เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

อัญชลี มุทรา แรงอธิษฐาน, ภาวนาที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายดังใจหวัง





ก่อนอื่น ผมคงต้องขอกล่าวคำว่า"สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.๒๕๕๕"(ถึงแม้นว่าดูจะช้าไปสักหน่อยก็ตาม) บทความนี้ถือเป็นบทความแรกของปีนี้สำหรับการเขียนบล็อกโยคะ"เรื่องเล่า...จากครูโยคะ"ของผม เนื่องด้วยภาระหน้าที่การงาน+ครอบครัว+สังคม รวมจนถึงการโปรโมทและขายหนังสือ"เรื่องเล่า...จากครูโยคะ"ของผม ที่ทำให้ผมต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ผมไม่ค่อยมีเวลาในการเข้ามาเขียนบล็อก แต่ตอนนี้ผมเริ่มจะจัดสรรเวลาได้บ้างแล้วล่ะครับ และผมก็จะพยายามเผยแพร่บทความเกี่ยวกับโยคะในมุมมองของผมที่น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่แวะเวียนผ่านเข้ามาอ่าน




อัญชลี มุทรา แรงแห่งอธิษฐาน, ภาวนาที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายดังใจหวัง


อัญชลี มุทรา คืออะไรหว่า? ก่อนอื่นผมคงจะต้องขอกล่าวถึงคำว่า"มุทรา"ก่อนเพื่อให้ทุกๆท่านได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นครับ "มุทรา" ก็คือการทำสัญลักษณ์มือแบบต่างๆ หรือสัญลักษณ์ของพระหัตถ์ (bodily posture or symbolic gesture) ซึ่งใช้กับเทวรูปต่างๆ ซึ่งมักพบในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ก่อนที่พุทธศาสนาจะอุบัติขึ้น เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น การที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของพุทธประวัติ โดยใช้พระพุทธรูปนั้น การสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบทต่างๆนั้นเพียงอย่างเดียว บางครั้งก็ง่าย บางครั้งก็ยาก จึงต้องมีการใช้ มุทรา ที่เป็นสัญลักษณ์ของมือ เข้ามาร่วมด้วย เพราะเป็นที่รู้จัก และเข้าใจในความหมายกันมาก่อนแล้ว การเห็นพระพุทธรูปจึงทำให้คนที่เห็นนั้น เข้าใจในองค์พระพุทธรูปนั้นๆ ว่าแสดง หรือแทน พระพุทธประวัติ ในช่วงใด
 

มุทรา โดยมือ มีหลายแบบที่ยังคงใช้มาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะพระทางสายวัชรยาน ของธิเบต มักจะใช้ในการทำสมาธิ หรือแม้แต่การทำโยคะของพวกโยคีก็ใช้กัน


ดังนั้น ผู้ฝึกโยคะที่เริ่มจะศึกษาโยคะแบบลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆมักจะได้ยินคำว่ามุทรา เสมอๆ


อัญชลี มุทรา(การพนมมือ) Anjali Mudra or Namaskara Mudra : gesture of greeting and veneration or The Gesture of Prayer คืออีกหนึ่งสัญลักษณ์มือที่มีความสำคัญอย่างมาก เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการทักทาย หรือ การแสดงความเคารพ มุทรานี้จะไม่ได้ใช้กับพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้า แต่จะใช้กับพระพุทธรูปที่เป็นพระอรหันต์ หรือพระสาวกเท่านั้น เช่นรูปพระโมคคัลลา และพระสาลีบุตร ที่ยืนอัญชลีต่อหน้าพระพุทธรูปพระพุทธชินราช

นอกจากมือที่มีความหมายตามลักษณะต่างๆ แล้ว แม้แต่นิ้วมือ ก็มีความหมายด้วยเช่นกัน โดยนิ้วทั้ง 5 เป็นสัญลักษณ์ของ

1.ความกรุณา (Generosity)
2.ความมีศีลธรรม (Morality)
3.ขันติ ความอดทน (Patience)
4.ความมานะ พยายาม (Effort)
5.การตั้งมั่นในสมาธิ (Meditative concentration) 



สำหรับเมืองไทยของเรา ถือได้ว่าเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ การทำสัญลักษณ์พนมมือแบบนี้ในบ้านเราก็คือ การสวัสดี ซึ่งหมายถึง การทักทาย การต้อนรับด้วยมิตรภาพไมรตรีจิต การแสดงออกถึงการให้ความเคารพนับถือ ความนอบน้อม  รวมจนถึงการแสดงความขอบคุณ  นอกจากนี้แล้วเวลาทีเราสวดมนตร์ภาวนา อธิษฐาน วิงวอนขออะไรก็ตามแต่ กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่เราเชื่อถือศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ  เราก็จะพนมมือขึ้นและภาวนาขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ


การพนมมือไหว้เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามและเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มากๆเลยครับ ผมเองก็มีประสบการณ์ดีๆหลายต่อหลายครั้ง ที่เกิดขึ้นจากการพนมมือไหว้


ประสบการณ์ที่ผมจะถ่ายทอดให้ฟังมันมีอยู่ว่า...เช้าตรู่วันอาทิตย์ที่๑๘ธันวาคม๒๕๕๔ที่ผ่านมา เป็นวันดี เป็นวันที่ลูกชายผมได้ถือกำเนิดเกิดมาลืมตาดูโลกนี้ ในช่วงเวลาต่อจากนั้น๑-๒วันในขณะที่ภรรยาและลูกชายผมกำลังพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล ทั้งๆที่ผมก็ยังคงไปสอนโยคะตามปกติในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ผมก็ยังจะต้องอาศัยเวลาช่วงว่างระหว่างวันจากการสอน ไปดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆของลูกชายผม ก็คือการออกสูติบัตรของทางโรงพยาบาล การรับรองบุตร และการขอย้ายบุตรเข้าไปในทะเบียนบ้าน เอกสารทุกๆอย่างมาเกือบครบ มีหมดยกเว้นก็แต่เพียงสำเนาทะเบียนบ้านของผม เนื่องจากชื่อของผมยังอยู่ในทะเบียนบ้านเดิมที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันมีคุณพ่อและพี่สาวของผมยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ ปัญหามันมีอยู่ว่า บ้านที่สุพรรณฯนี้เป็นบ้านที่ครอบครัวเราเช่าเขาอยู่(ไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเองกับเขาสักทีอ่ะครับ) ดังนั้นสำเนาทะเบียนบ้านก็จะอยู่กับเจ้าบ้านซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่แท้จริง ส่วนผมและครอบครัวก็มีชื่ออยู่เป็นแค่ผู้อาศัยในทะเบียนบ้าน ตัวผมเองอยู่กรุงเทพฯก็เลยโทรไปถามพี่สาว ปรากฏว่าเจ้าของบ้านเขาไม่สะดวกจะถ่ายเอกสารส่งมาให้ในช่วงเวลาที่ผมต้องรีบเร่งที่จะใช้ เพราะเขาไปธุระที่ต่างจังหวัดยังไม่กลับ เขาจึงแนะนำให้ผมไปขอคัดลอกสำเนาทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตที่ใกล้ที่สุด มันก็ฟังดูปกติดีเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ปัญหาก็คือ ผมมีเวลาค่อนข้างจำกัดต้องทำเอกสารให้เสร็จภายในวันนั้นเพราะวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่ภรรยาและลูกชายของผมจะต้องออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่ที่คอนโดฯของเรา  เอกสารก็ต้องทำให้เสร็จ งานสอนโยคะก็กังวล กลัวว่าจะวิ่งไปสอนไม่ทันหากไปดำเนินการขอคัดลอกสำเนาทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตแล้วต้องใช้เวลาเย๊อะ...


พวกเราเคยไปติดต่อราชการอะไรสักอย่างที่สำนักงานเขตไหมเอ่ย? พอจะจินตนาการได้ไหมครับ ว่าจะมีประชาชนอย่างเราๆนี้ไปใช้บริการมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน เรียนให้ทุกๆท่านทราบกันตรงๆเลยว่าถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆผมไม่อยากไปติดต่อราชการที่สำนักงานเขตหรอกครับ(ทุกๆท่านก็คงคิดเห็นเป็นเช่นเดียวกันกับผม) เพราะคิวค่อนข้างยาว และเจ้าหน้าที่ก็มักจะมีน้อยเสมอเวลาที่เราไปติดต่อราชการ(ไม่รู้ทำไม พอเราไปทีไรพนักงานเขามาทำงานกันน้อยทุกที) มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ ที่จำนวนน้อยๆที่ว่าเนี่ยยังทำงานกันแบบใจเย็นม๊าก...กกๆอีกต่างหาก คงพอจะเข้าใจและจินตนาการตามได้นะครับ  ผมมีเวลาจำกัดเพราะมีคลาสโยคะที่ต้องกลับไปสอน แต่ก็คิดในใจว่าลองดูแล้วกันน่ะ เผื่อวันนี้คนที่ไปใช้บริการที่สำนักงานเขตจะมีไม่เย๊อะ


พอไปถึงสำนักงานเขตผมก็พบว่า มีคนไม่น้อยเลยล่ะครับที่ไปใช้บริการที่สำนักงานเขตในวันนั้น เขาก็กำลังนั่งรอคิวกันเป็นทิวแถวพอสมควรเลยทีเดียว ด้วยเวลาที่มีน้อยทำให้ผมต้องตัดสินใจล่ะครับ ว่าจะกลับก่อนดีหรือจะไปหยิบบัตรคิวแล้วไปนั่งรอคิวดี ในสมองตอนนั้นคิดอยู่สองอย่างคือ ประการแรกคิดว่าถ้าผมกลับไปมือเปล่าภรรยาของผมคงจะไม่ค่อยพอใจแน่ๆ(อันนี้เรื่องใหญ่) และที่สำคัญในวันอื่นผมก็จะต้องกลับมาอีกอยู่ดี ประการที่สองคิดว่าถ้ารอคิวนานจนเกินไปแล้วไปสอนไม่ทันล่ะ..ก็เสียหายอีกล่ะ(เสียรายได้ เสียงานเสียการ) แล้วจะทำไงดีล่ะจิมมี่??? ผมยืนตัดสินใจอยู่ไม่นานนัก เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น แล้วผมก็มองเข้าไปตรงบริเวณที่พนักงานเขากำลังทำงานกันอยู่ ผมสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีสุภาพสตรีท่านหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตแห่งนี้นี่แหล่ะ แต่ไม่เห็นเขานั่งประจำโต๊ะทำงานเหมือนคนอื่นๆ ดูเขาเดินไปเดินมาในบริเวณนั้นอย่างอารมณ์ดี มิหนำซ้ำยังคล้ายๆว่าจะสั่งให้ผู้ที่นั่งในแต่ละโต๊ะทำโน่นทำนี่อีก ผมคิดว่าเธอน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสและมีอิทธิพลในออฟฟิศแห่งนี้ ผมตัดสินใจว่างั้นก็คนนี้แหล่ะ...ลองดู 


ผมพยายามทำตัวให้ดูสุภาพเรียบร้อยมากที่สุด เจียมเนื้อเจียมตัวมากที่สุด อธิษฐานและภาวนาในใจหวังว่าเธอจะให้ความเมตตา เข้าใจเห็นใจและช่วยเหลือผม  แล้วผมก็เดินตรงปรี่ไปหาสุภาพสตรีท่านดังกล่าวนี้ทันที ผมพนมมือ(อัญชลี มุทรา) และโน้มศรีษะอย่างนอบน้อม พร้อมกับกล่าวสวัสดี ด้วยถ้อยคำที่ว่า "สวัสดีครับพี่ ผมมาขอคัดลอกสำเนาทะเบียนบ้านครับ ผมเป็นครูสอนโยคะ คือว่าผมต้องรีบกลับไปสอนโยคะน่ะครับพี่ ผมรบกวนหน่อยน่ะครับ" เธอถามสวนกลับมาทันทีว่า"จะเอาไปทำอะไรล่ะ?" ผมจึงรีบบอกว่า"นำไปใช้เป็นเอกสาสำคัญในการรับรองบุตรและให้ทางโรงพยาบาลออกใบสูติบัตรให้กับลูกชายของผม ภรรยาของผมเพิ่งจะคลอดลูกน่ะครับ" ณ ตอนนั้นผมแค่ลองคิดในใจเล่นๆว่า ถ้าสุภาพสตรีท่านนั้นดันใช้มาตรการแข็งกร้าวกับผมและบอกว่า"ก็ไปกดบัตรคิวแล้วไปนั่งรอคิวสิ" ผมคงจะเซ็งมากๆและคงต้องรีบกลับทันที   แต่เธอหันไปมองที่โต๊ะทำงานของน้องผู้หญิงคนหนึ่งแล้วเดินไปที่โต๊ะนั้น เธอพูดกับน้องผู้หญิงคนนั้น สองถึงสามคำเท่านั้นแล้วหันมาแสดงสัญญาณมือเพื่อเรียกผมให้เดินไปที่โต๊ะนั้น ผมยิ้มในใจและรู้สึกได้ทันทีถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า..ผมมาถูกทางแล้วล่ะครับ


พอผมเดินมาถึงโต๊ะทำงานของเธอ ผมก็ไม่ลังเลใจที่จะยกมือไหว้น้องเจ้าหน้าที่ผู้หญิงคนนี้ทั้งๆที่ดูแล้วเธอน่าจะมีอายุน้อยกว่าผมอย่างแน่นอน น้องเจ้าหน้าที่ผู้หญิงท่านนี้รีบพนมมือขึ้นรับไหว้ทันทีแล้วบอกผมว่าไม่ต้องยกมือไหว้เธอก็ได้ และก็ยกมือพนมขึ้นเพื่อไหว้ขอบคุณ คุณพี่ผู้หญิงที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสอีกครั้งเพื่อขอบพระคุณ พี่ผู้หญิงท่านนี้บอกว่าเดี๋ยวให้น้องเขาช่วยจัดการให้แล้วกันนะ พอพูดจบเธอก็เดินไปที่โต๊ะทำงานของเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ จากนั้นน้องพนักงานผู้หญิงเธอก็รีบจัดการทำเอกสารให้ผมทันที เธอถามผมว่ามีสำเนาบัตรประชาชนมาเรียบร้อยแล้วใช่ไหม ซึ่งผมมีจัดเตรียมไปอยู่แล้ว แค่ไม่ถึงสามนาทีผมก็ได้รับสำเนาทะเบียนบ้านของผม(เร็วมากๆ เร็วโคตรๆ) เธอรีบออกใบเสร็จค่าธรรมเนียมให้ผม เมื่อผมจ่ายเงินไปตามใบเสร็จ(น่าจะ๑๐หรือ๒๐บาทเท่านั้น) ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย  จากนั้นผมก็ยกมือพนมไหว้ขอบคุณสุภาพสตรีทั้งสองท่านอีกครั้งเพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ผม พร้อมทั้งลากลับทันที


คงจะปฏิเสธไม่ได้ ว่าด้วย อัญชลี มุทรา การพนมมือไหว้และอธิษฐานจิตภาวนา มีส่วนทำให้ผมสำเร็จลุล่วงในภารกิจเร่งด่วนนี้ของผมอย่างน่ามหัศจรรย์  อัญชลี มุทรา เป็นสัญลักษณ์มือที่ทรงพลานุภาพอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้พบเห็นจะสัมผัสได้ถึงพลังและมักจะต้องตอบโต้ด้วยมิตรภาพไมรตรีจิต ให้ความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ตามกำลังแห่งความศรัทธา
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราคงต้องย้อนกลับไปมองว่าเรื่องราวต่างๆที่ผมได้พร่ำพรรณนามาทั้งหมดนี้คงจะสำเร็จลุล่วงไปเสียไม่ได้แน่ๆ หากพวกเราทุกๆคนไม่ได้ถูกปลูกฝังมาให้มีพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดีงาม ตามวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ดังที่บรรพบุรุษของเราได้พยายามพร่ำสอนพวกเรามา ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้พวกเราได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นบนโลกใบนี้ด้วยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจ, เข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีความสุข


ตราบใดก็ตาม ที่บนโลกใบนี้ของเรายังคงมีความหวัง อธิษฐาน ภาวนา ศรัทธา ความจงรักภักดี และความดีงามในจิตใจ สัญลักษณ์การพนมมือ แบบอัญชลี มุทรา ก็จะยังคงอยู่กับพวกเราต่อไปตราบนานเท่านาน


ป.ล. ผมขอฝากชาวโยคะทุกๆท่านไว้ด้วยก็แล้วกันนะครับว่า ติดต่อราชการ งานราช งานหลวง งานน้อย งานใหญ่  ครั้งใด โปรดจงเชื่อมั่นใน อัญชลี มุทรา...แรงแห่งอธิษฐาน, ภาวนาที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายดังใจหวัง


ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป...บุญรักษา...พระคุ้มครอง...


นมัสเต,


จิมมี่โยคะ




ขอขอบพระคุณข้อมูลเรื่องมุทราจาก http://ufokaokala.com/index.php?topic=5145.0 


และสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุทรา ก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของมุทราต่างๆได้ที่ http://ufokaokala.com/index.php?topic=5145.0

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger