เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

โยคะ...กับเสียงรบกวนจากโทรศัพท์มือถือ(ภาคสอง)

(Jimmy in Akarna Dhanurasana)



โยคะ...กับเสียงรบกวนจากโทรศัพท์มือถือ(ภาคสอง)

ความเดิม...จากภาคที่แล้ว ได้ทิ้งคำถามไว้ให้ร่วมสนุกกัน(ไม่มีรางวัลอะไรให้นะจ๊ะ)ก็ยังเขียนข้อเสนอแนะเข้ามาได้เรื่อยๆนะ ไม่ต้องเกรงใจ

จริงๆแล้วประสบการณ์ในการสอนโยคะของผมกับการถูกรบกวนจากโทรศัพท์มือถือมีแบบโชกโชน หากผมเป็นขุนศึกก็คงมีรอยบาดแผลให้เห็นตามร่างกายเต็มไปหมด ถึงแม้ปัจจุบันจะผ่านประสบการณ์การสอนมานับไม่ถ้วนแต่ก็ยังคงเจอกับเสียงรบกวนจากโทรศัพท์มือถือเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละไม่ตำกว่าสองครั้งซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับการสอนย่านชานเมืองเป็นส่วนใหญ่ มีหลายเหตุการณ์แต่ผมจะขอยกเอาเหตุการณ์ที่จำได้ไม่ลืมมาเล่าให้ฟัง
โดยส่วนตัวของผมแล้ว ก่อนการสอนโยคะเกือบทุกครั้ง หากไม่ลืม ก็จะสอบถามสุขภาพผู้ฝึกว่ามีโรคประจำตัวอะไรที่เป็นข้อจำกัดในการฝึก จากนั้นก็จะบอกให้ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ เพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิในขณะที่เราฝึก(ปกติเรียนกับครูจิมมี่ก็แทบจะไม่มีสมาธิอะไรเหลือแล้ว อย่าต้องเพิ่มเสียงของโทรศัพท์มือถือเข้ามาอีกเลย) แต่หลายๆครั้งก็ยังไม่วายจะต้องมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในคลาสของผม ผมขอจำแนกออกเป็นCase Case ไป

Case ที่1 เสียงโทรศัพท์ที่เกิดขึ้นในคลาส เป็นเสียงของคนที่มาเข้าเรียนช้า คือพวกที่มาสายประมาณ 10นาที หลังจากที่เราบอกข้อกำหนดต่างๆไปแล้ว เราจะไปตำหนิอะไรก็ไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือหันไปมองให้แกสำนึก แล้วผมก็จะไม่พูดอะไร นอกจากสอนต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถือเป็นการให้เกียรติกับเขา แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าครั้งต่อไปเขาก็คงจะให้เกียรติผมเช่นกัน คือมาเข้าห้องเรียนตรงเวลาไม่สายจะได้ทราบข้อกำหนดในคลาสเหมือนกับคนอื่นๆที่มาก่อน การต่อว่าเขาต่อหน้าผู้คนจำนวนมากดูจะเป็นการประจานกันเกินไปและจะทำให้เขาอาย อาจไม่กล้ากลับมาเข้าเรียนกับเราอีก

Case ที่2 ประเภทไม่มีเสียงโทรศัพท์ดังให้ได้ยิน แต่แอบรับสายและคุยแบบเบาๆกะว่าครูคงไม่ได้ยิน แต่อยากบอกให้ทราบว่า สำหรับคนเป็นครูสอนโยคะแล้ว ไอ้เสียงแอบคุยแบบนี้น่ารำคาญ คล้ายๆยุงที่มาบินอยู่ใกล้ๆหู ทำให้เสียสมาธิในการสอน บางครั้งอาจทำให้สอนผิดๆ หลุดสคริ๊ปการสอนเลยก็มี ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผม ผมจะไม่ว่าอะไร แล้วก็จะเดินไปสอนตรงที่เขาคุยโทรศัพท์ทันที แบบว่าคุยได้ก็คุยไปผมก็จะแหกปากสอนอยู่ใกล้ๆ ส่วนใหญ่เขาจะวางทันที หรือถ้าไม่วางก็จะเดินออกไปคุยโทรศัพท์นอกห้องเรียน

Case ที่3 ประเภทไม่สนใจใคร ไม่ยอมปิดเสียง พอมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นก็รับและสนทนาทันทีแบบไม่สนใจใครหน้าไหนทั้งนั้น ประเภทนี้เคยเจอประจำเหมือนกันครับ มักพบย่านชานเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นแม่ๆ,ป้าๆขาใหญ่เจ้าถิ่น ทำแบบนี้เป็นนิสัยส่วนลึกแบบไม่เคยคิดปรับปรุง จนบางครั้งสมาชิกท่านอื่นเริ่มไม่พอใจในพฤติกรรม ถึงขั้นเกิดการปะทะวาจากันจนเกือบมีเรื่องก็เคยมี ตอนที่ผมประสบการณ์การสอนยังไม่มากนักหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ผมจะแขนขาสั่น จนทำให้หลุดสคริ๊ปการสอนก็เคยมี ดังนั้นทุกกรณีที่มีการใช้โทรศัพท์ในคลาสเรียนของผม(ทุก Case) ผมต้องมีการทำโทษทุกครั้ง ด้วยการให้นักเรียนทุกคนทำท่ารับโทรศัพท์พร้อมกันทั้งชั้นเรียนเลย(Akarna Dhanurasana - Shooting Bow Pose ดังรูปด้านบน) ทำโทษกันเกือบทุกครั้ง จนบางครั้งต้องทำใจ แต่มีอยู่วันหนึ่งทำใจไม่ได้รู้สึกว่าคนเดิมคนนี้บ่อยมากเกินไป ผมจึงตะโกนเสียงดังขึ้นมาในขณะที่แกกำลังคุยโทรศัพท์ทันทีว่า " โทรศัพท์อีกแล้ว" แกจึงรีบเดินออกไปคุยนอกห้องทันที นักเรียนหลายคนรวมทั้งผมรู้สึก หายตึงเครียดและมีการแอบยิ้มเล็กๆริมปาก เหมือนได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจออกมาเสียที โชคดีที่เขาไม่ได้โกรธเคืองอะไรผม เหตุการณ์วันนั้นจึงผ่านไปได้ด้วยดี

Case พิเศษ จำขึ้นใจไปตลอดกาล เหตุเกิด ณ ฟิตเนสใหญ่แห่งหนึ่ง ย่านชานเมือง(ด้วยจรรยาบรรณของครูโยคะแบบอิสระจึงไม่อาจเปิดเผยชื่อฟิตเนสได้) มีคนเรียนในคลาสประมาณ 50คน คู่กรณีของผมคนนี้เป็นผู้หญิงอายุประมาณสามสิบปลายๆถึงสี่สิบ ในขณะที่ผมกำลังสอนได้ประมาณ 20นาที ก็มีเสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น เจ้าของโทรศัพท์ก็รีบรับสายและสนทนาทันที และก็ไม่ยอมออกไปคุยนอกห้อง ผมจึงเข้าไปก่อกวนโดยการเข้าไปแหกปากตะโกนสอนเสียงดังอยู่ใกล้ๆ คู่กรณีคนนี้แทนที่จะออกไปนอกห้อง ดันหันมามองผมด้วยสายตาคล้ายๆจะตำหนิผมว่าไม่รู้กาลเทศะ แล้วเธอก็นำนิ้วชี้ มาจ่อที่ปากเป็นสัญลักษณ์ จุ๊ ๆ ว่าอย่าส่งเสียงดัง ทำให้ผมยิ่งงงหนักเลย เพราะผมนี่แหล่ะที่ควรจะทำสัญลักษณ์จุ๊ ๆ ใส่แก ผมจึงหันไปมองสมาชิกที่แวดล้อมเธออยู่ พอคู่กรณีของผมคนนี้เงยหน้าและกวาดสายตามองไปรอบข้าง ด้วยสายตาที่ดูจะไม่ค่อยเป็นมิตรของสมาชิกที่แวดล้อมอยู่หลายท่านจึงทำให้เธอต้องรีบเดินออกจากคลาสเรียนไปเลย หลังจากวันนั้นผมก็ไม่ค่อยได้เจอสมาชิกท่านนี้อีกเลย

ทุกกรณีที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์การสอนโยคะของผม บางครั้งโดยหน้าที่ของเราแล้วก็จำเป็นต้องใช้วิธีที่ละมุนละม่อมที่สุด เพราะการไปสอนโยคะในฟิตเนสนั้นต้องทำใจ กลุ่มผู้เรียนจะหลากหลายมากๆ แล้วเราก็ต้องสอนกึ่งๆบริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งจะต่างจากสตูดิโอโยคะโดยตรง ที่จะมีกฏระเบียบต่างๆที่ชัดเจนและครูผู้สอนสามารถตัดสินใจเด็ดขาดในคลาสสอนได้ทันที หากเกิดกรณี ตามCaseต่างๆที่ผมกล่าวมา ครูที่สอนในสตูดิโอโยคะโดยตรงคงจะเชิญนักเรียนคนนั้นออกนอกห้องทันที หรือไม่ก็พูดตำหนิทันทีเลยเพื่อประจานกันไปให้รู้สำนึก

ดังนั้นหากเรารู้จักที่จะเข้าใจผู้อื่นบ้าง และทำตามกฏกติกาของสังคมเหมือนคนอื่นๆเขา เราก็คงจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แล้วก็คงจะไม่ถูกคนในสังคมเขาตำหนิเอา

ขอความสงบสุขในการฝึกโยคะจงอยู่กับทุกคนตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

3 ความคิดเห็น:

  1. คลาส 50 คน ใหญ่มากนะคะเนี่ย เคยเจอเสียงโทรศัพท์นักเรียนดัง ตามประสาครูมือใหม่ สติแตกไปเลยค่ะ

    ตอบลบ
  2. นั่นแหล่ะครับ แต่ถ้าเรารักที่จะเป็นครูสอนโยคะ เราก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับสิ่งเหล่านี้เสมอๆ มักมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในคลาสของเราได้เสมอครับ

    ตอบลบ
  3. ควบคุมสถานการณ์ได้เก่งจังค่ะ .... สุดยอด

    ตอบลบ

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger