เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553

การเสียภาษี...กับอาชีพครูสอนโยคะ


การเสียภาษี...กับอาชีพครูสอนโยคะ

ใครไปเสียภาษีมาแล้วบ้าง? ยกมือขึ้น...ก็เป็นประจำทุกปีครับ เราทั้งหลายจะต้องไปเสียภาษีอากร ตามหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เพื่อที่ทางรัฐจะได้นำเงินภาษีดังกล่าวมาช่วยในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบต่างๆของประเทศชาติเรา

การเสียภาษีครั้งแรกของผม ก็คงจะต้องย้อนไปถึงเมื่อประมาณ 10ปีที่แล้วเห็นจะได้ ซึ่งตอนนั้นผมทำงานประจำอยู่ในฟิตเนส ก็จะมีรุ่นพี่ที่ทำงานเขาคอยช่วยแนะนำจัดการให้ ผมยังจำได้ดีว่าผมทำงานประจำแค่เพียงปีเดียว พอปีต่อมาก็ออกมาเป็นครูสอนโยคะแบบอิสระ ผมจึงต้องไปยื่นเสียภาษีด้วยตนเอง ก็ต้องให้พี่ๆเจ้าหน้าที่สรรพากรที่สำนักงานเขตเขาช่วยคำนวนภาษีให้ทุกครั้งไปล่ะครับ ปรากฏว่าผมได้รับเงินคืน สอง-สามพันบาท ก็เลยเริ่มติดใจ ก็ไปยื่นแบบเสียภาษีทุกปีเลยครับ สรุป2-3ปีแรกผมได้เงินคืน(เพราะช่วงนั้นรายได้ยังไม่เยอะ) หลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบันจ่ายภาษีเต็มๆ(อาจเป็นเพราะรายได้เยอะขึ้น)

แต่ก็มีเมื่อ 2หรือ3ปีที่ผ่านมานี่เองครับ เหตุการณ์นี้ผมยังจำได้ไม่มีวันลืม พอถึงเวลาที่จะต้องเสียภาษี ผมก็ไปให้พี่ๆสรรพากรที่สำนักงานเขตช่วยคำนวนให้เช่นทุกปีที่ผ่านมา เขาคำนวนให้ผมยังไงก็ไม่ทราบ ปรากฏว่าทำให้ผมได้รับเงินคืนประมาณสามพันบาท ผมดีใจมาก หลังจากนั้นประมาณ2สัปดาห์ก็มีเช็คคืนภาษีของสรรพากรส่งมาให้ผม และหลังจากที่ผมนำเช็คไปเข้าบัญชี และใช้เงินเรียบร้อยแล้ว ก็มีโทรศัพท์จากสรรพากรโทรมาหาผมบอกว่า ผมยื่นแบบเสียภาษีผิดประเภท ผมคิดในใจว่าต้องเป็นพวก 18มงกุฏหลอกลวงแน่ๆ จะมาไม้ไหน? พอคุยไปคุยมา ข้อมูลเริ่มแน่นขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องการให้โอนเงินแต่อย่างใด เขาบอกให้ผมไปยื่นแบบเสียภาษีใหม่ที่เดิม สรุปคือ ผมต้องไปยื่นใหม่และคืนเงินเช็คอันนั้นให้สรรพากร ยังไม่พอครับ และจากการคำนวนใหม่ผมต้องจ่ายภาษีเพิ่มด้วย(เงินก็ไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกด้วย) เท่านั้นยังไม่พอ การไปทำเรื่องใหม่ก็เท่ากับว่าต้องยื่นแบบเสียภาษีใหม่ซึ่ง ณ ตอนนั้นได้เกินกำหนดการยื่นแบบเสียภาษีแล้ว เท่ากับผมยื่นแบบเสียภาษีล่าช้า ต้องเสียค่าปรับอีก คราวนี้เจอ 3เด้งเลยครับ (เงินก็ไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ต้องจ่ายค่าปรับอีก โถ...ชีวิต...)

ล่าสุดปีนี้ผมก็ไปเสียภาษีมาเรียบร้อยแล้วครับ(เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศกับเขาซะด้วย) เมื่อวันที่ 29มีนาคมที่ผ่านมา(เนื่องจากวันหมดเขตการยื่นแบบฟอร์มเสียภาษีคือสิ้นเดือนมีนาคม) จึงมีคำถามตามมาว่าเป็นครูสอนโยคะต้องไปเสียภาษีด้วยหรือ? ใครเขาจะรู้ว่าครูสอนโยคะมีรายได้เท่าไหร่?

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอแบ่งการรับเงินค่าจ้างสอนโยคะออกเป็น 2แบบ ดังต่อไปนี้ คือ

1. การรับเงินค่าจ้างสอนโยคะ แบบที่ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย  ซึ่งการรับค่าสอนดังกล่าวมักจะเป็นแบบส่วนตัว(ไม่ได้จ้างผ่านบริษัท)
ข้อดี คือ ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย, ไม่มีใครทราบรายได้ของเรา,สามารถเรียกค่าสอนได้สูงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และอาจจะไม่ต้องไปยื่นแบบเสียภาษีหากเรารับค่าจ้างสอนแบบนี้เสียเป็นส่วนใหญ่
ข้อเสีย คือ อาจจะมีรายได้ที่ไม่ค่อยจะคงที่แน่นอน

2. การรับค่าจ้างสอนโยคะผ่านรูปแบบของบริษัท มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย บางที่ก็หัก3% บางที่ก็หัก5% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ นโยบายของฝ่ายบัญชีของแต่ละบริษัทที่ว่าจ้างเราไปสอน
ข้อดี คือ การรับงานในแบบที่ผ่านบริษัท มักจะมีการกำหนดวัน,เวลา การสอนที่ค่อนข้างชัดเจนแน่นอน ก็เท่ากับว่ารายได้ก็จะค่อนข้างแน่นอนด้วย
ข้อเสีย คือ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย, ราคาค่าสอนถูกกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจน(ค่าสอนโดยทั่วไปจะต่ำกว่าแบบ ที่1.)

หากเรารับค่าจ้างสอนแบบข้อแรกก็คงไม่มีใครทราบรายได้ของเรา และก็รับเงินเต็มๆ ไม่มีการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ครูสอนโยคะหลายๆท่าน มักเลือกที่จะรับงานสอนแบบส่วนตัว  แต่ถ้าหากเรารับเงินค่าจ้างสอนแบบข้อที่สอง บริษัทต่างๆที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของเราไป เขาก็จะต้องนำยอดที่หักและชื่อของผู้ที่ถูกหักภาษี ยื่นให้กับทางสรรพากร ดังนั้น ทางสรรพากร ก็จะมีข้อมูลรายได้ของเราที่ได้รับเงินจากบริษัทต่างๆเหล่านั้น
(อย่าคิดนะว่าไม่มีใครรู้)

หากผมได้ข้อมูลมาไม่ผิด ก็คือ หากเราไม่มีงานทำ(ตกงาน) ไม่มีรายได้ หรือ รายได้ต่ำกว่า15,000บาทต่อเดือน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา แต่ผมเชื่อว่าครูสอนโยคะใน กทม.ทั่วๆไปน่าจะมีรายได้มากกว่า15,000บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับว่าจะรับเงินแบบที่ไม่มีการหักภาษีหรือ รับเงินแบบที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

หากเรามีภาระ ต้องเลี้ยงดูบิดา, มารดา, ภรรยาและบุตร ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
                       ดอกเบี้ย จากการผ่อนบ้านหรือ คอนโดฯ จากธนาคาร ก็นำมาลดหย่อนได้
                       การทำประกันชีวิต ก็สามารถนำเบี้ยประกัน มาลดหย่อนได้
                       การซื้อกองทุนรวมก็สามารถ นำมาช่วยลดหย่อนได้
                       การบริจาคเงินทำบุญ บางแห่ง ก็สามารถนำมาช่วยลดหย่อนได้

ไอ้ที่ว่ามาทั้งหมดข้างบนนี้ ผมเอามาช่วยลดหย่อน หลายรายการ แต่ก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอยู่ดี(โถ...ชีวิต...)

จากการสอบถามเพื่อนร่วมวิชาชีพครูสอนโยคะหลายๆท่าน ผมจึงได้ทราบข้อมูลว่าหลายๆคนยังไม่เข้าใจเรื่องของการเสียภาษี หรือไม่บางคนก็แกล้งทำเป็นปิดหูปิดตาไม่รับรู้เรื่องเกี่ยวกับการเสียภาษีและไม่เคยคิดจะเสียภาษีเลย เท่ากับว่าเขาหล่านั้นได้หลีกเลี่ยงหน้าที่ของพลเมืองที่ดี และการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีก็เท่ากับว่าเราได้ทำผิดกฏหมายด้วย หากมีการตรวจสอบย้อนหลังก็อาจจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังพร้อมกับต้องเสียค่าปรับ(อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยล่ะครับ) แต่ก็คงไม่ใหญ่เท่ากับกรณีซุกหุ้น...(หาเรื่องซวยแล้วซิ)

มีคนบอกผมว่าการจะเป็นครูสอนโยคะที่ดีได้นั้น เราควรจะต้องเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติด้วย
และปีนี้คุณเสียภาษีแล้วหรือยัง?

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เงินภาษีที่ผมและพลเมืองดีทุกๆคนได้จ่ายให้กับภาครัฐนั้น จะช่วยให้ประเทศชาติของเราได้พบกับความสงบสุข...

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

5 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะครู

    อืมห์ เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากๆๆ เลยค่ะ

    อยากรู้มานานแล้ว เรื่องการเสียภาษี สำหรับ อาชีพ ครูโยคะ

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. สวัสดี รอบสองค่ะครู

    ตะกี้นี้ลืม

    ลูกสาวครู

    น่ารักมั่กๆๆ ถึงมากที่สุด

    พามาเล่นที่ออฟฟิส บ้างได้ไหมค่ะ

    รับรองจะอุ้ม (ไม่รู้ไหวหรือเปล่า 55)ชู ดูแล อย่างดี

    ขนมนมเนย รับรองไม่มีขาด


    บุญรักษาค่ะครู

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณที่คุณเป็นพลเมืองดี แต่ในไทยทำไมเขาสอนให้หลีกเลี่ยงภาษีก็ไม่รู้
    เสียภาษีน้อย หลีกเลี่ยงได้ ถือเป็นคนฉลาด คนเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายถือเป็นคนโง่
    ขนาดผู้(เคย)นำของประเทศยังทำ และยังภูมิใจในตัวเอง T_T
    รักมากมาย ที่มีครูที่ดีของสังคมค่ะ ยินดีที่ได้อ่านเรื่องราวของคุณนะค่ะ
    ปล.การหัก ณ ที่จ่ายเป็นการหักนำส่งสรรพากรตามกฎหมาย มิใช่นโยาบายบัญชีค่ะ

    ตอบลบ
  4. ถึงครูจิมมี่
    การรู้ถึงหน้าที่ตนเองและพึงปฏิบัติเป็นสิ่งที่ดี การแนะนำหรือสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติดีเป็นสิ่งที่ดีงามยิ่ง ถ้าจะให้แนะนำก็คงอยากให้ครูแบ่งปันเรื่องราวแบบนี้อีก ช่วยกันเติมทีละนิดครับ ขออนุญาตชื่นชมตรงๆแบบนี้ครับ / teera.jantipa@gmail.com

    ตอบลบ
  5. ถึงครูจิมมี่ ครับ
    การรู้ถึงหน้าที่ตนเองและพึงปฏิบัติเป็นสิ่งที่ดี การแนะนำหรือสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติดีเป็นสิ่งที่ดีงามยิ่ง ถ้าจะให้แนะนำก็คงอยากให้ครูแบ่งปันเรื่องราวแบบนี้อีก ช่วยกันเติมทีละนิดครับ ขออนุญาตชื่นชมตรงๆแบบนี้ครับ

    ตอบลบ

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger