เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553

การเสียภาษี...กับอาชีพครูสอนโยคะ


การเสียภาษี...กับอาชีพครูสอนโยคะ

ใครไปเสียภาษีมาแล้วบ้าง? ยกมือขึ้น...ก็เป็นประจำทุกปีครับ เราทั้งหลายจะต้องไปเสียภาษีอากร ตามหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เพื่อที่ทางรัฐจะได้นำเงินภาษีดังกล่าวมาช่วยในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบต่างๆของประเทศชาติเรา

การเสียภาษีครั้งแรกของผม ก็คงจะต้องย้อนไปถึงเมื่อประมาณ 10ปีที่แล้วเห็นจะได้ ซึ่งตอนนั้นผมทำงานประจำอยู่ในฟิตเนส ก็จะมีรุ่นพี่ที่ทำงานเขาคอยช่วยแนะนำจัดการให้ ผมยังจำได้ดีว่าผมทำงานประจำแค่เพียงปีเดียว พอปีต่อมาก็ออกมาเป็นครูสอนโยคะแบบอิสระ ผมจึงต้องไปยื่นเสียภาษีด้วยตนเอง ก็ต้องให้พี่ๆเจ้าหน้าที่สรรพากรที่สำนักงานเขตเขาช่วยคำนวนภาษีให้ทุกครั้งไปล่ะครับ ปรากฏว่าผมได้รับเงินคืน สอง-สามพันบาท ก็เลยเริ่มติดใจ ก็ไปยื่นแบบเสียภาษีทุกปีเลยครับ สรุป2-3ปีแรกผมได้เงินคืน(เพราะช่วงนั้นรายได้ยังไม่เยอะ) หลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบันจ่ายภาษีเต็มๆ(อาจเป็นเพราะรายได้เยอะขึ้น)

แต่ก็มีเมื่อ 2หรือ3ปีที่ผ่านมานี่เองครับ เหตุการณ์นี้ผมยังจำได้ไม่มีวันลืม พอถึงเวลาที่จะต้องเสียภาษี ผมก็ไปให้พี่ๆสรรพากรที่สำนักงานเขตช่วยคำนวนให้เช่นทุกปีที่ผ่านมา เขาคำนวนให้ผมยังไงก็ไม่ทราบ ปรากฏว่าทำให้ผมได้รับเงินคืนประมาณสามพันบาท ผมดีใจมาก หลังจากนั้นประมาณ2สัปดาห์ก็มีเช็คคืนภาษีของสรรพากรส่งมาให้ผม และหลังจากที่ผมนำเช็คไปเข้าบัญชี และใช้เงินเรียบร้อยแล้ว ก็มีโทรศัพท์จากสรรพากรโทรมาหาผมบอกว่า ผมยื่นแบบเสียภาษีผิดประเภท ผมคิดในใจว่าต้องเป็นพวก 18มงกุฏหลอกลวงแน่ๆ จะมาไม้ไหน? พอคุยไปคุยมา ข้อมูลเริ่มแน่นขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องการให้โอนเงินแต่อย่างใด เขาบอกให้ผมไปยื่นแบบเสียภาษีใหม่ที่เดิม สรุปคือ ผมต้องไปยื่นใหม่และคืนเงินเช็คอันนั้นให้สรรพากร ยังไม่พอครับ และจากการคำนวนใหม่ผมต้องจ่ายภาษีเพิ่มด้วย(เงินก็ไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกด้วย) เท่านั้นยังไม่พอ การไปทำเรื่องใหม่ก็เท่ากับว่าต้องยื่นแบบเสียภาษีใหม่ซึ่ง ณ ตอนนั้นได้เกินกำหนดการยื่นแบบเสียภาษีแล้ว เท่ากับผมยื่นแบบเสียภาษีล่าช้า ต้องเสียค่าปรับอีก คราวนี้เจอ 3เด้งเลยครับ (เงินก็ไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ต้องจ่ายค่าปรับอีก โถ...ชีวิต...)

ล่าสุดปีนี้ผมก็ไปเสียภาษีมาเรียบร้อยแล้วครับ(เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศกับเขาซะด้วย) เมื่อวันที่ 29มีนาคมที่ผ่านมา(เนื่องจากวันหมดเขตการยื่นแบบฟอร์มเสียภาษีคือสิ้นเดือนมีนาคม) จึงมีคำถามตามมาว่าเป็นครูสอนโยคะต้องไปเสียภาษีด้วยหรือ? ใครเขาจะรู้ว่าครูสอนโยคะมีรายได้เท่าไหร่?

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอแบ่งการรับเงินค่าจ้างสอนโยคะออกเป็น 2แบบ ดังต่อไปนี้ คือ

1. การรับเงินค่าจ้างสอนโยคะ แบบที่ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย  ซึ่งการรับค่าสอนดังกล่าวมักจะเป็นแบบส่วนตัว(ไม่ได้จ้างผ่านบริษัท)
ข้อดี คือ ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย, ไม่มีใครทราบรายได้ของเรา,สามารถเรียกค่าสอนได้สูงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และอาจจะไม่ต้องไปยื่นแบบเสียภาษีหากเรารับค่าจ้างสอนแบบนี้เสียเป็นส่วนใหญ่
ข้อเสีย คือ อาจจะมีรายได้ที่ไม่ค่อยจะคงที่แน่นอน

2. การรับค่าจ้างสอนโยคะผ่านรูปแบบของบริษัท มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย บางที่ก็หัก3% บางที่ก็หัก5% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ นโยบายของฝ่ายบัญชีของแต่ละบริษัทที่ว่าจ้างเราไปสอน
ข้อดี คือ การรับงานในแบบที่ผ่านบริษัท มักจะมีการกำหนดวัน,เวลา การสอนที่ค่อนข้างชัดเจนแน่นอน ก็เท่ากับว่ารายได้ก็จะค่อนข้างแน่นอนด้วย
ข้อเสีย คือ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย, ราคาค่าสอนถูกกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจน(ค่าสอนโดยทั่วไปจะต่ำกว่าแบบ ที่1.)

หากเรารับค่าจ้างสอนแบบข้อแรกก็คงไม่มีใครทราบรายได้ของเรา และก็รับเงินเต็มๆ ไม่มีการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ครูสอนโยคะหลายๆท่าน มักเลือกที่จะรับงานสอนแบบส่วนตัว  แต่ถ้าหากเรารับเงินค่าจ้างสอนแบบข้อที่สอง บริษัทต่างๆที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของเราไป เขาก็จะต้องนำยอดที่หักและชื่อของผู้ที่ถูกหักภาษี ยื่นให้กับทางสรรพากร ดังนั้น ทางสรรพากร ก็จะมีข้อมูลรายได้ของเราที่ได้รับเงินจากบริษัทต่างๆเหล่านั้น
(อย่าคิดนะว่าไม่มีใครรู้)

หากผมได้ข้อมูลมาไม่ผิด ก็คือ หากเราไม่มีงานทำ(ตกงาน) ไม่มีรายได้ หรือ รายได้ต่ำกว่า15,000บาทต่อเดือน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา แต่ผมเชื่อว่าครูสอนโยคะใน กทม.ทั่วๆไปน่าจะมีรายได้มากกว่า15,000บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับว่าจะรับเงินแบบที่ไม่มีการหักภาษีหรือ รับเงินแบบที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

หากเรามีภาระ ต้องเลี้ยงดูบิดา, มารดา, ภรรยาและบุตร ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
                       ดอกเบี้ย จากการผ่อนบ้านหรือ คอนโดฯ จากธนาคาร ก็นำมาลดหย่อนได้
                       การทำประกันชีวิต ก็สามารถนำเบี้ยประกัน มาลดหย่อนได้
                       การซื้อกองทุนรวมก็สามารถ นำมาช่วยลดหย่อนได้
                       การบริจาคเงินทำบุญ บางแห่ง ก็สามารถนำมาช่วยลดหย่อนได้

ไอ้ที่ว่ามาทั้งหมดข้างบนนี้ ผมเอามาช่วยลดหย่อน หลายรายการ แต่ก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอยู่ดี(โถ...ชีวิต...)

จากการสอบถามเพื่อนร่วมวิชาชีพครูสอนโยคะหลายๆท่าน ผมจึงได้ทราบข้อมูลว่าหลายๆคนยังไม่เข้าใจเรื่องของการเสียภาษี หรือไม่บางคนก็แกล้งทำเป็นปิดหูปิดตาไม่รับรู้เรื่องเกี่ยวกับการเสียภาษีและไม่เคยคิดจะเสียภาษีเลย เท่ากับว่าเขาหล่านั้นได้หลีกเลี่ยงหน้าที่ของพลเมืองที่ดี และการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีก็เท่ากับว่าเราได้ทำผิดกฏหมายด้วย หากมีการตรวจสอบย้อนหลังก็อาจจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังพร้อมกับต้องเสียค่าปรับ(อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยล่ะครับ) แต่ก็คงไม่ใหญ่เท่ากับกรณีซุกหุ้น...(หาเรื่องซวยแล้วซิ)

มีคนบอกผมว่าการจะเป็นครูสอนโยคะที่ดีได้นั้น เราควรจะต้องเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติด้วย
และปีนี้คุณเสียภาษีแล้วหรือยัง?

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เงินภาษีที่ผมและพลเมืองดีทุกๆคนได้จ่ายให้กับภาครัฐนั้น จะช่วยให้ประเทศชาติของเราได้พบกับความสงบสุข...

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger