เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โยคะ กับภาษาสันสกฤต และพุทธประวัติ

โยคะ กับภาษาสันสกฤต และพุทธประวัติ

สิ่งหนึ่งในการฝึกโยคะของพวกเราทั้งหลาย คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นกับการที่จะต้องได้ยินได้เจอชื่อท่าโยคะอาสนะที่ฟังไม่ค่อยคุ้นหู ศัพท์ฟังดูคล้ายๆจะเป็นราชาศัพท์แต่ก็ไม่ใช่ ออกเสียงคล้ายๆภาษาไทยแต่ก็ไม่เชิง สิ่งนี้ก็คือภาษาสันสกฤตนั่นเอง

ด้วยความที่ว่าผมมีอาชีพเป็นครูสอนโยคะ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจคำศัพท์ชื่อท่าโยคะอาสนะต่างๆเหล่านี้บ้าง(ถึงแม้นจะเป็นแบบงูๆปลาๆก็ตาม) ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ที่เป็นครูสอนโยคะทั้งหลายต่างก็คงพอจะทราบกันดีและปวดหัวกับสิ่งนี้ไม่ใช่น้อย  ครูบางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดชื่อท่าอาสนะต่างๆเป็นภาษาสันสกฤตแต่ขอเรียกชื่อท่าเป็นภาษาอังกฤษแทน(ก็แล้วแต่ความถนัดล่ะครับ มันไม่ใช่อะไรที่เราคุ้นเคย) แต่บางคนก็เลือกที่จะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามแต่

โดยส่วนตัวของผมกับภาษาสันสกฤตนี้ ผมเลือกที่จะศึกษาด้วยตนเองและพยายามทำความเข้าใจกับมัน ก็เหมือนท่องศัพท์ภาษาอังกฤษตอนสมัยเด็กๆล่ะครับ พยายามออกเสียงศัพท์ต่างๆและความหมายของศัพท์ต่างๆเหล่านั้นควบคู่กันไป ซึ่งแน่นอนครับ การออกเสียงย่อมต้องมีความผิดเพี้ยนบ้างเป็นธรรมดาเนื่องจากมันไม่ใช่ภาษาที่เราคุ้นเคยแต่ผมก็พยายามจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ผมสามารถทำได้

มีเหตุการณ์หนึ่ง(ประมาณ5-6ปีที่แล้ว) เรื่องมันมีอยู่ว่า วันหนึ่งหลังจากที่ผมได้สอนจบคลาส จากการสอนตามปกติของผมในตอนค่ำ ก็มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่เข้าร่วมคลาสกับผม มาถามผมถึงชื่อท่าที่ผมสอน ว่ามีอยู่ท่าหนึ่งที่เธออยากจะทราบชื่อท่าอาสนะท่านี้มากๆ จึงมาขอคำตอบจากผมให้หายสงสัย ผมบอกเธอไปแบบตรงๆว่าผมก็ไม่ทราบเหมือนกันแต่ครั้งหน้าที่เจอกันจะพยายามทำการบ้านไปค้นคว้าหาชื่อมาบอกให้ได้   ณ ตอนนั้นผมกลับมาคุ่นคิดอย่างหนัก และตระหนักว่าแน่นอนหากมาถามชื่อท่าโยคะอาสนะกับครูสอนโยคะแล้วครูสอนโยคะตอบไม่ได้...แล้วจะให้ไปถามกับใคร? คือมันเป็นอาชีพของเรา เราจึงจำเป็นจะต้องมีความก้าวหน้าและพัฒนาในวิชาชีพ ดังนั้นตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาผมจึงเริ่มท่องศัพท์ภาษาสันสกฤต

และวันหนึ่งในการสอนคอร์สครูโยคะ ผมก็ต้องสอนคำศัพท์และความหมายของภาษาสันสกฤตบางส่วนที่ครูสอนโยคะควรจะต้องทราบ ก็ได้มีการหยิบยกเอา คำว่า Ashtanga มาพูด ซึ่งคำว่าAshtanga มาจาก Ashta (อัษฎา)ที่แปลว่า แปด และ Ang(องค์) แปลว่า กิ่ง, แขนง, สาขา และอาจจะหมายถึงนิ้วมือ นิ้วเท้าก็ได้ ซึ่งรวมแล้วก็หมายถึง องค์8แห่งโยคะ หรือ มรรค8แห่งโยคะนั่นเอง  จากตรงนี้จึงมีการนำคำว่า องค์ มาพูดต่อว่า อ้อ! องคุลีมาล จอมมารที่คอยตัดนิ้วคนอื่นในพุทธประวัติ หลายท่านคงพอจะทราบดีแต่ถ้าไม่ทราบผมก็จะบรรยายให้ฟังโดยสังเขป(ผู้ที่ทราบแล้วก็ถือว่าเป็นการทบทวนความทรงจำแล้วกันนะครับ)

ก็อดที่จะพูดไม่ได้เพราะเราชาวไทยส่วนใหญ่นั้นนับถือศาสนาพุทธ(ผมด้วย) ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ในวัยเยาว์ จนถึงขั้นสอบได้ธรรมศึกษาเอก จากสำนัก วัดป่าเลไลย์วรวิหาร สุพรรณบุรี ก็เลยคิดว่าน่าจะมาแชร์เรื่องเหล่านี้บ้าง เพราะปัจจุบันความดีงามตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะค่อยๆเสื่อมถอยไปจากวิถีชีวิตในสังคมไทยของพวกเรา


เรื่องย่อของ องคุลีมาล มีดังต่อไปนี้

ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว อหิงสกะ ได้ถือกำเนิดขึ้นในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งถือกันว่าเป็นวรรณะของผู้มีบุญชั้นสูงสุด แต่ชะตาของทารกกลับถูกสวรรค์ลิขิตไว้ว่า เมื่อเติบโตขึ้นจะกลายเป็นมหาโจร สนองคืนผู้มีคุณด้วยความตาย

เพราะเชื่อในลิขิตแห่งฟ้า บิดามารดาจึงส่งอหิงสกะ ไปร่ำเรียนวิชชากับสำนักทิศาปาโมกข์แห่งเมืองตักกสิลา บิดานั้นเพียงคิดโยนปัญหาไปให้ไกลตัวไกลๆ แต่ฝ่ายมารดากลับมุ่งหวังว่า สาติพราหมณ์  ผู้เป็นเจ้าสำนักทิศาปาโมกข์ เป็นผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วว่าจะเป็นผู้บรรลุธรรม เป็นเจ้าแห่งศาสดา อาจจะสามารถช่วยนำพาให้อหิงสกะ หลุดพ้นไปจากปัญหาทางโลกย์ได้

สาติพราหมณ์หาได้สอนวิชชาใดๆ ให้แก่อหิงสกะไม่ เพราะตรวจชะตาล่วงรู้ว่า ผู้มีคุณแก่อหิงสกะจะมีเคราะห์ เด็กน้อยจึงกลายมาเป็นคนเลี้ยงแพะ เพื่อนำไปฆ่าสังเวยในพิธีบูชายัญ ตามความเชื่อของผู้คนในสมัยนั้น เวลาผ่านไป จนอหิงสกะเติบโตเป็นหนุ่ม ในขณะที่ศิษย์คนอื่นๆ ฝึกฝนวิชชา อหิงสกะต้องนั่งนับจำนวนแพะอยู่กลางทุ่ง หารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้น เป็นการฝึกสมาธิโดยธรรมชาติ แล้ววันหนึ่ง อหิงสกะก็สามารถเข้าถึงปฐมฌานได้ด้วยตนเอง

ในกาลนั้น ข่าวของศาสดาองค์ใหม่ ผู้ซึ่งบรรลุธรรมอันยิ่งใหญ่ ก็ได้มาถึงเมืองตักกสิลา ศาสดาท่านนี้เดิมคือ เจ้าชายแห่งศากยะวงศ์ ผู้สละราชบัลลังก์ออกแสวงหาธรรม สาติพราหมณ์รู้สึกไม่พอใจ ที่พระราชาในแคว้นต่างๆ พากันหันไปนับถือศาสดาใหม่ จึงได้ส่งบรรดาศิษย์เอกของสำนัก ออกเดินทางไปลบล้างทำลายลัทธิใหม่นี้ แต่ศิษย์ของสาติพรหมณ์ทุกคน ล้วนแล้วแต่หายสาบสูญไป ไม่กลับมาแม้สักคนเดียว

ชีวิตของอหิงสกะที่สงบเงียบ เริ่มผันแปรไปในคืนวันวิวาห์ ของสาติพราหมณ์กับเจ้าสาวคนใหม่ นามว่า นันทาพราหมณี สาติได้พบความลับว่า ภรรยาคนใหม่นี้ ที่แท้จริงเป็นจัณฑาล หรือคนที่ถือกำเนิดจากพ่อแม่ที่ต่างวรรณะ ซึ่งถือกันว่าเป็นพวกที่ต่ำช้า นำความเสื่อมมาให้คนทั่วไป ความเชื่อนี้ ทำให้สาติต้องหาทางกำจัดนันทา แต่กลับถูกอหิงสกะช่วยเหลือไว้ สาติจึงกล่าวหาว่า อหิงสกะฉุดคร่านันทาไป และประกาศให้ทุกคนทราบ ถึงดวงชะตาของอหิงสกะ ที่ถูกลิขิตไว้ว่าจะต้องเป็นมหาโจร

อหิงสกะพานันทา หลบหนีเข้าไปในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และบนยอดเขาแห่งหนึ่ง เขาก็ได้พบกับ พญามาร ผู้อ้างตนว่าเป็นเทพ ณ ที่แห่งนั้น พญามารเล่าว่า ในโลกนี้ยังมีคนบางพวก ที่ไม่นับถือบูชาเทพบนสวรรค์ ทางที่จะปลดปล่อยให้คนเหล่านี้ หายจากความหลงผิดมีเพียงวิธีเดียว ซึ่งไม่เรียกว่าการฆ่า แต่เป็นการบูชายัญคนชั่ว ถ้าเมื่อใดอหิงสกะสร้างกุศล โดยการบูชายัญชีวิตคนครบ 1000 คน เมื่อนั้นผลบุญที่ก่อ จะทำให้เขาบรรลุธรรม หลุดพ้นจากเวรกรรมในอดีตทั้งปวง อหิงสกะเริ่มหนทางสู่การบรรลุธรรม ด้วยการเข่นฆ่าพวกโจรป่า ที่ดักปล้นฆ่าคนเดินทาง เมื่อฆ่าโจรป่าจนหมดสิ้น อหิงสกะก็ก้าวหน้าต่อไป ด้วยการฆ่าคนที่ลบหลู่ ไม่บูชาเทพเทวดา จนสุดท้ายก็ถลำตัวไปสู่การฆ่าฟันโดยไม่เลือก เพราะเขาได้เข้าใจว่า สิ่งทั้งปวงมีแต่ความทุกข์ การที่เขาฆ่าคน จึงเป็นการปลดปล่อยคนเหล่านั้นให้พ้นทุกข์

นันทาพยายามคัดค้าน มิให้อหิงสกะฆ่าคน แต่อหิงสกะมั่นใจว่า สิ่งที่ตนทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะยิ่งฆ่าคน ดวงจิตของเขาก็มีพลังมากขึ้น เขาจึงมั่นใจว่าหนทางสู่การบรรลุธรรมของตนเอง ใกล้จะสำเร็จแล้ว ในช่วงนั้นเองอหิงสกะได้ค้นพบความจริง เกี่ยวกับพญามารว่า มิใช่เทพดังอ้าง เขาได้ปราบพญามารลง แล้วจึงเข้าใจว่าไม่ใช่แต่เพียงมนุษย์เท่านั้น ที่ต้องทนทุกข์ แม้เทวดา มาร พรหม ก็อยู่ใต้กฎเดียวกัน ตั้งแต่นั้นอหิงสกะ จึงหันมาบูชาแต่เพียงดวงจิตของตนเอง โดยเขาได้นำนิ้วของคนที่ถูกฆ่าตาย มาร้อยเป็นพวงมาลาคล้องคอ อันเป็นที่มาของชื่อมหาโจรนาม องคุลิมาล

อหิงสกะพานันทาเดินทางลงใต้ และฆ่าคนจนใกล้จะครบ 1000 แล้ว อหิงสกะมั่นใจว่า เมื่อตนบรรลุธรรมแล้ว จะสามารถเอาชนะศาสดาองค์ใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่นันทานับถือเหนือกว่าตน ในคืนวันหนึ่งท่ามกลางซากศพ ของผู้ที่ถูกอหิงสกะฆ่าตาย นันทาตัดสินใจ ใช้ยาพิษปลิดชีพของอหิงสกะและตนเอง เพื่อหยุดยั้งการฆ่า แต่อหิงสกะสามารถทนต่อพิษได้ ส่วนนันทาโดนพิษบางส่วน ทำให้กลายเป็นคนหมดสติ หลับไม่ตื่น เหลือเพียงลมหายใจ ที่บ่งบอกว่ายังมีชีวิต

อหิงสกะมุ่งมั่นที่จะช่วยนันทา และหนทางที่ตนคิดว่าจะทำได้ก็คือ เร่งฆ่าคนให้ครบจำนวน ที่จะทำให้ตนเองบรรลุธรรม มีอำนาจเหนือธรรมชาติ อหิงสกะหารู้ไม่ว่า เหยื่อรายสุดท้ายที่ตนกำลังจะปลิดชีพให้ครบ 1000 นั้นคือ มันตานี  ผู้มารดาของตนเอง ที่กำลังพยายามตามหาบุตรชาย ที่ได้กลายเป็นมหาโจรไปแล้ว ขณะที่อหิงสกะจะยิงศร ไปสังหารผู้เป็นมารดานั่นเอง ที่มหาโจรกลับถูกขัดขวาง โดยศัตรูคนสำคัญ นั่นคือ ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า พระผู้ตื่นแล้ว หรือ พระพุทธเจ้า อหิงสกะจึงวิ่งไล่ตามไปเพื่อฆ่า วิ่งไปเพื่อจะได้พบความสำเร็จ ที่ตนมุ่งมั่นมานานแสนนาน

แต่วิ่งเร็วแค่ไหน ก็ตามพระพุทธเจ้าไม่ทัน จึงร้องเรียกให้พระพุทธองค์ หยุด จึงเป็นที่มาของคำว่า "เราหยุดแล้ว ท่านนั่นแหล่ะที่ยังไม่หยุด"

อหิงสกะหารู้ไม่ว่า การไล่ตามพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น เขาได้ก้าวเข้าไปสู่หนทาง ที่จะนำไปสู่ความสุขสว่าง ทางที่จะทำให้เขามองเห็นความหลงผิดทั้งปวง ทางที่จะสามารถช่วยเหลือนันทา ให้รอดพ้นได้อย่างแท้จริง และทางที่มารดาของเขา ใฝ่ฝันให้เขาก้าวไป เพื่อบรรลุสิ่งอันประเสริฐสูงสุดของมนุษย์ นั่นก็คือ 'นิพพาน'
(ข้อมูลเรื่องย่อ จากบทภาพยนตร์องคุลิมาล  http://www.nangdee.com/title/html/m285.html)

การผิดพลาดบางอย่างด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยอวิชชา แต่เมื่อได้มารู้จักผิดชอบชั่วดี หรือสิ่งที่ถูกสิ่งที่ควรในภายหลัง แล้วรีบกลับตัวกลับใจ สังคมก็พร้อมที่จะยอมรับและให้อภัย และนี่ก็คือข้อคิดจากเรื่ององคุลิมาล

จากเรื่องของการฝึกโยคะส่งต่อไปสู่การใช้ภาษาสันสกฤตสำหรับโยคะและมาเชื่อมโยงยาวไปเข้ากับพุทธประวัติ ก็เป็นอะไรที่ให้ความรู้สึกอิ่มเอมใจไปกับโยคะและธรรมะอีกรูปแบบหนึ่ง

ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีการใช้กันในย่านชมภูทวีปสืบเนื่องยาวนาน ภาษาหลายๆภาษาในเอเชียก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาสันสกฤต รวมจนถึงศัพท์หลายๆคำในภาษาไทยของเราด้วย ผมอยากให้เพื่อนๆร่วมวิชาชีพครูสอนโยคะพูดชื่อท่าอาสนะเป็นภาษาสันสกฤตบ้างเท่าที่มีโอกาสเพราะอย่างน้อยที่สุดก็ถือว่าเป็นการให้ความเคารพต้นตำหรับแหล่งกำเนิดของศาสตร์แห่งโยคะ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวเอเชียอย่างเราๆ และยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของการฝึกโยคะ ทั้งๆที่การฝึกโยคะในยุคปัจจุบันนี้จะแตกต่างจากการฝึกโยคะในแบบต้นตำหรับอย่างมากมาย แต่ทุกครั้งที่ผมได้พูดภาษาสันสกฤตออกไปในขณะที่สอนโยคะ มันก็ยังคล้ายๆว่าพอจะยังมีบางสิ่งบางอย่างของศาสตร์แห่งโยคะแบบต้นตำหรับ ยังไม่เลือนลางหายไปจนหมดสิ้น...

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาภาษาสันสกฤตขั้นพื้นฐาน จะอยู่ในความใส่ใจของครูผู้สอนโยคะทุกๆคนตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com. โดยค้นหาจาก คำว่า Jimmy Yoga หรือ e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ครูจิมมี่ ในนิตยสารโยคะเจอร์น่อลไทยแลนด์(ฉบับ เดือนกันยายน-ตุลาคม 2553)


ครูจิมมี่ ในนิตยสารโยคะเจอร์น่อลไทยแลนด์
(ฉบับ เดือนกันยายน-ตุลาคม 2553)

หลังจากที่นิตยสารโยคะเจอร์น่อลไทยแลนด์ ฉบับ เดือนกันยายน-ตุลาคม 2553 ได้ออกวางจำหน่าย ก็มีเสียงตอบรับเข้ามาพอสมควร เกี่ยวกับผม ผู้ที่เรียนและฝึกโยคะกับผมต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ฉบับนี้ลงเต็มๆเลยน๊ะ ครูจิมมี่

หน้าที่ 7 กับการเป็น Brand Ambassador ให้กับเสื่อโยคะ แมนดูกะ
ผมได้รับเกียรติ จากโยคะโอม ผู้นำเข้าเสื่อโยคะแมนดูกะเจ้าเดียวในเมืองไทย คัดเลือกให้เป็น Brand Ambassador คนที่สามของเมืองไทย เขาก็ลงโปรโมทให้เกือบเต็มหน้าเลยล่ะครับ  หากถามว่าเขามีเกณฑ์ในการคัดเลือกอย่างไร? ผมคิดว่าอาจจะเป็นในเรื่องของรูปร่างหน้าตา แน่ๆเลยครับ (ช่างกล้าพูด)

หน้าที่ 13 โฆษณา หลักสูตรครูสอนโยคะ ของ สถาบันฟิต
โดยปกติ สถาบันฟิต ของเราก็จะลงโฆษณาในนิตยสารโยคะเจอร์น่อลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็มักจะไม่ได้หยิบยกเอารูปของผมมาเป็นจุดเด่น  แต่ก็มักจะมีคนถามเสมอๆว่าผู้สอนคือใครมีความเป็นมาเป็นอย่างไร มันก็เลยถึงเวลาที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันโปรโมทผู้อำนวยการหลักสูตรอย่างจริงจัง และฉบับนี้ก็ถึงคิวได้ลงเต็มหน้าเสียด้วย มันก็เลยเข้าทาง

หน้าที่ 56 ในแถบทึบที่เป็นรูป ลูกศรสีน้ำตาล ก็มีการแนะนำเกี่ยวกับเวิร์คชอฟ ของครูจิมมี่ ที่ ฟิต สตูดิโอ

หน้าที่ 65 ในกล่องเล็กๆ ช่วงท้ายสุดของหน้า ที่มีรายชื่อของครูที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสอนโยคะการกุศล สูริยนมัสการ 108 ในงานไทยแลนด์โยคะ เฟสติวัล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30-31 ตุลาคม 2553 ก็มี ชื่อ ยุทธนา พลเจริญ ด้วย

คนที่เขาช่างอ่าน ช่างสังเกต ก็ต่างร่วมด้วยช่วยกัน นำความมาบอกและวิภาควิจารณ์กันต่างๆนานาแบบพอหอมปากหอมคอ
คำถามสุดฮิตก็คือ แล้วไอ้ท่าโยคะอาสนะที่ครูทำในหน้า 7 กับหน้า 13 เขาเรียกว่าท่าอะไรกันบ้างล่ะ?
หน้าที่ 7 คือท่า Yoga Dandasana(Yogic Staff Pose) 
หน้าที่ 13 คือท่า Yoga Nidrasana(Yogic Sleeping Pose)

ขอขอบพระคุณ

กำลังใจที่สำคัญมากๆของทุกๆคนในครอบครัวของผม

สถาบันฟิต ที่คอยช่วยผลักดันให้ครูสอนโยคะธรรมดาๆคนนี้ได้มีโอกาสมาจนถึงทุกวันนี้

ทีมงาน ฟิต สตูดิโอ นำโดยคุณพี่วิจิตรา โอสถศิลป์ ที่คอยให้คำปรึกษาดีๆ เสมอๆ

โยคะโอม ผู้นำเข้าเสื่อโยคะแมนดูกะเสื่อโยคะระดับโลก ที่ให้เกียรติครั้งสำคัญในการเลือกให้ผมเป็น Brand Ambassador ในเมืองไทย

นักเรียนผู้น่ารักทุกๆท่าน ที่ติดตามผลงานและคอยให้กำลังใจครูผู้สอนโยคะคนนี้เสมอมา

นิตยสารโยคะเจอร์น่อลไทยแลนด์ นิตยสารโยคะฉบับแรกของเมืองไทย


ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับผู้ฝึกโยคะทุกๆคนและผมตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com. โดยค้นหาจาก คำว่า Jimmy Yoga หรือ e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กรรมโยคะ ของครูคี้ท เคมปิส (ครูชีวมุกติโยคะ ชาวออสเตรเลีย)

กรรมโยคะ ของครูคี้ท เคมปิส (ครูชีวมุกติโยคะ ชาวออสเตรเลีย)

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม 2553 เป็นอีกวันหนึ่ง ที่ ฟิต สตูดิโอ ของเรามีโยคะเวิร์คชอฟ ซึ่งเป็นเวิร์คชอฟพิเศษที่จัดแบบเต็มวัน ตั้งแต่ 9.30-16.00น. เงินรายได้หลังจาก การหักค่าใช้จ่ายแล้ว ครูคี้ท เคมปิส จะนำไปซื้ออุปกรณ์ดนตรีให้กับนักเรียนโรงเรียนดอนบอสโก้ เขาหลัก พังงา ที่เคยได้รับความเดือดร้อนจากภัยซึนามิ

ซึ่งโดยปกติแล้วคุณพ่อ, คุณแม่บุญธรรมของครูคี้ทและครูคี้ทมักจะมาทำกิจกรรมการกุศลที่เขาหลักนี้เป็นประจำต่อเนื่องทุกๆปีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดภัยซึนามิเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การศึกษา การส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ จึงทำให้ครูคี้ทเดินทางมาเมืองไทยบ่อยครั้ง


หลังจากที่ผมรู้จักกับครูคี้ท ก็เลยคิดว่าทุกครั้งที่ครูคี้ท มาเมืองไทยผมจะต้องให้เขามาสอนที่สตูดิโอของผมทุกครั้ง(ทั้งๆที่ตอนนั้น ผมไม่ทราบด้วยซ้ำว่าการสอนของเขาเป็นเช่นไรบ้าง) มันเป็นคำมั่นสัญญาระหว่างครูสอนโยคะชาวไทยกับครูสอนโยคะชาวออสเตรเลีย  พอได้เห็นครูคี้ท สอนครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ก็ต้องยอมรับเลยว่า เขาเป็นครูโยคะ ที่ครูสอนโยคะชาวไทยอย่างพวกเราน่าจะต้องไปเรียนด้วยมากๆ

เขาสอนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ทุกท่วงท่าของโยคะที่เขาสอน จะมีการสอดแทรกถึงตำนานและที่มาที่ไปของท่าโยคะอาสนะต่างๆเหล่านั้นอย่างน่าสนใจ และชวนให้ต้องติดตาม ในเวลาเดียวกันก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการฝึกท่าอาสนะต่างๆให้กับผู้ฝึกทุกๆคน การสร้างแนวคิดและทัศนคติในเชิงบวกสำหรับการฝึกโยคะ  ผมคิดว่าการสอนแนวแบบนี้แหล่ะที่น่าจะเหมาะกับคนไทยในยุคนี้ สมานฉันท์ สร้างแรงบันดาลใจ ไม่เครียด แถมยังมีดนตรีควบคู่ไปกับการสวดมนตราอีกด้วย จึงทำให้ทุกๆคนที่มาเข้าร่วมเวิร์คชอฟในวันนั้นต่างก็หลงรักการสอนของครูคี้ท ไปตามๆกัน(ถึงแม้นว่าในวันนั้นจะมีคนมาเข้าเวิร์คชอฟของครูคี้ท ไม่มากก็ตาม แต่ บรรยากาศก็สนุกมากๆครับ)





ครูคี้ท บอกว่าในการสอนโยคะสไตล์ชีวมุกตินี้ ดนตรีมีความสำคัญมากๆ ดนตรีจะช่วยทำให้ผู้ฝึกรู้สึกผ่อนคลายจิตใจ และสร้างความรู้สึกดีๆให้กับผู้ฝึก จึงทำให้ผมต้องไปวิ่งหาหยิบยืมเครื่องเล่นอิเล็คโทรน มาให้ครูคี้ท ได้ใช้ประกอบการสอนในเวิร์คชอฟครั้งนี้ ผมคิดว่าจึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้ครูคี้ท เลือกที่จะนำรายได้ทั้งหมดที่เขาได้รับจากการสอนในครั้งนี้ไปซื้อเครื่องดนตรีให้กับเด็กๆ เพราะครูคี้ท และชาวชีวมุกติโยคะทุกคนเชื่อว่าดนตรีช่วยทำให้คนมีจิตใจที่ดีงาม ซึ่งเด็กๆในวันนี้ก็ควรจะเติบโตด้วยพื้นฐานจิตใจที่ดีงามและเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า

แน่นอนครับ ผู้ให้ย่อมจะสุขใจมากกว่าผู้รับเสมอ...นี่คืออีกเศษเสี้ยวหนึ่งที่การฝึกโยคะมักสอนให้เราทำอะไรดีๆเพื่อผู้อื่นและสังคมเสมอๆ



(อุปกรณ์ดนตรี ที่ครูคี้ท ซื้อและนำไปบริจาค)

ก็ต้องขอขอบพระคุณผู้ที่เข้าร่วมเวิร์คชอฟทุกๆท่านในวันนั้น ทีมผู้บริหารฟิต สตูดิโอ ที่ได้มาร่วมกันฝึกโยคะและร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกรรมโยคะ ซึ่งมีครูคี้ท เคมปิส (ครูชีวมุกติโยคะ ชาวออสเตรเลีย) เป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราคงจะได้มีโอกาสได้มาร่วมกันทำกิจกรรมดีๆแบบนี้อีก ที่ ฟิต สตูดิโอ

ขอพลังแห่งกรรมโยคะ จงอยู่กับผู้ฝึกโยคะทุกๆคนตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากๆสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความที่ท่านให้เกียรติเข้ามาอ่าน เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com. โดยค้นหาจาก คำว่า Jimmy Yoga หรือ e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger