เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

อาชีพครูสอนโยคะในทัศนะของแพทย์บางท่าน...


อาชีพครูสอนโยคะในทัศนะของแพทย์บางท่าน...

การที่ผมได้เลือกนำเสนอหัวข้อเรื่องนี้ มันก็มีเหตุล่ะครับ ปกติก็เคยแต่ได้ยินสมาชิกที่มาฝึกโยคะกับผมบางท่านเขามาพูดให้ฟังบ้าง ฟังจากคนบางกลุ่มที่เขาไม่ได้ฝึกโยคะบ้าง เขาเล่าลือต่อๆกันมาอย่างหนาหูว่า การฝึกโยคะน่ะเป็นอะไรที่อันตรายมากๆ หลายคนต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการบาดเจ็บต่างๆมากมายจากการฝึกโยคะ หลายๆคนกล่าวอ้างถึงสถานพยาบาลบางแห่งหรือแพทย์บางท่านที่ให้การยืนยันว่าการฝึกโยคะทำให้ผู้ฝึกหลายๆท่านได้รับบาดเจ็บจากการฝึก ซึ่งจากคำกล่าวอ้างได้บอกเล่าให้ได้ทราบข้อมูลว่า จะมีผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากการฝึกโยคะเข้ามารักษาพยาบาลเกือบทุกวันเลยก็ว่าได้ จนทำให้แพทย์บางคนในปัจจุบันนี้ถึงขั้นมองโยคะในแง่ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนักและแพทย์บางท่านก็ถึงขั้นกับต่อต้านการฝึกโยคะไปเลยก็มี(อันนี้เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาครับ แต่ยังไม่เคยได้เจอกับตัวเองแบบจังๆ)

วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงที่อากาศค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว จึงทำให้ร่างกายของเราบางครั้งก็ปรับตัวไม่ค่อยจะทัน จึงทำให้เราไม่สบายเอาง่ายๆ ซึ่งโดยอาชีพการสอนโยคะของผมแล้วการใช้เสียงมีความสำคัญอย่างมากต่ออาชีพ ดังนั้นในช่วงที่มีอาการเจ็บคอผมก็พยายามทำทุกวิถีทางล่ะครับ เพื่อให้หายเจ็บคอให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ เพราะถ้าหากไม่จำเป็นจริงๆเราก็ไม่อยากจะหยุดสอนหรอกครับ(เพราะว่าการหยุดสอนก็เท่ากับว่าเราต้องขาดรายได้ไปด้วยนั่นเอง)...จึงเป็นเหตุให้ผมมีความจำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์ ก็บอกอาการคุณหมอเขาไปตามอาการ ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยครับ การสนทนาระหว่างคุณหมอกับผมก็ทำท่าจะเข้ากันได้เป็นอย่างดี (คุยกันคล้ายๆจะถูกคอ...ว่างั้นเหอะ)

แต่มีบทสนทนาหนึ่งที่ผมพูดออกไปก็คือ " ผมจำเป็นต้องใช้เสียงในการสอนดังนั้น หากคุณหมอจะกรุณา ช่วยทำยังไงก็ได้แต่อยากให้เสียงกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด" คุณหมอจึงถามผมกลับมาว่า ขอโทษนะครับ คุณเป็นครูสอนอะไรเหรอครับ?" ผมก็ลังเลใจเล็กน้อยก่อนที่จะตอบไปว่า " ผมเป็นครูสอนโยคะครับ " (ตอบด้วยความภาคภูมิใจ...นิดหนึ่ง) คุณหมออึ้งไปแป๊บหนึ่ง ซึ่งเมื่อมองดูแล้วเหมือนคุณหมอคล้ายๆจะมีอะไรที่เก็บซ่อนไว้อยู่ในใจ และเพียงไม่กี่วินาทีในความเงียบนั้นเอง คุณหมอก็เปิดเผยความในใจหลังจากที่ได้ทราบถึงอาชีพของผม คุณหมอบอกกับผมว่าคุณหมอมีเพื่อนไม่ต่ำกว่าสี่คนที่รู้จักกันได้รับบาดเจ็บจากการฝึกโยคะ บางคนก็บาดเจ็บแค่เพียงเล็กน้อย แต่บางคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นกระดูกต้นคอเคลื่อนและไม่สามารถฝึกโยคะอีกต่อไปได้ เพื่อนๆร่วมวิชาชีพของคุณหมอหลายต่อหลายท่านด้วยกันที่รักษาอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก ต่างก็พูดถึงผู้ที่บาดเจ็บจากการฝึกโยคะให้คุณหมอฟังเป็นประจำ จนคุณหมอชักจะไม่ค่อยแน่ใจแล้ว่าการฝึกโยคะมันมีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน

พอมาถึงตรงนี้บทสนทนาระหว่างคุณหมอกับผมก็ค่อยๆเข้มข้นขึ้นมาทันทีล่ะครับ... หากเป็นภาพยนตร์ก็พูดได้เลยว่า ตอนต้นของเรื่องมันคล้ายๆจะเป็นคอมเมอร์ดี้ และแล้วก็พลิกผลันไปเป็นดราม่าซะอย่างงั้น... แต่ผมก็หวังลึกๆว่า...มันคงจะไม่เลยเถิดไปจบลงที่บทบู๊ล้างผลาญ, ทิลเล่อร์หรือสยองขวัญ, เขย่าขวัญ... แต่ถ้าจะใช้คำว่าบทสนทนา มันก็อาจจะไม่ค่อยชัดเจนสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว หลังจากที่คุณหมอทราบว่าผมเป็นครูสอนโยคะแล้วเท่านั้นหล่ะ ผมก็เป็นฝ่ายฟังคุณหมอยาวเลยล่ะครับ ก่อนที่ผมจะได้มีโอกาสพูด จำได้เลยว่า คุณหมอเขาบอกว่า "หมอขอถามนิดหนึ่งนะครับครู"

1.ครูสอนโยคะส่วนใหญ่เขาไปร่ำเรียนมาจากไหนกัน?
2.และต้องใช้ระยะเวลาเรียนกันนานเท่าไหร่?
3.หลักสูตรการเรียนเป็นครูสอนโยคะเป็นอย่างไร?
4.มีกระทรวง/ทบวง/กรม ใด...ทำหน้าที่รับรองหลักสูตรหรือรับรองครูผู้สอนบ้างไหม?
5.ทำไม๊? ทำไม? ถึงมีแต่คนบาดเจ็บจากการฝึกโยคะทุกวี่ทุกวัน...
(อันนี้ผมนำมาจัดแบ่งเป็นข้อเองล่ะ ซึ่งในความจริงมันมาติดกันเป็นชุดยาวเชียว)

ดีนะเนี่ย ที่คุณหมอเขาถามนิดเดียว...ถ้าถามเย๊อะ สงสัยผมเสียชีวิตแน่ๆ...แต่ละคำถามจี๊ดๆทั้งนั้นเลยล่ะครับ แต่ผมก็คิดในใจว่า...ถูกต้องแล้วที่วันนี้คุณหมอได้มาเจอกับครูสอนโยคะอย่างผม เพราะถือได้เลยว่าเป็นคู่สนทนาที่ถูกคู่ถูกคนเลยทีเดียว และคิดว่าคุณหมอน่าจะได้คำตอบเกี่ยวกับการฝึกและการสอนโยคะที่ชัดเจนอย่างมากในวันนี้หลังจากที่ได้สนทนากับผมแล้ว...ผมก็ต้องทำการแนะนำถึงประวัติและข้อมูลเกี่ยวกับโยคะของผมให้คุณหมอทราบพอควร เมื่อคุณหมอได้ทราบข้อมูลของตัวผมแล้ว หน้าตาคุณหมอสีหน้าแววตาดูดีขึ้นมาเล็กน้อยจากเดิม คล้ายๆจะบ่งบอกเป็นนัยๆว่าคุณหมอได้มาเจอครูโยคะถูกคนแล้ววันนี้...ว่าแล้วจากคำถามดังกล่าวที่คุณหมอได้ซักถามมา ผมก็ค่อยๆไขข้อสงสัยของคุณหมอทีละข้อ ทีละข้อ...

สำหรับข้อแรก บอกได้ยากมากเพราะคำถามค่อนข้างกว้างครับ ครูโยคะในบ้านเราปัจจุบันนี้มีเย๊อะแย๊ะมากมาย
1.หลายๆท่านดั้นด้นไปเรียนมาจากอินเดีย ประเทศที่ถือว่าเป็นต้นตำหรับและจุดกำเนิดของศาสตร์แห่งโยคะ ซึ่งมีศูนย์ฝึกโยคะหลายๆสถาบันเป็นที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก(ซึ่งก็ต้องเลือกดูสถาบันที่จะไปเรียนให้ดีๆเช่นกัน ไม่ใช่สักแต่เพียงไปเพื่อให้ได้ชื่อว่าไปเรียนมาจากอินเดีย)
2.หลายๆท่านก็อาจจะเรียนจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากองค์กรโยคะต่างๆ ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก(พูดง่ายๆมีเกือบทุกประเทศเลยล่ะครับ ต่างกันก็ตรงที่องค์กรใดรับรองสถาบันเท่านั้นเอง) อันนี้ก็ต้องเลือกดูให้ดีๆอีกเช่นกัน เพราะบางที่บางแห่งก็เปิดเอง สอนเอง กำหนดหลักสูตรขึ้นเอง โดยไม่มีองค์กรโยคะใดมารับรองหลักสูตร
3.หลายๆท่าน อาศัยการเรียนรู้จดจำและฝึกฝนสืบต่อกันมาจนเกิดเป็นความชำนาญส่วนตัวและก็นำทักษะดังกล่าว มาสอนต่อให้ผู้อื่น(ซึ่งในกรณีนี้ก็คงไม่มี การรับรองอะไรทั้งสิ้นล่ะครับ) อันนี้ต้องระวังให้ดี ซึ่งจริงๆแล้วควรจะต้องไปเรียนให้เป็นไปตามขั้นตอนตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากองค์กรโยคะนานาชาติ

ข้อที่สอง หลักสูตรโดยมาตรฐานสากลที่องค์กรโยคะระดับนานาชาติส่วนใหญ่ยอมรับกัน ขั้นต่ำต้องเรียน 200ชั่วโมง ล่ะครับ ซึ่งใน 200ชั่วโมงนั้น ก็จะต้องถูกควบคุมให้ได้มาตรฐานด้วยการถูกกำหนดหลักสูตรและหัวข้อของการสอนตามที่องค์กรโยคะนานาชาติเขากำหนด และตัวผู้ที่จะสอนหลักสูตรนี้ได้ก็จะต้องได้รับการรับรองจากองค์กรโยคะนานาชาติเสียก่อนด้วย

ข้อที่สาม เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ดังนั้นโดยทั่วๆไปแล้ว หัวข้อที่จะเรียนก็คือ 1.ปรัชญาโยคะ ประวัติ, ความเป็นมา, หัวใจสำคัญของโยคะ, กิริยาโยคะ, เทคนิคต่างๆของโยคะและปราณยามะ(ลมหายใจ)  2.เทคนิคและวิธีการสอนโยคะ  3. กายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยาสำหรับการฝึกโยคะ และก็ยังมีหัวข้ออื่นๆอีก

ข้อที่สี่ ในปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มี กระทรวง ทบวง กรม ใด ออกมากำหนดกฏเกณฑ์หรือควบคุมสถาบันเกี่ยวกับโยคะและครูสอนโยคะ นี่แหล่ะครับที่ผมคิดว่าเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้มาตรฐานของครูและสถาบันสอนโยคะต่างๆ ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่ทราบได้ว่าเมื่อไหร่จึงจะมีองค์กรที่ควบคุมมาตรฐานครูและสถาบันสอนโยคะในเมืองไทย(อาจจะต้องมีผู้ฝึกโยคะบาดเจ็บมากกว่านี้หรือเสียชีวิตจากการฝึกเสียก่อนก็เป็นได้) แต่ครูสอนโยคะหลายๆท่านในเมืองไทยของเราเมื่อได้เรียนจบหลักสูตรของการเป็นครูสอนโยคะแล้ว ก็ได้ทำการขึ้นทะเบียนการเป็นครูสอนโยคะอย่างถูกต้องกับองค์กรโยคะนานาชาติ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและรับรองในการประกอบอาชีพครูสอนโยคะ เนื่องจากในเมืองไทยยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรเกี่ยวกับโยคะ

ข้อสุดท้าย  อันนี้พูดยากครับ เนื่องจากครูสอนโยคะในบ้านเราทุกวันนี้ พูดตามตรงเลยครับไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไปร่ำเรียนมาจากไหนกับบ้างก็ไม่รู้ อันนี้ตามที่ผมได้บอกไปตามข้อแรกล่ะครับ ซึ่งที่น่ากลัวที่สุดน่าจะเป็นอันที่3.ล่ะครับ เรียนแบบไม่มีแบบแผน ไม่มีการรับรอง แต่อันนี้ถ้าจะพูดกันจริงๆมันก็พูดยากครับ เพราะการออกกำลังกายทุกประเภทรวมจนถึงการฝึกโยคะมันเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากการฝึกด้วยกันทั้งนั้นล่ะครับ แต่เนื่องจากว่าในปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจในการฝึกโยคะอย่างมากมาย ดังนั้นเมื่อมีจำนวนคนฝึกเย๊อะโอกาสที่จะมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นตามมาด้วยก็เป็นไปได้สูงเช่นกันล่ะครับ

คุณหมอก็เลยคุยกับผมว่า...แล้วมันพอจะมีแนวทางอะไรบ้างในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลดลงหรือหมดไป?
ไอ้ลดลงเป็นไปได้ครับ...แต่หมดลงไปเลยคงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ...องค์ประกอบสำคัญๆที่จะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลงก็คือ
1.ภาครัฐฯ   2.สถานประกอบการต่างๆ   3.ครูสอนโยคะ   4.ผู้บริโภค(ผู้ฝึกโยคะ)

ภาครัฐฯ อาจจะต้องออกมามีบทบาท ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคอยควบคุมดูแล และกำหนดกฏเกณฑ์ ขึ้นมาให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อความสบายใจของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโยคะในบ้านเรา

สถานประกอบการ ควรเลือกพิจารณาครูผู้สอนโยคะที่ได้ผ่านการเรียนมาตามขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน เข้ามาสอนในสถานประกอบการของตน (ซึ่งสถานประกอบการบางแห่ง เน้นการจ่ายค่าสอนแบบราคาประหยัดจึงไม่สนใจที่จะต้องเลือกครูที่มีมาตรฐาน ขอให้เพียงแค่สอนได้และพอใจกับค่าตอบแทนที่สถานประกอบการจ่ายให้ก็เป็นพอ ตรงนี้จึงควรจะต้องมีการควบคุมจากภาครัฐฯเข้ามาช่วย) ซึ่งในส่วนนี้หากสถานประกอบการทุกแห่งต่างมีจรรยาบรรณก็ควรจะให้ความสำคัญกับผู้บริโภคควบคู่ไปกับผลประกอบการด้วย จึงควรคัดเลือกครูสอนโยคะที่มีมาตรฐานเข้ามาทำงานในสถานประกอบการของตน

ครูสอนโยคะ พึงระลึกเสมอว่าอาชีพที่ทำอยู่นี้ มีโอกาสทำให้ผู้อื่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นการจะมาทำอาชีพนี้ได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการเรียนรู้และผ่านการฝึกฝนอย่างถูกต้องเป็นขั้นเป็นตอน จากสถาบันที่ได้รับการรับรองตามมตรฐานสากล ต้องรู้และเข้าใจการป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึกโยคะเป็นอย่างดี มีจรรยาบรรณในวิชาชีพครูสอนโยคะ ควรมีการซักถามข้อมูลสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้เข้าคลาสเรียนกับเราก่อนที่จะทำการสอนทุกครั้ง เพื่อที่ผู้สอนจะได้รู้ว่ามีใครบ้างในคลาสของเราที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพและอาจจะต้องหลีกเลี่ยงการฝึกท่าบางท่า หากจำเป็นที่จะต้องสอนท่าโยคะที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะบาดเจ็บก็อาจจะมีทางเลือกหลายๆทางให้ผู้ฝึกได้เลือกตัดสินใจตามความเหมาะสม ไม่ควรให้ผู้ฝึก ฝึกอย่างหักโหมเกินขีดความสามารถ และควรเน้นเรื่องของความปลอดภัยในการฝึกเป็นสำคัญ

ผู้บริโภค(ผู้ฝึกโยคะ) ควรเลือกและตัดสินใจให้ดีว่าสถานประกอบการที่เราเลือกเข้าไปใช้บริการและครูที่เราจะไปเรียนด้วยนั้นได้มาตรฐานผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล ดังนั้นจึงควรสืบหาข้อมูลให้ดีๆก่อนที่จะตัดสินใจ ที่สำคัญที่สุดคือควรจะรู้จักกะประมาณศักยภาพและขีดความสามารถของตัวเราเองเป็นสำคัญ หากมีอาการบาดเจ็บหรือปัญหาสุขภาพใดๆก็ควรแจ้งให้ครูผู้สอนโยคะในคลาสนั้นๆทราบก่อนการสอนทุกครั้ง และอย่าหักโหมฝึกจนเกินขีดความสามารถของตนเองเพราะมันจะเป็นการนำท่านไปสู่การบาดเจ็บได้ในที่สุด

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแนวคิด ที่ผมเชื่อว่าหากเราทำตามแนวทางดังกล่าวก็คงจะช่วยลดปริมาณของผู้ฝึกโยคะที่บาดเจ็บจากการฝึกให้ลดน้อยลงได้บ้างไม่มากก็น้อย

และแน่นอนที่สุด คงไม่มีใครหรอกครับ ที่อยากจะให้ผู้อื่นมองอาชีพที่เราทำอยู่ในแง่ลบ งานทุกสาขาอาชีพล้วนแล้วแต่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ตามความเป็นจริงแล้วมันก็คงจะอดไม่ได้หรอกครับที่อาจจะต้องมีบ้างกับการผิดพลาดบางประการในอาชีพที่เราคิดว่าเราชำนาญดีแล้ว จนเป็นเหตุให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการในอาชีพของเราต้องเกิดปัญหาและได้รับผลกระทบบางอย่างขึ้นบ้าง  ขอพูดนิดหนึ่งเช่นกันครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วอาชีพหมอนี่ เราก็เห็นเป็นข่าวไม่น้อยเช่นกัน หลายต่อหลายครั้งที่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับแพทย์,โรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคผิดพลาด และอื่นๆ(จากตรงนี้ ผมจากที่ดูจะเพรี่ยงพร้ำเสียบเปรียบอยู่นาน ก็เลยพลิกกับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบซะงั้น และเล่นเอาคุณหมอถึงกับอึ้ง...งงไปเหมือนกัน)

และหากมีคนมาถามผมว่า ผมเคยทำให้ใครได้รับบาดเจ็บจากการสอนโยคะของผมบ้างไหม? ก็คงต้องตอบแบบตรงไปตรงมาเลยว่า...เคยแน่นอนครับ และผมก็คงไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ฝึกกับเราและได้รับบาดเจ็บจากการสอนของเรามักไม่กลับมาบอกเราตรงๆ แต่จะหายจากคลาสของเราไป และอาจจะไปพูดให้คนอื่นๆฟังว่าบาดเจ็บจากการเรียนกับเรา(นี่แหล่ะครับ เป็นพฤติกรรมของผู้ฝึกโยคะชาวไทย ที่ผู้เป็นครูสอนโยคะควรจะต้องทราบเอาไว้) และในที่สุดคำพูดที่ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆก็จะกลับมาหาตัวเราในที่สุด และเมื่อไหร่ก็ตามที่มันกลับมาหาเรา เราจะรู้สึกไม่สบายใจ คล้ายๆละอายกับสิ่งที่ได้ทำลงไปโดยไม่ตั้งใจ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ค่อยเข้าไปช่วยจัดท่าให้ใครโดยไม่จำเป็น เพราะบางครั้งมันอาจจะเป็นผลเสียมากกว่าที่เราคิดไว้ (การจะเข้าไปช่วยจัดท่าให้ผู้ฝึกผมจะต้องมั่นใจมากๆว่ามันจะไม่สร้างผลกระทบในภายหลัง ผมจึงจะเข้าไปช่วยจัด)

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หากผู้ฝึกบาดเจ็บจากการฝืนร่างกายตนเองก็คงเป็นเรื่องปกติซึ่งเมื่อเกิดการบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าวแล้วก็อาจจะแค่กลับไปพักฟื้นเลียแผลตนเองและตำหนิตนเองในใจ(ประมาณว่าสิ่งแวดล้อมพาไปจิตใจจึงสั่งให้ร่างกายทำตามแบบไม่รู้ตัว พอมารู้สึกตัวอีกที...ก็บาดเจ็บไปซะแล้ว) การบาดเจ็บที่จะทำให้ผู้ฝึกโยคะรู้สึกเลวร้ายที่สุดก็คือ การได้รับบาดเจ็บจากการที่ครูผู้สอนเข้าไปช่วยจัด ช่วยจับ ช่วยดัด จนเกินขีดความสามารถของผู้ฝึกและนำไปสู่การบาดเจ็บในที่สุด

สิบนิ้วย่อมรู้พลาดนักปราชญ์ย่อมรู้พั้ง หากการเข้าไปช่วยจัดท่าฝึกโยคะของผม อาจจะไปทำให้ผู้ฝึกโยคะบางท่านได้รับบาดเจ็บ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผม ซึ่งต้องเรียนให้ทราบตามตรงว่าผมไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เกิดเรื่องแบบนั้นแน่ๆ และไม่อยากทำให้ใครได้รับบาดเจ็บจากการสอนโยคะของผม  หากการสอนโยคะของผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการไปทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้ฝึกโยคะบางท่านที่เคยเข้าร่วมคลาสเรียนโยคะของผม  ผมต้องขอถือโอกาสนี้...กราบประทานอภัยทุกๆท่านที่อาจล่วงเกินท่านไปโดยที่ไม่ได้เจตนา...

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกโยคะจะมีจำนวนลดน้อยลงในเร็ววัน...

ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับผู้ฝึกโยคะทุกๆคนและผมตลอดไป...

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com. โดยค้นหาจาก คำว่า Jimmy Yoga หรือ e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ขออุทิศบทความนี้ แด่ ครูสอนโยคะและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกโยคะทุกๆท่าน...

6 ความคิดเห็น:

  1. บอกให้แสดงความคิดเห็นก็จะแสดงค่ะ

    ตัวเองเคยฝึกโยคะมาแล้วกับครูหลายท่านค่ะ หลายๆ ท่านก็มีส่วนทำให้บาดเจ็บจริงๆ โชคดีที่ตัวเองรำ่เรียนมาทางด้านการเต้น เคยชินกับการใช้ร่างกายตัวเอง ก็เลยรู้จักเซฟตัวเองเป็น ไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บถ้าไม่จำเป็น แต่มีเจ็บตัวอยู่ครั้งนึงจากครูอินเดียที่ฟิตเนสแห่งความจริง (อิอิอิ) ทำท่าธนู แล้วเขาจับขาจับมือเรายกขึ้นลอยจากพื้น แล้วแกว่งไปแกว่งมาดูน่าสนุก ฮือฮากันทั้งห้อง (แต่ตรูเจ็บเฟ้ย)

    สิ่งหนึ่งที่ครูหลายคนบอกคือ .. เราน่ะ เป็นคนตัวอ่อนนะ ตัวอ่อนอย่างนี้เป็นครูโยคะได้สบายเลย เฮ้ย! โยคะนะ ไม่ใช่ยิมนาสติกจะได้วัดกันที่ความตัวอ่อน ตอนนั้นเราไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับโยคะเท่าไหร่ อยู่ที่ว่าเล่นแล้วสนุกดี ทำท่าได้ สะใจ พอมีคนยุให้ไปเป็นครูเลยคิดจะเรียนจริงๆ จังๆ พอไปเรียน ไปศึกษามาแล้วนั่นแหละ ถึงกล้าสอน แต่ก็ยังไม่พอ ต้องเรียนอีก ต้องรู้อีก เรียนไปไม่มีที่สิ้นสุด

    มันเกี่ยวกับตรงนี้ยังไง ก็ตรงที่ว่า มันแสดงว่ายังมีทัศนคติของคนจำนวนไม่น้อยว่า "ใครตัวอ่อนก็เป็นครูโยคะได้" แต่คนตัวอ่อนไม่ใช่ว่าจะรู้วิธีสอนทุกคน ไม่รู้ว่าท่าไหนใครทำได้ ใครทำแล้วอันตราย พวกนี้ต้องเรียนต้องศึกษาถึงรู้ คนไม่น้อยก็วิ่งเข้าหาครูที่ตัวอ่อน ยิ่งตัวอ่อนยิ่งเก่ง นั่นแหละ เลยพากันบาดเจ็บกันเข้าไปใหญ่

    เรื่องจัดระเบียบโยคะ ให้ภาครัฐเข้ามาดูแลนี่ไม่รู้จะฝากความหวังกันได้แค่ไหน จะใช้อะไรเป็นตัววัด ถ้ามีได้ก็ดี แต่กว่าจะถึงตรงนั้น สงสัยว่าเส้นทางจะอีกยาวไกล

    ตอบลบ
  2. ผมก็เป็นครูสอนโยคะอีกคนหนึ่ง ที่เคยเข้าไปช่วยผู้ฝึกให้ทำท่าธนูอาสนะให้ได้มากขึ้นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคุณมีมี่เหมือนกัน แต่ตรงจุดนั้นผมจะถามความสมัครใจของผู้ฝึกก่อนเป็นอันดับแรก
    และเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ว่าการจะเป็นครูสอนโยคะได้นั้น "ไม่ใช่แค่เพียง ตัวอ่อน จดจำท่าต่างๆได้เย๊อะ ทำท่าได้สวย ทำท่ายากๆผาดโผนได้เย๊อะ" ที่สำคัญมากๆผู้ที่สอนโยคะควรต้องมีจรรยาบรรณและจิตวิญญาณของความเป็นครู รวมจนถึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ฝึกเป็นสำคัญ

    ตอบลบ
  3. สมกับเป็นบทความแห่งปี

    คุ้มค่ากับการรอคอยมากค่ะ


    เห็นด้วยที่สุดว่า

    ก่อนจะเป็นครู

    ควรจะเข้ารับการฝึกอบรมก่อน

    ไม่ใช่ อาศัย ความชำนาญ หรือ ตัวอ่อน ก็สอนได้

    อย่างน้อยขอให้รู้เรื่อง ภายวิภาค บ้างก็ยังดี

    เวลาจัดท่าให้นักเรียนจะได้ดูถึงความสามารถของร่างกายว่าไปได้แค่ไหน

    ไม่ใช่ เอาที่ครูพอใจ จะให้ไปได้อ่ะ


    เป็นนักเรียนที่ได้รับการบาดเจ็บจาก คลาส ของ ฟิตเนสแห่งความจริง เหมือนกันค่ะ

    เหมือน จะฮา แต่ เศร้าน่ะนี้


    ส่วนสาเหตุ ที่นักเรียนมักเลือกที่จะไม่เข้าไปบอก กับครูผู้สอนตรงๆ ว่า

    บาดเจ็บจากคลาสน่ะ

    what go round what come round น่ะค่ะครู

    ใช่ว่า ครูทุกคนจะใจกว้าง รับฟังเสมอไป

    เพราะถ้าเค้ายอมรับถึงสภาพร่างการนักเรียนแต่แรก มีวิธีการสอนที่ถูกต้อง

    คงไม่มีเหตุการณ์ member บาดเจ็บเกิดขึ้นหรอกใช่ไหมค่ะ

    หรือครูคิดว่าไง

    ปอลิ่ง ไม่เคย overdo ค่ะ และบอกเงื่อนไขร่างกายตัวเองให้ครูผู้สอนฟังเสมอ

    แต่ก็ยังได้รับบาดเจ็บจากการที่ครูบางคนไม่ยอมเข้าใจเรา

    และจะให้ทำอย่างไร ค่ะ นอกจากไม่เข้าคลาสนั้นอีก

    ตอบลบ
  4. ขอแสดงความเห็นบ้างค่ะ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ฝึกโยคะด้วยเหมือนกัน เล่นมาประมาณ3ปีกว่าแล้ว แต่ไม่ได้เป็นคนตัวอ่อนมากนะคะ แต่มีConceptของตัวเองว่า เล่นโยคะเพื่อให้เรามีสมาธิมากขึ้น อยู่กับตัวเองขณะเล่นให้มากสุด ซึ่งเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะประมาณ 1-2ชั่วโมง ใช้ลมหายใจเป็นตัวนำทาง ส่วนการใช้ร่างกายขณะฝึกนั้น ควรวางalignmentให้ถูก แต่อย่าฝืนร่างกายตัวเองเด็ดขาด ซึ่งจะนำไปสู่การบาดเจ็บ บางครั้งเราเล่นหลายวันหรือหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็จริง แต่ร่างกายคนเรานั้นใช่ว่าจะเต็มร้อยทุกชั่วโมงของการฝึกซะเมื่อไหร่ เราอาจจะพักผ่อนไม่เพียงพอ ทานอาหารที่ไม่ให้พลังงานและกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายในแต่ละวันที่เกิดขึ้น ฉะนั้น เราควรฝึกโยคะเท่าที่ร่างกายจะรับได้ในเวลานั้นๆ ที่สำคัญคืออย่าฝืนร่างกายของเราเองเด็ดขาด ทำได้แค่ไหน ก็เอาแค่นั้นก่อน ค่อยๆฝึกไปเรื่อยๆ เมื่อร่างกายเราเองพร้อมเต็มที่แล้ว เดี๋ยวจะทำได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องฝืน ส่วนใช้เวลานานแค่ไหน อยู่ที่การฝึกฝนนะคะ แต่ถ้าฝึกแล้วทำให้ตัวเองบาดเจ็บเมื่อไรแล้วล่ะก้อ อาจจะต้องเริ่มต้นใหม่ของการฝึกก็เป็นได้นะ...

    ตอบลบ
  5. ในฐานะที่อยู่ในอเมริกาก็อยากเห็นทางหน่วยงานภาครัฐหันมาให้ความใส่ใจจริงจังในด้านเหล่านี้ด้วยอย่างยิ่งนะคะ ที่อเมริกานี่การบาดเจ็บไม่ว่าจากอะไรก็ตามเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกหน่วยงานระมัดระวังกันมากที่สุด การพิการ การเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ไม่มีวันยุติได้ง่ายๆ การที่ใครสักคนจะมาเป็นผู้ฝึกสอนไม่ว่าจะสอนอะไร โยคะใดๆก็ตาม คนๆนั้นจะต้องมีการได้รับการฝึกและเรียนมาจนจบได้มาตรฐานของเขาและสอบผ่านได้ใบอนุญาตประกอบอาชีพได้ ไม่ใช่ใครก็ตั้งตัวเองเป็นผู้สอนเองได้เลย เพราะสิ่งเหล่านี้มันส่งผลในหลายๆด้านต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค,ผู้ฝึกเรียน หากเกิดปัญหาแล้วพบว่าเป็นความผิดพลาดในส่วนของผู้ฝึกสอนแล้ว คนผู้นั้นจะถูกถอดถอนใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพทันที หากดันทุรังแอบทำก็จะมีผู้รู้นำเข้าแจ้งตำรวจ

    ตอบลบ
  6. ผมเป็นโยคีชอบกินยาแก้ไอโยคี

    ตอบลบ

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger