ทำไมผู้ฝึกโยคะ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำท่าโยคะอาสนะเพื่อการบริหารและเปิดข้อต่อสะโพก
ในชีวิตการฝึกโยคะของพวกเราทุกๆคน น่าจะมีอยู่บ้างล่ะครับ ที่หลายครั้งหลายคราของการฝึกโยคะ ทำให้เรามักจะมีคำถามต่างๆนานาเกิดขึ้นมาอย่างมากมายภายในจิตใจของเรา ผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งล่ะครับที่มักจะมีคำถามต่างๆในใจเสมอ มันเคยเกิดขึ้นกับผมเป็นประจำในขณะที่ผมกำลังฝึกโยคะ ซึ่งแน่นอนครับ ณ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมเพิ่งจะเริ่มฝึกโยคะได้เพียงไม่นานสักเท่าไหร่นัก
มีอยู่ครั้งหนึ่งในขณะที่ผมกำลังฝึกท่าโยคะอาสนะต่างๆตามที่ครูผู้สอนเขานำเสนอในคลาส มาจนกระทั่งถึงท่าอาสนะจำพวกที่จะต้องบริหารและเปิดข้อต่อสะโพก ด้วยความที่ว่า ณ ตอนนั้นผมเองก็เป็นผู้ชายทั่วๆไปที่มีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อสะโพกค่อนข้างที่จะน้อยถึงน้อยมากๆ ผมจึงมีปัญหาพอสมควรกับการทำท่าโยคะอาสนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ และในเมื่อผมทำไม่ค่อยได้ มันก็เลยทำให้ผมเกิดความคิดต่อต้านท่าอาสนะในกลุ่มบริหารและเปิดข้อต่อสะโพกขึ้นมาจิตใจ และพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ค่อยอยากทำท่าอาสนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในขณะที่ไปเข้าคลาสเรียนโยคะหรือแม้นกระทั่งฝึกตามลำพังด้วยตนเองก็ตาม
ณ ช่วงเวลานั้นเอง จึงทำให้ผมเกิดมีคำถามขึ้นมาในใจว่า “ทำไม๊...ทำไม..ผู้ฝึกโยคะอย่างเราๆเนี่ย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำท่าโยคะอาสนะเพื่อการบริหารและเปิดข้อต่อสะโพก” (คิดว่าหลายๆท่านที่ฝึกโยคะ ก็น่าจะมีความรู้สึกสงสัยเกิดขึ้นบ้างในบางช่วงจังหวะเวลาของการฝึกโยคะ อย่างที่ผมเคยเป็นนี้) จากคำถามในใจดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้ผมพยายามศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล จนพอจะรวบรวมข้อมูลต่างๆมาประติดประต่อได้ว่า
หากพวกเราได้ศึกษาและทราบถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการฝึกโยคะแล้ว พวกเราก็คงจะพอทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า “ฌาณหรือสมาธิ คือเป้าหมายสูงสุดของโยคีผู้ที่บำเพ็ญเพียรฝึกโยคะในอดีตกาล” ดังนั้นท่าโยคะอาสนะที่มีความสำคัญและสนับสนุนส่งเสริมให้เราไปถึงเป้าหมายสูงสุดของการฝึกโยคะคงจะหนีไม่พ้น “ท่านั่งขัดสมาธิเพ็ชร” หรือ “ท่านั่งปัทมาอาสนะ” Padmasana (Lotus Sitting Pose)
ปัจจัยที่ทำให้ท่านั่งปัทมาอาสนะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาผู้ฝึกโยคะไปสู่ฌาณสมาธิ ก็คือ การนั่งขาขัดกันในลักษณะดังกล่าวนี้ จะช่วยล็อคกระดูกอุ้งเชิงการ(กระดูกสะโพก)ของเราให้นิ่งมั่นคง และช่วยทำให้แนวกระดูกสันหลังส่วนล่างของเราตั้งตรง ซึ่งเมื่อหลังส่วนล่างของเราถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งตรงถูกต้องตามหลักสรีระวิทยาแล้ว ท่าทางดังกล่าวนี้จะช่วยลดแรงกดที่เกิดขึ้นกับแนวกระดูกสันหลังส่วนล่างอันเนื่องมาจากน้ำหนักของร่างกายส่วนบนผสมกับแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งส่งผลทำให้เราสามารถนั่งทำสมาธิในท่านี้ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยที่ไม่ปวดเมื่อยหลัง
นอกจากนี้แล้วยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกที่จะช่วยสนับสนุนให้เราสามารถนั่งในท่าปัทมาอาสนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน นั่นก็คือการที่เราจำเป็นจะต้องมีความแข็งแรงควบคู่กับความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆในร่างกายของเรา เช่น กล้ามเนื้อบริเวณขา, ลำตัว, ข้อเท้า, หัวเข่า, สะโพก และแนวกระดูกสันหลัง ด้วยเหตุนี้เองบรรดาโยคีในอดีตกาลทั้งหลาย จึงมีแนวคิดในการที่จะค้นคว้าหาท่วงท่าต่างๆมาช่วยบริหารกล้ามเนื้อและข้อต่อในบริเวณดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการนั่งในท่าปัทมาอาสนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
เป็นที่ยอมรับกันเป็นอย่างดีว่า ชาวเอเชียอย่างเราๆนี้มักจะมีพื้นฐานความสามารถของการยืดหยุ่นร่างกายที่ดีกว่าชาวทวีปอื่นๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเลยครับ หากวันหนึ่งเราพบว่าเพื่อนของเราบางคน สามารถนั่งในท่าปัทมาอาสะได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วยการอบอุ่นร่างกาย และเพื่อนของเราคนนี้ก็อาจจะไม่เคยเรียนโยคะมาก่อนเลยด้วยซ้ำไป ซึ่งตรงข้ามกับบางคนที่อาจจะต้องใช้เวลาอย่างยาวนานมากๆกว่าจะประสบความสำเร็จในการนั่งในท่าปัทมาอาสนะ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทำให้ผมกลับมาเพียรพยายาม ทำการฝึกท่าโยคะอาสนะเพื่อช่วยในการบริหารและเปิดข้อต่อสะโพกอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมุ่งหวังเพียงว่าผมจะสามารถนั่งทำสมาธิในท่าปัทมาอาสนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนานแบบไม่ต้องมีอาการปวดหลัง ตัวผมเองนั้นก็ไม่ได้หวังว่ามันจะเป็นการทำให้ผมไปถึงขั้นของการบรรลุสู่ฌาณหรือสมาธิ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการฝึกโยคะหรอกน่ะครับ เพียงเพราะว่าผมรู้สึกได้ถึง ความสุข ความอิ่มเอมใจ ที่ได้นั่งนิ่งสงบผ่อนคลายความคิดจิตใจอยู่ในท่าปัทมาอาสนะนี้ ซึ่งแน่นอนครับคุณเองก็สามารถสัมผัสถึงประสบการณ์ดังกล่าวนี้ได้อย่างไมยากเย็นอะไรนักหากคุณมีความตั้งใจจริง...
หากจะถามผมว่า มีท่าโยคะอาสนะพื้นฐานท่าใดบ้างที่จะช่วยเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความแข็งแรงควบคู่ไปกับความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อสะโพก เพื่อที่จะนำเราไปสู่การนั่งในท่าปัทมาอาสนะได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผมต้องขอเรียนให้ทราบกอ่นเลยว่า เนื่องจากข้อต่อสะโพกของเราเป็นลักษณะของลูกบอลที่อยู่ในเบ้า(Ball and Socket Joint) ดังนั้นข้อต่อสะโพกจึงสามารถเคลื่อนไหวไปได้เกือบจะทุกฟังก์ชันของการเคลื่อนที่เลยครับ(หมุนไปได้หลายทิศทาง) บอกได้เลยว่าครอบคลุมท่าฝึกโยคะอาสนะอยู่มากมายหลากหลายท่าเลยล่ะครับ แต่เนื่องจากผู้ฝึกโยคะแต่ละท่านก็จะมีข้อจำกัดต่างๆ โครงสร้างร่างกาย รวมจนถึงอาการผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บในส่วนต่างๆของร่างกายที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผมจึงอยากเรียนแนะนำให้ผู้ฝึกที่มีความสนใจในการฝึกโยคะอาสนะเพื่อการบริหารและเปิดข้อต่อสะโพก ควรจะฝึกภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการฝึกโยคะน่าจะเป็นผลดี และมีประสิทธิภาพในการฝึกที่ดีกว่า และเมื่อเราเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญจนเข้าใจชัดเจนแล้วจึงค่อยกลับมาฝึกด้วยตัวเราเอง
ผู้ที่มีปัญหา อาการบาดเจ็บบริเวณ ข้อเท้า, หัวเข่า, สะโพก ควรหลีกเลี่ยงการฝึกทำท่าโยคะอาสนะเพื่อการบริหารและเปิดข้อต่อสะโพก รวมจนถึงท่านั่งปัทมาอาสนะ หรือควรฝึกภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการฝึกโยคะเท่านั้น
ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง
นมัสเต,
จิมมี่โยคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ