เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภักติโยคะ การเชื่อมั่นในศรัทธาและความจงรักภักดี

( Jimmy in Kukkuttasana )

ภักติโยคะ การเชื่อมั่นในศรัทธาและความจงรักภักดี

ผมไม่ได้เขียนบทความใหม่ส่งขึ้นบล็อกให้ได้อ่านมานานพอควร เนื่องจากภาระหน้าที่การงานที่ค่อนข้างวุ่นวายและยุ่งเหยิง ต้องขออภัยแฟนๆบล็อกทุกๆท่าน มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ 


มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะแชร์ให้ทุกๆท่านได้อ่านก็คือ ประสบการณ์จากการรับงานสอนโยคะของผม ที่น่าจะเป็นเครื่องช่วยเตือนใจและทำให้ผมได้ตระหนักถึงหลักและแนวทางของภักติโยคะ มากยิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนอื่นผมคงจะต้องขอ กล่าวถึงความหมายและที่มาของคำว่า "ภักติโยคะ" เสียก่อน


ในยุคอุปนิษัท  ได้พัฒนาเรื่องหลักกรรมในยุคพระเวทเพื่อเป้าหมายคือการเข้าสู่ปรมาตมันโดย อาศัยวิธีการ  3  ประการ คือ  กรรมโยคะ  ภักติโยคะ   และชญาณ  โยคะ  
  
กรรมโยคะ  (กรรม+โยคะ)  หมายถึงการกระทำอะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความดีความชอบและมีผลตามความต้องการ
  
ภักติโยคะ  (ภักติ+โยคะ) หมายความถึงความศรัทธา  ความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า  
  
ชญาณโยคะ  (ชญาณ+โยคะ)   หมายถึงตัวความรู้ชั้นบรมสัจจะ  มิใช่ความรู้อื่นที่นำไปสู่สภาวะดังกล่าว  สภาวะเช่นนี้จะเกิดได้จากการที่คนเราสามารถหยั่งรู้สภาวะอันแท้จริงของตน เองว่ามันมีสภาวะจริง  ๆ   เป็นเช่นไร

              ทรรศนะเรื่องกรรมในศาสนาพราหมณ์นี้  ชี้ให้เห็นว่ากรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งสัตว์ทั้งหลาย   กรรมเป็นเครื่องผูกพันให้มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิด    มนุษย์ทุกคนตกอยู่ในอำนาจของกฎแห่งกรรมที่เขาทำไว้จะหลีกหนีไม่พ้น   คือทำกรรมใดไว้ก็จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น  ทำดีย่อมได้รับผลดี  ทำชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว



เรื่องของผมมันมีอยู่ว่า หลังจากที่ผมสอนโยคะมาได้สัก2-3ปี (ก็คงจะต้องย้อนกลับไปสักประมาณเกือบจะ 10ปีที่แล้ว) งานสอนโยคะผมก็ค่อยๆเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยสอนวันละ 2คลาส ก็ค่อยๆเพิ่มมาเป็น วันละ 3-4 คลาส แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นกับชีวิตของผม (ซึ่งจริงๆแล้วมันก็เป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆที่คอยกวนใจเราน่ะครับ) ปัญหาที่ว่าก็คือ พอผมมีงานสอนโยคะเพิ่มมากขึ้น คนก็ค่อยๆเริ่มรู้จักกับผมเพิ่มมากขึ้น และมีคนติดต่อให้ผมไปสอนโยคะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ทราบกันดีว่า คลาสโยคะส่วนใหญ่ก็จะ เป็นช่วงเวลาเย็น ถ้าเป็นงานสอนตาม


หน่วยราชการต่างๆ ส่วนใหญ่เราน่าจะสามารถรับงานสอนได้ที่เวลา 16.30น. หรือ 17.00น.


หน่วยงานเอกชนหรือบริษัท ห้างร้านต่างๆ ส่วนใหญ่เราน่าจะสามารถรับงานสอนได้ที่เวลา 17.30น. หรือ 18.00น.  


ฟิตเนสและเฮลท์คลับต่างๆ เราจะสามารถรับงานสอนได้เกือบทั้งวันสำหรับฟิตเนสและเฮลท์คลับใหญ่ๆ แต่เวลาที่เขาต้องการส่วนใหญ่คือ ตั้งแต่6.30น.เช้าหรือ 7.00น.เช้า ส่วนช่วงเย็นก็เป็น 18.00น. ไปจนถึง 20.30น.เลยทีเดียว 


สำหรับเวลาอื่นๆก็คงเป็นรอบสอนแบบส่วนตัวที่นัดเวลากันตามสะดวกของทั้งผู้สอนและผู้เรียน


ดังนั้นงานในช่วงเย็นก็จะมีค่อนข้างเย๊อะกว่าช่วงเวลาอื่นๆ จนบางครั้งก็มีคนติดต่อให้ผมไปสอนช่วงค่ำในเวลาที่ผมมีงานสอนอยู่แล้ว ซึ่งข้อเสนอง่ายๆเพื่อต้องการได้ผมไปสอนก็คือให้ค่าสอนมากกว่าที่เดิม ต้องบอกกันตามตรงเลยครับว่ามีบ้างในบางครั้งที่กิเลสและความโลภของผมก็จะแว๊บเข้ามาในด้านมืดของจิตใจ และเคยทำให้ผมเคยตัดสินใจผิดพลาดไปเกี่ยวกับเรื่องนี้


การที่เราจะขอยกเลิกงานสอนจากสถานที่แห่งหนึ่ง ที่เราเคยสอนอยู่แล้วไปรับงานสอนยังที่ใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายครับในบางครั้ง หากทางสถานที่นั้นๆเขาหาคนมาสอนแทนเราไม่ได้ เราก็อาจจะต้องเป็นฝ่ายช่วยหาคนมาสอนแทนเราให้กับสถานที่นั้นๆ และแน่นอนครับหากเขาทราบว่าเราทิ้งเขาไปรับงานที่ใหม่เขาก็คงไม่ค่อยพอใจอย่างแน่นอน 


ประสบการณ์การรับงานสอนของผมครั้งหนึ่งมันมีอยู่ว่า เขาต้องการให้ไปสอนช่วงค่ำแต่ว่า ในวันดังกล่าวน่ะผมก็มีงานสอนของผมอยู่แล้ว เนื่องจากเขาให้ค่าสอนมากกว่าที่เก่า กิเลสและความโลภของผมก็จะแว๊บเข้ามาในด้านมืดของจิตใจ จึงทำให้ผมหาคนรู้จักมาสอนแทนที่เดิมที่เคยสอน(ยกคลาสให้เขาไปเลย)และนำพาตัวเองไปรับงานที่ใหม่ที่คิดว่าได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่าที่เดิม ทั้งๆที่ในสถานที่เดิมนั้นผมสอนมาอย่างยาวนานหลายปีโดยไม่เคยมีปัญหาอะไร 

และพอผมไปสอนให้กับที่ใหม่ได้เพียงไม่ถึงปีกิจการเขาก็มีปัญหาทำให้ต้องปิดกิจการลงไป..เวรกรรม..เวรกรรม... ก็เท่ากับว่าผมต้องตกงาน ที่เก่าก็ยกให้คนอื่นไปสอนแล้ว จะกลับไปขอเอารอบสอนคืนก็คงไม่ได้แน่ๆ อันนี้คือบทเรียนสำคัญ ของการไม่พึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ กิเลสความโลภที่บางครั้งมันเข้ามาคลอบงำจิตใจของเรา ทำให้เราอยากได้มากขึ้น อยากมีมากขึ้น จนทำให้เราหลงลืมเรื่องของความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่สถานที่นั้นๆมีให้กับเราเสมอมา  มันเปรียบได้ดั่งเวรกรรมที่ตามทันเรา(อาจจะว่าผม งมงาย แต่ผมก็เชื่อในเรื่องของกฏแห่งกรรมครับ) เมื่อเราเป็นฝ่ายที่ทอดทิ้งเขาไปด้วยเหตุอันไม่สมควร เขาก็คงได้รับผลกระทบพอประมาณจากการกระทำของเรา มันก็คงเปรียบได้กับการที่เราได้สร้างเวรกรรมเอาไว้ ดังนั้นในไม่ช้าไม่นานเวรกรรมนี้มันก็จะตามกลับมาหาเรา ให้เราได้ชดใช้กรรมนี้ในที่สุด


หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมก็จะตระหนักถึงเรื่องของเวรกรรมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และพยายามนำ "ภักติโยคะ" การเชื่อมั่นในศรัทธาและความจงรักภักดี มาปรับใช้กับชีวิตและการงานที่ผมได้ทำอยู่  รู้จักถึงความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ พอเพียง ไม่โลภมาก 


มีหลายเรื่องราวที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและพอจะยกตัวอย่างให้เห็น ในเรื่องของความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี และแน่นอน พวกเขาเหล่านี้เปี่ยมล้นไปด้วยศรัทธา  ดังเช่น     
 พันท้ายนรสิงห์ (จากเรื่อง พระเจ้าเสือ) ที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อหน้าที่ของตนเองในการถวายงานรับใช้พระเจ้าเสือ ด้วยข้อผิดพลาดอันสุดวิสัยแต่ด้วยหน้าที่รับผิดชอบของตนจึงทำให้พันท้ายนรสิงห์ต้องสละชีพของตน ทิ้งไว้เป็นตำนานให้พวกเรารุ่นหลังได้รับรู้สืบต่อถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อหน้าที่ ของท่านพันท้ายนรสิงห์


แฮร์รี่ พอตเตอร์และผองเพื่อน ที่ได้ทำตามหน้าที่ของตน เพื่อกำจัดภัยมืด ผดุงไว้ซึ่งความสันติสุข ของชาวฮ็อกวอด ถึงแม้นว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตของตนเอง


กวนอู (จากเรื่อง สามก๊ก) ที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเล่าปี่ ถึงแม้นว่าตนเองจะต้องตกไปเป็นเชลยศึกของฝ่ายโจโฉ แม้นกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีที่กวนอูมีต่อเล่าปี่ได้ จนท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ของชาวจีน


หนุมาน พญาวานร (จากเรื่อง รามเกียรติ์) ที่มีความจงรักภักดีต่อพระราม, หนุมานทำหน้าที่ของทหารเอกได้อย่างยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน ผดุงไว้ซึ่งความถูกต้อง


อรชุน (จากเรื่อง สงครามมหาภารตยุทธ/ภควัตคีตา) ที่ได้ทำหน้าที่ของตนเพื่อวงศาคณาญาติ ในมหาสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งชมภูทวีป, อรชุน เกือบจะเดินหนีจากสมรภูมิรบในการรบครั้งสุดท้าย แต่ด้วยการเตือนสติจาก กฤษณะ(อวตารของพระวิษณุ) ทำให้อรชุน ได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนและความถูกต้อง จึงทำให้อรชุนเปลี่ยนใจกลับมารบ จนได้รับชัยชนะเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง

อย่างไรก็ตามแต่ พวกเราควรนำหลักของ "ภักติโยคะ" การเชื่อมั่นในศรัทธาและความจงรักภักดี ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตของเราและควรอยู่ภายใต้ การนำไปใช้อย่างมีสติ และเป็นไปตามความถูกต้องตามครรลองครองธรรม ซึ่งถ้าเรานำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมคงจะเป็นผลดีต่อพวกเราทุกๆคนอย่างแน่นอน...

เมื่อการที่เรา เชื่อมั่น ศรัทธา และจงรักภักดี ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เราก็แอบหวังไว้ลึกๆเช่นกันว่า สิ่งนั้นจะไม่ทำให้เราต้องผิดหวัง และสูญสิ้นซึ่งความรักและศรัทธา
 
"ที่สำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่​ากันก็คือ จงอย่าทำให้ผู้อื่นต้องสูญส​ิ้นซึ่งศรัทธาที่มีต่อเราด้​วยเช่นกัน และสุดท้ายที่สำคัญมากๆก็คื​อ จงอย่าสิ้นศรัทธาหมดหวังกั​บตัวเราเอง"

และเมื่อไรก็ตามแต่ ที่เราต้องผิดหวังจนสูญสิ้นซึ่ง ความเชื่อมั่นในศรัทธาและความจงรักภักดีไป นั่นหมายถึง...จงเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดีและจงพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังเข้ามาสู่ชีวิตของเราแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้...

... เราจะอยู่อย่างไร หากต้องอยู​่อย่างไร้ซึ่งศรัทธา...


ขอพลังแห่ง "ภักติโยคะ" การเชื่อมั่นในศรัทธาและความจงรักภักดี จงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger