เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

จรรยาบรรณ...สำหรับครูสอนโยคะ


H.H. Sri Swami Guhabhaktanandaji Maharaj, Jimmy and Master Paalu Ramasamy in Sivanada Ashram Divine Life Society, Buta Caves, Malaysia.


จรรยาบรรณ...สำหรับครูสอนโยคะ...

เป็นระยะเวลาเกือบ 10ปีแล้ว ที่ผมสอนโยคะอยู่ในวงการ เท่าที่ผมจำได้ในตอนนั้นยังมีครูสอนโยคะเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สอนโยคะตามสถานที่ต่างๆแบบอิสระ ผมก็จัดเป็นครูสอนโยคะที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในตอนนั้นก็ว่าได้ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีประชากรของผู้สอนโยคะก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้นับไม่ถ้วน(น่าจะมีการจัดระเบียบครูสอนโยคะบ้างได้แล้วครับ) คิดว่าน่าจะมีองค์กรใดก็ได้มาช่วยจัดระเบียบครูสอนโยคะ กำหนดมาตรฐานใบประกอบวิชาชีพแบบให้เป็นเรื่องเป็นราวสักที ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่เพื่อใครอื่น...ก็เพื่อผู้บริโภคทุกๆคนจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะเราไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่าครูคนไหนได้ผ่านการฝึกมาอย่างถูกต้องตามแบบแผน หรือครูคนไหนเป็นแบบประเภทครูพักรักจำเอามาสอน หลายขั้นตอนที่ต้องผ่านการเรียนการฝึกมาตามแบบแผนจึงจะสามารถผ่านออกมาเป็นครูผู้สอนโยคะได้ และหัวข้อที่สำคัญมากๆสำหรับคนที่จะมาเป็นครูผู้สอนโยคะ ควรจะต้องผ่านการอบรมก็คือเรื่องของ จรรยาบรรณสำหรับครูสอนโยคะครับ เป็นสิ่งที่ครูสอนโยคะที่ดีพึงจะต้องระลึกอยู่เสมอถึงสิ่งๆนี้ เป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้เราเหลวไหลออกนอกลู่นอกทาง

ผมก็เป็นครูโยคะธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้เก่งอะไร และก็พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโยคะอยู่เสมอๆถ้ามีโอกาส  ในสมัยที่ผมได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมเป็นอย่างดีตลอดมา คือ...มีอยู่วันหนึ่งมาสเตอร์ปาลู รามาซามี่(มาสเตอร์ที่สอนผม ที่มาเลเซีย) ก็ถามผมขึ้นมาว่า "จิมมี่!คุณอยากเป็นครูสอนโยคะที่เก่งหรือครูสอนโยคะที่ดี?" ผมตอบทันทีว่า "อยากเป็นครูสอนโยคะที่ดี แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากเป็นทั้งครูที่เก่งและดี" มาสเตอร์ปาลู รวมทั้งเพื่อนๆทุกคนในคลาสเรียน ต่างหัวเราะ ยิ้มๆ แล้วมาสเตอร์ปาลูก็พูดต่อว่า ถ้าอย่างนั้นอย่าลืมปฏิบัติตนตามหลักของยมะ, นิยมะ ในมรรค8 แห่งโยคะ(ผมได้เคยกล่าวอ้างไว้อย่างละเอียดในบทความเรื่อง หัวใจแห่งโยคะ) และจงจดจำจรรยาบรรณสำหรับครูสอนโยคะไว้ให้ขึ้นใจ สิ่งนี้จะเป็นเหมือนดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะคอยปกป้องคุ้มครองพวกคุณตลอดไป ตราบเท่าที่คุณยังคงประพฤติปฏิบัติตนตามศีลธรรมจรรยาบรรณอันดีงามสำหรับครูสอนโยคะ และเหมือนกับว่าคำพูดดังกล่าวนี้ ยังคงดังก้องอยู่ในหัวของผมเสมอๆ

ผมพยายามแปลจรรยาบรรณสำหรับครูสอนโยคะเป็นภาษาไทยได้ใจความดังต่อไปนี้

จรรยาบรรณสำหรับครูฝึกโยคะ คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องหยิบยกคำว่า ยมะ, นิยมะ ในมรรค 8 แห่งโยคะซึ่งหมายถึง ระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งผู้ที่เลือกประพฤติและปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งโยคะพึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งก็คล้ายคลึงกันกับหลักคำสอนของ ท่าน ปตัญชลี ในโยคะสูตร ยมะได้กล่าวถึงคุณธรรม 5 ประการ สำหรับแนวทางแห่งโยคะ คือ การไม่เบียดเบียนชีวิต( อหิงสา ), การไม่พูดปลด พูดแต่ความจริง( สัตยะ ), ไม่ลักขโมยทรัพย์( อัสเตยะ), ไม่ประพฤติผิดในกาม ( พรหมจริยา), และไม่ฉวยโอกาส ไม่ละโมบ โลภมาก ( อปริคระหะ) ซึ่งคล้ายคลึงกับศีล 5 ตามแนวทางของพุทธศาสนา นิยมะ ได้กล่าวถึงทัศนคติที่เราควรนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราเอง 5ประการ คือ ความสะอาด บริสุทธิ์(เศาจะ), ความพอประมาณและรู้สึกพึงพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่(สันโดษ), การทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพดีเสมอ(ตบะ), ศึกษาตัวตนของคุณเอง(สวาธยายะ), การวางการกระทำทุกอย่างของคุณไว้แทบเท้าของพระเจ้า( อิศวรประณิธาน)

หลักคำสอนและแนวทางต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็ยังคงใช้สอนสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นเครื่องเตือนใจให้เราทุกคนตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมอันดีงาม ที่นับวันจะค่อยๆเสื่อมหายไปจากสังคม

จรรยาบรรณสำหรับครูฝึกโยคะในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างไปจากแนวทางเดิมมากนัก เพียงแต่ถูกปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง

ครูฝึกโยคะ พึงปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับ จรรยาบรรณสำหรับครูฝึกโยคะดังต่อไปนี้

1. ครูฝึกโยคะ ต้องเข้าใจในหลักและวิธีการสอนโยคะอย่างแท้จริง รู้จักหน้าที่ของตนเอง คือการสอนโยคะด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใด จากการสอนโยคะ มุ่งหวังให้ผู้อื่นมีสุขภาพที่ดี และได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเรียนโยคะ

2. ครูฝึกโยคะ พึงดูแลรักษาความสะอาดทั้งร่างกาย และจิตใจ มีการแต่งกายที่สะอาดเหมาะสมกับการสอนโยคะ มีบุคคลิกที่ดูน่าเชื่อถือเหมาะสมกับการเป็นผู้นำทางด้านความรู้และสุขภาพ

3. ครูฝึกโยคะ พึงส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการฝึกโยคะในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถนำแนวทางในการฝึกโยคะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติ

4. ครูฝึกโยคะ พึงรักษาระดับมาตรฐานการสอนของตนเอง และพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยการหมั่นศึกษาหาความรู้ทางด้านโยคะเพิ่มเติมเสมอๆ

5. ครูฝึกโยคะ ควรอุทิศตนเพื่อการศึกษาและการพัฒนาความรู้ทางด้านโยคะ ในแขนงที่ตนเองสอนอยู่เสมอๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการสอน และการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่น

6. ครูฝึกโยคะไม่ควรข้องเกี่ยวกับสิ่งเสพติดและอบายมุขทุกประเภท หากยังข้องเกี่ยวกับสารเสพติดหรืออบายมุขต่างๆอยู่ ควรเลิกให้ได้เสียก่อนจึงค่อยเริ่มมาสอนโยคะ

7. ครูฝึกโยคะ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน จริงใจ เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของนักเรียน ไม่นำข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนไปเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้จนเป็นที่เสื่อมเสียและอับอาย

8. ครูฝึกโยคะ ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนโยคะมีพัฒนาการที่ดี ทั้งทางด้านร่างกาย, จิตใจ, อารมณ์, สังคม, ความคิดและทัศนคติในเชิงบวก

9. ครูฝึกโยคะ พึงหลีกเลี่ยงการแนะนำการใช้ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆให้กับนักเรียนผู้ฝึกโยคะ ในกรณีที่นักเรียนมีปัญหาทางด้านสุขภาพควรแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรง

10. ครูฝึกโยคะ พึงสอนโยคะอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ, ศาสนา, ภาษา, เพศ, อายุ, สีผิว, สถานภาพทางสังคมและการเงิน รวมจนถึงความบกพร่องทางร่างกายบางอย่าง

11. ครูฝึกโยคะ พึงยอมรับที่จะสอน นักเรียนที่มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย โดยการประยุกต์หาเทคนิคและแนวทางในการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนกลุ่มดังกล่าว

12. ครูฝึกโยคะ พึงสอนโยคะด้วยการดูแลเอาใจใส่ผู้เรียน ไม่ปล่อยประละเลย แนะนำแนวทางในการป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึกโยคะ คำนึงถึงความปลอดภัยในการฝึกเป็นสำคัญ ใส่ใจในทุกรายละเอียด มุ่งหวังผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฝึกโยคะ

13. ครูฝึกโยคะ ควรมีใจเป็นกลาง เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และไม่นำความคิดเห็นที่แตกต่างกันของผู้เรียน มาสร้างความแตกแยกแบ่งพรรค, แบ่งพวก พยายามอย่านำความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาเป็นประเด็นพูดในขณะที่กำลังเรียนหรืออยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ เพราะอาจนำมาซึ่งความแตกแยกและอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นควรแนะนำให้นักเรียนทุกคนพึงระลึกเสมอว่า ถึงแม้ความคิดเห็นบางอย่างจะแตกต่างกันแต่ทุกคนก็มีจุดมุ่งหมายและแนวทางในการฝึกโยคะที่คล้ายคลึงกัน

14. ครูฝึกโยคะ ต้องไม่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้เรียน เกินเลยจากความเป็นศิษย์และครูผู้ถ่ายทอดศาสตร์แห่งโยคะ

15. ครูฝึกโยคะ พึงหลีกเลี่ยงการแสวงหาผลประโยชน์จากนักเรียน ซึ่งให้การยอมรับนับถือในการสอนของครูฝึกโยคะ

16. ครูฝึกโยคะ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจทางด้านโยคะอย่างแท้จริง เพื่อจะได้อธิบายไขข้อสงสัยต่างๆของนักเรียน ได้อย่างถูกต้อง, แจ่มแจ้งชัดเจน, หรือหากยังไม่สามารถตอบคำถามของนักเรียนได้ในขณะนั้น ควรขอเวลานักเรียนเพื่อไปค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนมาอธิบาย และกลับมาตอบปัญหาข้อสงสัยนั้นๆโดยเร็วที่สุด เพราะการตอบปัญหาของครูฝึกโยคะทุกครั้ง ทั้งในเวลาที่สอนและนอกเวลาที่สอน มักจะมีผู้อื่นให้ความสนใจและจดจำคำอธิบายของเราพูดต่อกันไปเป็นทอดๆ หากข้อมูลที่เราอธิบายผิดก็จะมีผลกระทบกลับมาถึงเราทันที และจะลดความน่าเชื่อถือของเราลงไปทันที

17. ครูฝึกโยคะ ต้องมีความพากเพียร, พยายาม, อดทนอดกลั้นกับสิ่งยั่วยุต่างๆ รวมทั้งการนินทาว่าร้ายจากนักเรียนที่ไม่พึงพอใจในการสอนและเพื่อนร่วมวิชาชีพครูฝึกโยคะ รวมจนถึงความกดดันจากโรงเรียนที่สอนโยคะและนายจ้าง จงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้น ด้วยสติปัญญาและความถูกต้อง ตามแนวทางแห่งโยคะที่ท่านได้ศึกษามา

จรรยาบรรณ สำหรับครูฝึกโยคะข้างต้นดังที่ได้กล่าวมานี้ พึงนำมาประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎหมายบ้านเมืองของแต่ละท้องถิ่น, แต่ละประเทศ เป็นสำคัญ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศีลธรรมจรรยาบรรณอันดีงาม จะอยู่กับครูผู้สอนโยคะและผู้ฝึกโยคะทุกคนตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

6 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยโดยไม่มีข้อโต้แย้งครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ(คุณนิรนาม) ครั้งต่อไปรบกวนใส่นามแฝงมาด้วยก็ดีนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณจะเข้ามาเป็นแฟนพันธ์แท้บล็อกของผมอีกคนหนึ่ง หากเป็นไปได้อย่าลืมสมัครเป็นสมาชิกบล็อกและส่งต่อลิ๊งค์ให้เพื่อนๆด้วยก็จะดีมากๆเลยครับ ผมอยากฟังความคิดเห็นครับ

    ตอบลบ
  3. ดีคะ..ครู เห็นตามนั้นทุกประการ


    punpun

    ตอบลบ
  4. เห็นด้วยทุกประการคะ

    pui

    ตอบลบ
  5. วันนึง หนูอยากเป็นครูโยคะที่ดีและเก่งค่ะ ^^

    ตอบลบ
  6. ตอนนี้มีคอร์ส ครูโยคะด่วน! มีครูโยคะมีมากมาย สอนโยคะทั้งๆที่ประสบการณ์ไม่มากพอ รู้สึกเป็นน่าห่วงนะคะ ในฐานะที่ตนเองเป็นฝึกฝนมากว่า 15 ปี สอนโยคะที่กรุงปารีส พบว่ามีคนสนใจมาก แต่ที่สอนกันอยู่ เป็นแบบเชิงการค้า แฟชั่นการออกกำลังกาย มีหลายคนเคยบาดเจ็บจากการฝึกจากสถาบันเหล่านี้ทำให้ เข้าใจโยคะผิดๆ ไปเลย

    ตอบลบ

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger