลากหลายแบบหลายสไตล์ และเรียนกับศูนย์ฝึกหลายๆแห่ง แต่นักเรียนของผมบางคนก็ปักใจเรียนแบบไม่เปลี่ยนที่เรียน(รักแล้ว...รักเลย) พอมาคุยกันก็จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ว่าที่ไหนเป็นแบบไหน ต่างจากที่นี่, ที่นั่นอย่างไร... และเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่จะต้องพบเรื่องแบบนี้กับนักเรียนที่มาเรียนหลักสูตรครูสอนโยคะกับผมทุกๆรุ่น

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมจึงต้องอธิบายและแยกประเภทของศูนย์ฝึกโยคะให้นักเรียนของผมทุกคนฟัง ซึ่งจากประสบการณ์ของผมแล้ว ผมคิดว่าศูนย์ฝึกโยคะในบ้านเราน่าจะจำแนกได้ดังต่อไปนี้

1. สตูดิโอโยคะ พูดง่ายๆคือ มีแต่โยคะอย่างเดียวล้วนๆไม่มีอะไรมาเจือปรน ผู้ที่มาที่นี่มีเป้าหมายชัดเจนคือการฝึกโยคะ ซึ่งบางสตูดิโอก็อาจจะเน้นไปในการฝึกโยคะแบบสไตล์เดียว แต่สอนโดยครูหลายคน, บางสตูดิโอ ก็มีโยคะหลากหายสไตล์ มีครูหลายคนสอน ก็ขึ้นอยู่กับ นโยบายและจุดขายของแต่ละสตูดิโอ เรื่องราคาเฉลี่ยแล้ว ก็มีตั้งแต่เดือนละ 1,000บาทไปจนถึง 2,000กว่าบาท ซึ่งราคาก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของสตูดิโอ และชื่อเสียงของครูผู้สอนด้วย

2. สปา ที่มีโยคะ  คือนำโยคะมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ที่ชอบเข้าสปาเพื่อการผ่อนคลาย เพราะถือว่าวิถีของโยคะก็คือการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจเช่นกัน เรื่องของราคาน่าจะขายแบบเป็นแพ็คเกจ ซึ่งแต่ละที่มีแพ็คเกจที่แตกต่างกัน มากมาย

3. สปอร์ตคลับ, ฟิตเนสและศูนย์สุขภาพที่มีโยคะ คือการนำโยคะมาเป็นองค์ประกอบเสริม ให้กับสมาชิกได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น บางครั้ง บางคนอาจต้องการเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการฝึกโยคะบ้าง แต่ก็มีบางคนไม่เล่นฟิตเนส ฝึกโยคะอย่างเดียวก็มี  ข้อ3. นี้เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบความหลากหลาย ซึ่งอาจจะออกกำลังกาย, เต้นแอโรบิคหลากหลายสไตล์, คลาสปั่นจักรยานร่วมกัน, การฝึกแบบที่มีเทรนเนอร์คอยดูแลแบบส่วนตัว และโยคะ เรื่องราคาก็จ่ายค่าสมาชิกแบบรายปีหรือรายเดือนเล่นได้หมดทุกอย่าง(ยกเว้นครูฝึกส่วนตัวต้องจ่ายเพิ่ม) คุ้มมากๆสำหรับบางคน เฉลี่ยแล้วก็น่าจะตกประมาณเดือนละ2,000กว่าบาท สำหรับสมาชิกรายเดือน

4. เปิดบ้าน เป็นศูนย์ฝึกโยคะ  ครูโยคะบางท่านผูกพันธ์กับบ้าน(ไม่อยากเดินทางไปไหน เป็นห่วงบ้าน ไม่อยากเจอรถติด) และเนื่องด้วยบ้านตนเองก็มีพื้นที่เหลือใช้จึงพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นศูนย์ฝึกโยคะ ซึ่งแน่นอนครับส่วนใหญ่ก็จะดำเนินการสอนโดยครูผู้เป็นเจ้าของบ้านเพียงคนเดียว เรื่องของราคา ก็หลากหลายแล้วแต่ นโยบายของครูแต่ละท่านที่เปิดบ้านสอนว่าจะจัดแพ็คเกจเช่นไร

5. โยคะ ในสวนสาธารณะต่างๆ การสอนโยคะในสวนสาธารณะมีมาเนิ่นนาน น่าจะนานกว่า20ปีแล้วในบ้านเรา(แบบนี้ อาจไม่ได้เรียกว่าศูนย์ฝึก แต่เป็นการนัดหมายกันมาฝึกแบบมีผลประโยชน์เล็กน้อย) ต้องบอกเลยว่าการฝึกโยคะในสวนสาธารณะเป็นจุดกำเนิดแรกๆของหลายๆคนที่เริ่มฝึกโยคะ เพราะมีความสะดวก แต่จะมีแค่ช่วงเช้าตรู่และตอนเย็นก่อนค่ำเท่านั้น และผู้ฝึกจะต้องเตรียมอุปกรณ์ในการฝึกทุกอย่างไปเอง ในสวนสาธารณะแห่งเดียวกันอาจมีให้เลือกเรียนได้หลายกลุ่มเลย ราคาไม่แพงหากข้อมูลที่ผมได้รับมาไม่ผิดพลาดก็น่าจะประมาณครั้งละ 50บาท หรือถ้าจะจ่ายเหมาเป็นรายเดือนก็น่าจะประมาณ 600บาท/เดือน ซึ่งไม่แพงเลยครับ ถือว่าย่อมเยาว์มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกๆประเภทที่กล่าวมา

6. และยังมีโยคะแบบอื่นๆอีกซึ่งก็ไม่ได้จัดเป็นศูนย์ฝึก เป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ (ฝ่ายหนึ่งได้รับสุขภาพที่ดี อีกฝ่ายหนึ่งมาสอน, มาแนะนำให้แบบมีค่าตอบแทนตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย) เช่น บริษัทจ้างครูมาสอนหลังเลิกงาน, รวมตัวกันจ้างครูมาสอนที่บ้าน, จ้างครูมาสอนเป็นส่วนตัว(ไฮโซ ฐานะดี), รวมจนถึงทัวร์สุขภาพ ราคาก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย

จากทั้ง 6ข้อ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ผมคิดว่า กลุ่มที่มีความตั้งใจสูงในการฝึกโยคะ ควรจะอยู่ในข้อที่ 1, 4, 5 และ 6 เพราะผู้ฝึกกลุ่มนี้มีเป้าหมายหลักคือ ฝึกโยคะแทบจะไม่มีอะไรมาปรนเปื้อนเลย ส่วนอีกกลุ่มก็คือ ข้อที่ 2 และ 3 ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มหลังนี้ไม่ได้ตั้งใจฝึกโยคะนะครับ แต่อาจจะมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ต้องตัดสินใจสมัครเรียนที่นี่ เช่นความคุ้มค่า, ความหลากหลาย, ความสะดวก, สังคมเพื่อนฝูง ฯลฯ  หากจะมาเปรียบเทียบว่าที่ไหน? ดีกว่าที่ไหน? มาตรฐานที่ไหนดีกว่า? ครูคนไหนสอนดีที่สุด? ก็คงต้องพูดกันยาวเลยล่ะครับ และด้วยจรรยาบรรณของครูสอนโยคะอย่างผม คงไม่ขอออกความคิดเห็นตรงจุดนี้ 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราสามารถฝึกโยคะที่ไหนก็ได้ที่เรารู้สึกว่า ฝึกแล้วสบายใจ ไปฝึกที่นั่นแล้วตัวเราเองได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะมาตรฐานของแต่ละคนย่อมต้องแตกต่างกันอย่างแน่นอน(ซึ่งในบางครั้ง ก็อาจจะเป็นแค่เพียงการฝึกโยคะตามลำพังด้วยตัวของคุณเอง ณ.มุมสงบที่ไหนสักแห่ง?...ในบ้านของคุณเอง)

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

Fit Studio / Studio by Fit


Fit Studio / Studio by Fit

หลังจากที่ ตระเวนสอนโยคะมาเกือบ 10ปี ผมก็ตัดสินใจร่วมลงทุน เปิดสตูดิโอ(เป็นหุ้นส่วนเล็กๆ เนื่องจากมีเงินน้อย) ก็ใช้พื้นที่ ต่อเติมขยายจากสถาบัน ฟิต ต้นสังกัดของผมนั่นแหล่ะครับ หุ้นส่วนก็คนคุ้นเคยในสถาบัน ฟิต รวมผมด้วยก็ 4ราย สตูดิโอของเรานอกจากจะมีคลาสโยคะหลากหลายสไตล์แล้ว ก็ยังมีคลาสเต้นแอโรบิคหลากหลายสไตล์ รวมจนถึงคลาสการออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์บอลแบบต่างๆ และก็ยังเป็นสถานที่รองรับการฝึกส่วนบุคคล(Personal Trainer)อีกด้วย

และแน่นอนครับ วันจันทร์และวันศุกร์ เวลา 19.50-20.50น. มีคลาส หฐะวินยาสะโยคะ สอนโดยครูจิมมี่ครับ ก็เป็นนโยบายของสตูดิโอครับ ผมต้องยกเลิกงานจากที่อื่นบางส่วนมาสอน และช่วยงานที่สตูดิโอ เย็นวันจันทร์, พุธ, ศุกร์ ผมก็จะปักหลักอยู่ที่สตูดิโอนี่ซะเป็นส่วนใหญ่ล่ะครับ

สำหรับคลาสในช่วงแรกก็จะเปิด แค่เพียงวันจันทร์-วันศุกร์เวลา 17.30น.จนถึง 20.50น.เท่านั้น ก็จะมี 3คลาสต่อวันแต่ละคลาสใช้เวลา 1ชั่วโมง

เว็บไซต์ยังทำไม่เสร็จครับ http://www.studiobyfit.com/ แต่สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-650-8282 หรือ 02-650-9242

สำหรับทุกท่านที่เข้ามาอ่านบล็อกของผม ก็อย่าลืมแวะมาเยี่ยมเยือนสตูดิโอของผมบ้างนะครับ

พบกันที่ฟิตสตูดิโอครับ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger