เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แรงบันดาลใจ...และสไตล์การสอนโยคะ

  (เดวิด สเวนสัน แรงบันดาลใจแรก ที่ทำให้ครูจิมมี่หันมาฝึกวินยาสะโยคะ)



แรงบันดาลใจ...และสไตล์การสอนโยคะ(ของจิมมี่) 
หลังจากสำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะ200ชั่วโมง ผมก็ทำการขึ้นทะเบียนกับYoga Alliance(YA.)ของอเมริกาทันทีเพื่อความเป็นสากล จ่ายค่าธรรมเนียมให้เขาเรียบร้อยสบายใจไป(แอบหวังเล็กๆที่จะโกอินเตอร์สักวัน) และในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่ประเทศมาเลเซียนั่นเอง ก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนครูโยคะชาวอินเดีย เขาเคยสอนโยคะให้กับฟิตเนสใหญ่แห่งหนึ่งย่านอโศก ซึ่งผมก็สอนอยู่ที่นั่นเช่นกันจึงทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับเขาและเข้าเรียนกับเขาบ้างในเวลาที่ว่างมากๆ จึงชื่นชอบสไตล์ที่เขาสอน เพียงไม่กี่เดือนเขาก็ถูกเรียกตัวให้ไปสอนที่ประเทศมาเลเซีย ผมมาทราบอีกทีภายหลังว่าเขาเป็นแชมป์โลกโยคะ 3สมัย ที่ได้รับการรับรองจาก International Yoga Federation (IYF.) ซึ่งผมก็มีความสนใจเกี่ยวกับองค์กรนี้อยู่แล้ว จึงใช้เวลาว่างตอนอยู่ที่มาเลเซียไปฝึกกับเขาแล้วก็ถือโอกาส สอบถามข้อมูลของการจะขึ้นทะเบียนกับ(IYF.) เขาดีใจมากๆที่ผมทราบเกี่ยวกับ(IYF.) เขาจึงเป็นผู้ประสานงานในการขึ้นทะเบียนกับ(IYF.)ให้ผมและที่สำคัญเขายังเป็นคนรับรองผมอีกด้วย เท่ากับว่าตอนนี้ผมได้ขึ้นทะเบียนเป็นครูโยคะระดับนานาชาติกับทั้ง(YA.)และ(IYF.)

มาพูดถึงแรงบันดาลใจ และสไตล์การสอนโยคะของผม ผมเริ่มสอนโยคะสไตล์หะฐะโยคะตามที่ครูวัฒน์เคยสอนในอดีต(ปัจจุบันครูวัฒน์ สอนสไตล์ลามะโยคะ) มีอยู่วันหนึ่ง(ประมาณ5-6ปีที่แล้ว)มีคนให้DVDโยคะมาดู สอนโดย เดวิด สเวนสัน ผมดูแล้วอึ้งทึ่งงงเพราะไม่เคยเห็นการฝึกแบบ อัษฎางคโยคะแบบแอดวานซ์มาก่อน สไตล์นี้ดุเดือดดี น่าสนใจมาก เหมาะกับพวกบ้าพลังอย่างผม ทำให้ผมอยากฝึกกับเดวิด สเวนสันทันที เขาเป็นแรงบันดาลใจแรกของผมในการเปลี่ยนแนวมาฝึกแบบวินยาสะ หลังจากได้ดูDVDของเขา แต่ผมคงสอนสไตล์นี้ไม่ได้แน่ๆ คงมีคนเรียนด้วยไม่มากนักเพราะเป็นสไตล์ที่ค่อนข้างหนัก บ้านเราคนฝึกโยคะมักเป็น พี่ๆ แม่ๆ ป้าๆ จึงคิดว่าผมจะสอนโดยดูจากผู้เรียนเป็นหลัก ว่าสอนได้เบาหรือหนักมากน้อยเพียงไหน จึงคิดว่าผมควรสอนแบบเพื่อนแชมป์โลกชาวอินเดีย G.Radhagishanand(เขาเป็นแรงบันดาลใจที่สอง ของผมในการฝึกวินยาสะโยคะ) ในสไตล์หะฐะวินยาสะ คือการนำหะฐะโยคะที่ผมถนัดมาผสมกับการใช้พละกำลังแบบวินยาสะ ตั้งแต่นั้นมาผมจึงสอนโยคะในสไตล์หะฐะวินยาสะ

แล้วถ้าคุณเป็นครูสอนโยคะกันอยู่ คุณรู้หรือไม่ว่าสไตล์ที่คุณสอนอยู่นั้นเรียกว่าอะไร? หลักๆแล้ว โยคะในแบบที่เราคุ้นเคยและที่มีสอนกันในบ้านเราก็น่าจะพอสรุปให้ทราบกันโดยสังเขปตามประสบการณ์ของผมได้ดังนี้

หะฐะโยคะสไตล์ศิวะนันทะ (สวามี ศิวะนันทะ) แบบค่อนข้างดั้งเดิมในบ้านเราก็มีครูหนู, ครูสุนีย์ และครูท่านอื่นๆที่ไม่ได้เอ่ยนามอีกมากมาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์ชด หัสบำเรอ ผู้นำโยคะเข้ามาเผยแพร่ในบ้านเราเป็นท่านแรกๆ

หะฐะโยคะแบบFlow ซึ่งเป็นแนวที่นำท่าหะฐะโยคะมาเชื่อมต่อกันให้ลื่นไหล ต่อเนื่องสวยงาม บางคนก็เรียกว่าโยคะลีลา น่าจะเกิดจาก อาจารย์คริส(ย่าน ราชเทวี) และอาจารย์จุลวัฒน์ จุลสุคนธ์ นำการฝึกโยคะแนวนี้มาจากอินเดีย ซึ่งเป็นสไตล์ที่เริ่มต้นเล่นกันตามสวนสาธารณะต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ไกลวัลยธรรมโยคะ (สวามี กุลวัลยนันท์)เกิดจากสถาบันสอนโยคะไกลวัลยาธรรม เป็นวิทยาศาสตร์แห่งโยคะ ในบ้านเราก็มี มูลนิธิหมอชาวบ้าน และสถาบันโยคะวิชาการ ของอาจารย์กวี คงภักดีพงษ์

สัตยานันทะโยคะ (สวามี สัตยานันทะ)ศิษย์เอกของท่านสวามี ศิวะนันทะ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโยคะแห่งแรกของโลกในอินเดีย ชื่อบิฮาร์ โยคะ สคูล บ้านเรามักเรียกว่า พิหาร ซึ่งมีสถาบันเคลือข่าย อื่นๆอีกมากมายในอินเดีย เช่น โยคะพ้อยท์(โยคะ วิทยา ธรรม) เมืองนาสิก มีคนไทยให้ความสนใจไปเรียนในสถาบันดังกล่าวหลายต่อหลายท่านเลยทีเดียว เช่น ผู้ที่เขียนหนังสือเรื่อง ฮริโอห์ม โยคี เป็นต้น

อัษฎางคะวินยาสะโยคะ (ศรี เค ปัตฐพี โชอิส) แห่งเมืองมายซอร์ อินเดีย มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในการฝึกท่าโยคะอาสนะควบคู่ไปกับลมหายใจแบบอุชชายี มีสมาธิอยู่กับตนเองตลอดเวลา ฝึกตามขั้นตอน ที่ต้องเริ่มต้น จาก Sun Salutation A, B. Primary Series.จนผู้ฝึกมีความชำนาญจึงจะขยับเลื่อนไปฝึก Secondary Series และขั้น Advance ตามลำดับ จนทำให้คำว่ามายซอร์กลายเป็นชื่อเรียกการฝึกแบบอัษฎางคโยคะตามแบบต้นตำหรับ ซึ่งการฝึกแบบอัษฎางคโยคะนี้เองถือได้ว่าเป็นแม่แบบ ของ พาวเวอร์โยคะ และวินยาสะโยคะที่มีการสอนกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน อัษฎางคโยคะในบ้านเราที่ได้รับใบอนุญาตจากท่านศรี เค ปัตฐพี โชอิส ก็มี ครูอุ้ม สุชาวดี, Paul Dallaghan และอาจมีท่านอื่นๆอีก

ไอเยนคาร์โยคะ (บี เค เอส ไอเยนกะ) เน้นการมีสติ มีสมาธิอยู่กับร่างกาย ลมหายใจและจัดระเบียบร่างกายของผู้ฝึกเป็นหลักโดยอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆมาช่วยเพื่อให้การฝึกท่าโยคะอาสนะนั้นสมบูรณ์ที่สุด เช่นใช้บล็อกโยคะขนาดต่างๆ, สายเชือกหรือเข็มขัด, หมอนขนานต่างๆ, ผ้าห่ม, เก้าอี้และอุปกรณ์อื่นๆอีกมามายที่จะช่วยให้ผู้ฝึกทำท่าได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด ในบ้านเราผู้สอนสไตล์นี้มีชาวอเมริกาชื่อจัสติน เฮอโรลด์, ดร.สาลี่ สุภาภรณ์(มศว.)และครูท่านอื่นที่ไม่ได้เอ่ยถึงอีกหลายท่าน

กุณฑาลิณีโยคะ(โยคี ภชัน) เป็นชุดท่วงท่าเพื่อการบำบัดรักษา เน้นการทำท่าฝึกซ้ำๆควบคู่กับการหายใจในแบบของกุณฑาลินีโยคะ และรวมถึงการสวดมนตรา ภาวนาและทำสมาธิ ผู้ฝึกมักนุ่งขาวห่มขาว ในบ้านเราผู้สอนสไตล์นี้มี ครู เหงียน เทียน เงีย, ครูแอนนิค เหมสินธุ์ และครูท่านอื่นๆที่ผมอาจไม่ทราบชื่ออีกหลายท่าน

อนุสราโยคะ (จอห์น เฟรนด์) คือการเคลื่อนไหวอย่างสง่างาม ทำตามหัวใจของตัวเราเอง ด้วยเทคนิคการเข้าสู่ท่าฝึกที่มีประสิทธิภาพมีแบบแผนและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การฝึกแบบอนุสราเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมจนถึงบ้านเราด้วย ในเมืองไทยคนที่ Certified อนุสราโยคะเท่าที่ผมทราบมีชาวต่างชาติ โจนาส เวสลิ่ง เปิดสอนที่เชียงใหม่ แต่อาจจะมีท่านอื่นๆ ที่ผมไม่ทราบอีกก็เป็นได้

บิกรัมโยคะ หรือโยคะร้อน(บิกรัม ฉูธุรี) คือการทำท่าโยคะอาสนะ 26ท่า ในห้องที่ปรับอุณหภูมิสูง37องศาเซลเซียส เพื่อช่วยให้การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆของร่างกายเราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีฝึกทั่วไปตามฟิตเนสและสตูดิโอโยคะชั้นนำในบ้านเรา

นอกจากนี้แล้วยัง มีการฝึกโยคะอีกหลายสไตล์ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในบ้านเรา เช่น หยินโยคะ, หยิน-หยางโยคะ, ชีวะมุกติโยคะ, กฤปาลูโยคะ, วินิโยคะ ฯลฯ.

การฝึกโยคะของเราแต่ละคนอาจจะมีรูปแบบและวิธีการฝึกที่แตกต่างกัน คงเป็นเรื่องปกติ นานาเหตุผลที่ทำให้คนคิดต่างกัน ทำอะไรที่ต่างกัน แต่ไม่ว่าคุณจะฝึกโยคะสไตล์ใดก็ตาม ผมคิดว่าเป้าหมายที่แท้จริงที่เราได้รับจากการฝึกโยคะคงไม่ต่างกัน เราฝึกโยคะเพื่อพัฒนาร่างกาย, จิตใจและสติปัญญาของเรา เราไม่ควรฝึกโยคะเพื่อประกวดประชันแข่งขันกับผู้อื่น(หากจะแข่งขันก็ควรแข่งกับตัวเราเอง) โยคะสอนให้เรารู้จักเฝ้าสังเกตดูตัวเราเองอย่างมีสติ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทำตัวให้สมดุลย์กลมกลืนกับธรรมชาติ

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ







4 ความคิดเห็น:

  1. คือ ดิแนเพิ่งฝึกโยคะ อยากทราบว่ามีที่ไหนที่มีคนสอนแบบไม่มีค่าใช่จ่ายแพงมากหนักไหมคะ

    ตอบลบ
  2. ราคาไม่แพง ผมแนะนำไปที่สวนลุมพินี มีหลายกลุ่มสอนตอนเช้าตรู่ 6.30น. ราคาน่าจะครั้งละ50บาท แต่ต้องเตรียมอุปกรณ์คือเสื่อโยคะไปเอง วันไหนว่างๆ ก็ลองไปเดินสำรวจดูเองก็ได้ครับ รู้สึกว่า ช่วงเย็นหลังเลิกงานก็น่าจะมีเช่นกันนะครับ

    ตอบลบ
  3. มีป้าๆ ที่จังหวัดลำปาง ชอบเรียนโยคะ แบบ power yoga ยิ่งเหงื่อออกมากยิ่งดี ถ้าวันไหนสอนท่าเบาๆ จะแอบบ่น ว่าไม่สะใจ ไม่ได้เหงื่อ
    สงสัยนักเรียนครูจิมมี่ ไม่ซ่าเท่าคุณป้าที่ลำปาง

    ปล. ส่งประวัติย่อๆ ฝากตัวเป็นศิษย์ครูจิมมี่ ที่อีเมลครูจิมมี่แล้วค่ะ
    MJ

    ตอบลบ
  4. สนใจเรื่องโยคะมาตั้งแต่อายุประมาณสิบหกปี จนปัจจุบันนี้อายุสามสิบหกปีแล้ว ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์มีครูกะเค้าเลย ด้วยเหตุผลทางด้านปัจจัย โอกาส เวลา ไม่เอื้ออำนวย

    ณ วันนี้พร้อมแล้วหลายๆด้าน เหลือแต่โอกาสที่ยังมาไม่ถึง จึงอาศัยอ่าน และฝึกตามหนังสือ ตามซีดีไปพลาง เมื่อไหร่โอกาศมาถึงคงจะได้เป็นศิษย์มีครูสักวัน

    จากคนไกลบ้าน

    ปล.ได้เข้ามาอ่านตรงนี้ทำให้ความกระตื้อรือร้น(แรงบันดาลใจ)ในการฝึกฝนมากขึ้น

    ตอบลบ

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger