เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หัวใจแห่งโยคะ...

ภาพสัญลักษณ์แทน ท่านมหาโยคี ปตัญชลี


หัวใจแห่งโยคะ...

การฝึกโยคะของแต่ละคนก็คงจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่เราเคยทราบถึงเป้าหมายที่แท้จริงของโยคะกันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หากทุกท่านได้อ่านบทความในหัวข้อโยคะคืออะไรไปแล้ว ก็คงจะพอทราบถึงที่มาที่ไปของโยคะประมาณหนึ่ง ในบทความนี้ผมต้องการที่จะนำผู้อ่านเข้าไป ให้ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิมอีกสักนิดหนึ่ง  หนังสือที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของการฝึกโยคะมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ คงต้องยกให้ "โยคะสูตร ของท่าน ปตัญจลี" ท่านได้เรียบเรียง นิยามต่างๆของการฝึกโยคะทิ้งไว้ ให้พวกเรารุ่นหลังได้ตีความโยคะสูตรของท่านไปในแนวทางต่างๆมากมาย  จริงๆแล้ว ปตัญจลีโยคะสูตร เป็นเพียงตำรา เล่มเล็กๆบางๆ เป็นการบันทึกนิยามสั้นๆเกี่ยวกับการฝึกโยคะด้วยภาษาสันสกฤต ซึ่งได้ถูกเรียบเรียงโดยท่านปตัญจลี เราสามารหาอ่านปตัญชลีโยคะสูตรภาคภาษาไทยได้จากหนังสือ หัวใจแห่งโยคะ ท่วงท่าและมรรคาแห่งโยคะ ที่แปลโดย อาจารย์ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ กูรูทางด้านโยคะและอยุรเวทอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย ที่ผมก็คอยติดตามผลงานของท่านเป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา ในนิตยสารโยคะเจอร์นอลภาคภาษาไทย

จากการที่ผมได้อ่านหนังสือที่มีคุณค่ากับผู้เรียนและผู้ฝึกโยคะมากๆเล่มดังกล่าว เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ตอนวางจำหน่ายครั้งแรกๆ ประกอบกับการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองบ้าง ก็พอจะสรุปใจความสำคัญหลักๆได้ว่า ทุกคนที่เรียนเกี่ยวกับโยคะหรือกำลังฝึกโยคะอยู่ในขณะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องทราบถึง มรรค 8 แห่งโยคะ ในมรรค 8 แห่งโยคะคือสาระสำคัญทั้งหลายทั้งปวงของการฝึกโยคะ จึงคิดว่าควรจะนำเรื่องของมรรค 8 แห่งโยคะมาเผยแพร่ให้ทุกๆท่านได้ทราบโดยทั่วกัน

อัษฎางค์โยคะ หรือพอจะแปลเป็นภาษาเป็นทางการแบบบ้านเราได้ว่า มรรค 8 ของโยคะ (ซึ่งชื่อนี้อาจจะไปตรงกับชื่อสไตล์การฝึกโยคะแบบ อัษฎางค วินยาสะโยคะ ที่สอนโดยท่า ศรี เค ปฐภี โชอิส)

ผู้สนใจโยคะเบื้องต้น มักเข้าใจว่า การฝึกทำอาสนะ คือ ทั้งหมดของการฝึกทำโยคะ! ในความเป็นจริง โยคะประกอบด้วยขั้นตอน 8 ประการ ที่เอื้อซึ่งกันและกัน ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโยคะ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และฝึกองค์ประกอบทั้ง 8 ประการนี้ ควบคู่กันไป เราสามารถเปรียบอัษฎางค์โยคะกับกงล้อ 8 ซี่ของวงล้อ ล้อที่ประกอบด้วยกงที่สมบูรณ์เท่านั้น ที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้

1. ยะมะ หรือ Moral discipline (Yama)
คือศีลธรรมและจริยธรรม ที่จะช่วยให้คนอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข เป็นสังคมที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกันซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

 การไม่ฆ่าฟันหรือทำร้ายผู้อื่น ต้องให้ความรักผู้อื่น

 ต้องรักษาความสัตย์ คิดและพูดสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์

 ไม่โลภ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น ไม่อยากได้ หรืออยากมีเกินความเป็นจริง

 ทำงาน หรือทำหน้าที่ของตัวเอง ให้เต็มความสามารถ ฝึกจิตของตัวเอง ให้ควบคุมตัวเองในเรื่องของการคิด การพูดและการทำ

 ไม่สะสมสิ่งที่มีเกินความจำเป็น ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

2. นิยะมะ Self-restraint (Niyama) หรือความมีวิถีแห่งตนได้แก่

 การรักษาร่างกายให้สะอาดด้วยการอาบน้ำ การรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยการฝึกโยคะ และฝึกลมปราณ

 ฝึกตนเองให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ จิตใจที่ไม่รู้จักพอจะขาดพลังจิต ขาดทิศทางและยากที่จะสงบลงได้

 ความเพียรพยายามในการควบคุมกาย วาจาและใจให้ทำในสิ่งที่ดีๆ

 ศึกษาเกี่ยวกับธรรมและตนเอง เพื่อที่จะหาทางแกไขปัญหาต่างๆได้อย่างเหมาะสม

 ฝึกปฏิบัติให้ลดความโลภ โกรธ หลง

3. อาสนะ Posture (Asana)
หมายถึงท่าในการฝึกโยคะ เป็นท่าสำหรับการบริหารร่างกาย ฝึกยืดกล้ามเนื้อกระตุ้นให้การทำงานประสาทและต่อมต่างๆ

4. ปราณายะมะ Breath control (Pranayama)
เป็นการฝึกกำหนดลมหายใจโดยเป็นการฝึกการหายใจเข้า การหายใจออก และการกลั้นหายใจ

5. ปรายาหาระ Sensory inhibition (Pratyahara)
หมายถึงการควบคุมความรู้สึกต่าง รู้สึกอยากได้ รู้สึกโกรธ เมื่อจิตใจไม่ติดยึดกับวัตถุหรืออารมณ์ ก็ทำให้จิตใจผู้นั้นบริสุทธิ์และมีพลังงานในการคิดหรือทำดี

6. ธารนะ Concentration (Dharana)
คือความมีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่กระทำอยู่ เมื่อกายอยู่ในท่าโยคะ ให้จิตใจสนใจแต่เรื่องลมหายใจ ไม่คิดเรื่องอื่น

7. ธยานะ Meditation (Dhyana)
คือการที่จิตใจที่เพ่งอย่างต่อเนื่องจนเกิดสมาธิ ไม่ว่าจะเปลี่ยนท่าโยคะไปท่าใดผู้ฝึกก็ยังมีจิตใจไม่วอกแวก หากฝึกถึงขั้นนี้ร่างกายจะรู้สึกเบาสบาย มั่นคง จิตใจแจ่มใส

8. สมาธิหรือฌาณ Ecstasy (Samadhi)
เป็นเป้าหมายสูงสุดของการฝึกโยคะ ทางพุทธเรียกฌาณ ร่างกายจิตใจอยู่ในสภาวะพัก มีความสงบนิ่งสมดุล ผู้ฝึกจะมีสติและรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายของการฝึกโยคะ Raja-Yoga คือการปลดปล่อยตัวเองจากโลภ โกรธ หลงและมีสมาธิ

ผมคิดว่าอันนี้คงช่วยให้เราหายสงสัย ว่าที่แท้จริงแล้วทำไมหลายๆคนจึงหันมาฝึกโยคะกัน แล้วก็จะได้เข้าใจว่าการฝึกโยคะไม่ใช่แค่การทำตัวอ่อนท่าสวยแบบไร้สติ เราหลายๆคนรวมทั้งผมด้วย คงยังไปไม่ถึงข้อที่7-8 ของมรรค 8 แห่งโยคะหรอก (หากไปถึงขั้นนั้นได้  ป่านนี้คงไปบวชกันหมดแล้วครับ...พี่...น้อง...) 

อย่างไรก็ตามแต่ หากเราฝึกโยคะอย่างมีสติตามแนวทางแห่งโยคะที่แท้จริง เราจะรู้จักกับตัวเราเองมากยิ่งขึ้น เราก็คงจะได้พบกับสมดุลย์ของชีวิตเราเอง ไม่นำพาเราไปสู่การบาดเจ็บจากการฝึกโยคะ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างกลมกลืนและมีความสุข

ขอมรรค 8 แห่งโยคะจงอยู่ในใจของผู้ฝึกโยคะทุกๆคนตลอดไป เทอญ

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก สถาบันโยคะวิชาการ http://www.thaiyogainstitute.com/

6 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดี ปีใหม่น่ะค่ะครู

    ขอให้ ครูและครอบครัว สุขภาพแข็งแรง

    คิดหวังสิ่งใด ก็สมปรารถนา

    มีความสุขในวิถีที่เลือกน่ะค่ะ

    หวังว่าคงจะมีโอกาสได้กลับไปเรียนกับครูในเร็ววัน


    ปล. ดีใจมาก ในที่สุด ก็ได้เขียน ความคิดเห็นแล้ว งุงิ งุงิ

    ตอบลบ
  2. สวัสดีปีใหม่ ค่ะ
    เข้ามานั่งเล่นเน็ต หา blog เรื่องโยคะ อ่านไปเรื่อยๆ
    ก็มาเจอ blog นี้เข้า ได้ความรู้เพิ่มเกี่ยวกับ โยคะ เยอะเลย
    ขอบคุณน่ะค่ะ ที่มี blog ดีๆ เกี่ยวกะ โยคะ แบบนี้
    apple

    ตอบลบ
  3. สวัสดีปีใหม่น่ะค่ะ ครูจิมมี่
    เผอิญว่า เข้ามาหาอ่านเรื่องโยคะ ตาม blog ต่างๆ ก็เลยเข้ามาเจอ blog ของครูจิมมี่ เข้า อ่านแล้วได้ความรู้เกี่ยวกับโยคะเพิ่มขึ้นมากเลย
    ขอบคุณมากน่ะค่ะ ที่มี blog โยคะ ดีๆ แบบนี้
    apple

    ตอบลบ
  4. สวัสดีค่ะครูจิมมี่
    ติดตามอ่าน blog ครูมานานแล้วค่ะ
    คอมเมนท์ได้ซะทีนะคะ
    เรื่องราวในบล็อกครูอ่านสนุกมากค่ะ

    ชอบ บล็อกนี้เป็นที่สุดค่ะ
    ปกติถ้าเจอ ยะมะ นิยะมะ บลาๆๆๆ
    อยากจะเลิกอ่าน เพราะคิดว่าคงไปไม่ถึงแน่ๆ แค่อาสนะก็จะแย่แล้ว
    แต่พออ่านของครู แล้ว เออนะ ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องวิถีการอยู่ในสังคม วิถีตัวเอง การควบคุมความรู้สึก รู้สึกเข้าถึงง่ายดีค่ะ

    ปล. เป็นกำลังใจให้ครูเขียนต่อไปเรื่อยๆ ห้ามเบื่อนะคะ

    ตอบลบ
  5. ขอขอบพระคุณมากครับ สำหรับทุก ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นและกำลังใจ ผมจะพยายาม นำเรื่องจากประสบการณ์โยคะแบบของผม มานำเสนอ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้เข้ามาอ่าน ได้สาระ ไม่เครียด...

    ตอบลบ
  6. มีประโยชน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติ ของผู้อ่านที่ความรู้มีไม่มากมายอย่างผมครับ ขอบคุณครับครูจิมมี่

    ตอบลบ

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger