เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โยคะ...คืออะไร?...


โยคะ...คืออะไร?...

ผมได้พูดถึงเรื่องหลายเรื่อง เพื่อเป็นการเล่าประสบการณ์ต่างๆเกี่ยวกับโยคะของผมให้ทุกท่านได้อ่าน แต่จริงๆแล้ว มันเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆของโยคะเพียงเท่านั้น ส่วนโยคะที่แท้จริงแล้วเป็นฉันใด? ดังนั้นในบทความนี้ก็เลยอยากให้ทุกๆท่านได้ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปของโยคะ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

โยคะคือภูมิอันนิรันดร์ของอินเดีย มีหลักฐานเกี่ยวกับโยคะตั้งแต่สมัยอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ เมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าโยคะมีมากกว่า 5,000 ปีแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาโยคะยังคงเป็นศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของวัฒนธรรมอินเดีย และยังคงมีบทบาทสำคัญ มีคุณค่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคสมัย


โยคะถือกำเนิดจากอินเดีย โดยมีความผูกพันอยู่กับปรัชญาและศาสนาฮินดู หากแต่สาระสำคัญของโยคะได้แยกออกจากความเชื่อทางศาสนาโดยสิ้นเชิง ทั้งโยคะยังไม่เคยเรียกร้องหรือกล่าวอ้างถึงความเชื่อใด ๆ โยคะเป็นศาสตร์ที่เปิดกว้างต่อมนุษย์โดยไม่ขึ้นกับศาสนา ไม่ขึ้นกับชาติพันธุ์ใด ๆ แก่นของโยคะอยู่ที่การแสวงหาทางจิตวิญญาณ ด้วยความปรารถนาที่จะเข้าใจลึกลงไปถึงความหมายของชีวิต รวมทั้งองค์ประกอบโดยรอบ

คำว่าโยคะซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “รวม, เต็ม หรือ Integration” กล่าวคือโยคะหมายถึงกระบวนการที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างเป็นองค์รวมให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการทำความรู้จักตัวตนของตนเองและการลดทอนหรือขจัดสภาวะต่าง ๆ ที่บั่นทอนความเป็นองค์รวมนี้

ด้วยคำจำกัดความเช่นนี้ โยคะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง จำเป็นต้องหมั่นตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา และเกี่ยวโยงกับทุก ๆ แง่มุมของชีวิต

ในการอยู่อย่างเป็นองค์รวม โยคะให้ความสำคัญกับเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์รู้จักมูลเหตุทุกชนิดที่ขาดความสมดุล อันเกิดความเจ็บป่วย และจัดปรับให้มันคืนสู่ความเป็นปกติ ดังนั้นโยคะอันเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วย พัฒนาการทางด้านจิตของมนุษย์ จึงเป็นศาสตร์ทางด้านกาย ทางด้านการบำบัดรักษาไปพร้อม ๆ กัน

โยคะคืออะไร?

ในเบื้องต้น เราพอจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า โยคะคือวินัยต่อร่างกายและจิตใน มุ่งไปที่การประสานกลมกลืนกันของระบบต่าง ๆ ของชีวิต โดยอาศัยเทคนิคหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ทั้ง อาสนะ (การฝึกท่าทางกาย), การหายใจ, และสมาธิ ฯลฯ

สภาวะ 3 ประการของโยคะ

1. การรวมกาย – จิต เข้าด้วยกัน อันหมายถึงการมีสติ รู้อยู่กับ กาย ตลอดเวลา

2. ความสมดุล โยคะคือการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งสมดุลภายในตนเอง และสมดุลระหว่างตนเองกับสิ่งรอบตัว

3. การพัฒนาจิต กระบวนการของโยคะเป็นการฝึกจิต โยคะทำให้จิตเข้มแข็ง ตลอดจนยกระดับจิตให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หากเราสามารถผสานโยคะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เราจะพบว่าโยคะไม่เพียงคลายปัญหาต่าง ๆ ให้เราโยคะยังเปิดหนทางใหม่ของการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข


อาสนะ ทำไม และ อย่างไร?

แปลและเรียบเรียงจาก คำนำ หนังสือ Asana How & Why โดย Sri O.P. Tiwari พิมพ์โดย Kaivalyadhama, India

หนังสือ “ทำไมเราต้องฝึกอาสนะ และฝึกอย่างไร” นี้ ไม่เคยมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือเพราะผู้เขียนเชื่อว่าตนเขียนได้ดีกว่า หากเป็นเพราะผู้เขียนรู้สึกว่าเราควรมีหนังสือเกี่ยวกับอาสนะที่เขียนด้วยภาษาง่าย ๆ อ่านเข้าใจกันได้ทุกคน

ในความเป็นของผู้เขียน หนังสือ Asana โดย สวามี กุลวัลยนันท์ น่าจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับอาสนะที่ดีที่สุด หนังสือดังกล่าวตีพิมพ์ในปัจจุบัน ได้รับอานิสงค์มาจากหนังสือดังกล่าวรวมทั้งหนังสือ “ทำไมเราต้องฝึกอาสนะและฝึกอย่างไร” เล่มนี้ด้วย

ชื่อหนังสือเล่มนี้ มาจากคำถามยอดนิยมที่นักเรียนชอบถาม “ทำไมเราต้องฝึกอาสนะและฝึกอย่างไร” เรารับรู้ว่าการทำอาสนะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่มีใครอธิบายให้ฟังได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ปัจจุบัน มีการสอนโยคะกันมากครูแต่ละท่านก็อธิบายแตกต่างกันไป บ่อยครั้งก่อให้เกิดความสับสน จึงจำเป็นที่ผู้เรียนควรจะรู้ ควรจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงเทคนิคต่าง ๆ ของอาสนะ ว่ามันจำเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่าอาสนะคืออะไร อาสนะคือท่านั่งพักเฉพาะตัวของสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งมีทั้งหมด 84,000,000 (แปดสิบสี่ล้าน) ท่า ตามจำนวนของสัตว์ทั้งหมด 84 ล้านชนิด

นักประวัติศาสตร์พบรูปปั้นคนทำอาสนะ ในทวีปอเมริกาใต้ (ประเทศเม็กซิโก) มีอายุราว 3500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อาสนะ ได้รับความสนใจ และเผยแพร่ออกนอกอินเดีย สำหรับผู้เขียน ประโยชน์ของอาสนะ จึงมิใช่เพียงการสอนมนุษย์ให้รู้จักนั่งอย่างไรเท่านั้น หากยังสอนให้เรามีสุขภาพดี ทำให้ปราณ หรือพลังชีวิตภายในไหลเวียนได้ดี นักประพันธ์ชาวอินเดียได้เขียนไว้เมื่อราวปี ค.ศ. 300 ว่า “หากเราไม่สามารถเข้าถึงการหลุดพ้นตามวิถีพุทธ ให้ลองพยายามแบบวิถีโยคะ” สรุปได้ว่าอาสนะคือ การสอนให้เรานั่งให้ตรง ทำให้ร่างกายแข็งแรง ให้ปารณไหลเวียนได้ดี เพื่อพาเราไปสู่การหลุดพ้น อันคือเป้าหมายทางจิตวิญญาณของมนุษย์

ทุกวันนี้ เรากล่าวเรื่องประโยชน์ของอาสนะต่อสุขภาพกันมาก สวามี กุลวัลยนันท์ อธิบายไว้ดังนี้ “อวัยวะของมนุษย์ล้วนทำจากเนื้อเยื่อ สุขภาพของมนุษย์จึงขึ้นกับสุขภาพของเนื้อเยื่อ ตามหลักสรีระวิทยา ความแข็งแรงของเนื้อเยื่อขึ้นกับหลัก 3 ประการ คือ

1. มีสารอาหารที่เหมาะสมมาหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ และมีฮอร์โมนมาหล่อเลี้ยง

2. มีการขจัดของเสียออกจากเนื้อเยื่ออย่างมีประสิทธิภาพ

3. ระบบประสาทที่เชื่อมโยงมาตามเนื้อเยื่อทำงานได้ดี

ทีนี้มาดูกันว่าอาสนะทำหน้าที่ 3 ประการนี้ได้อย่างไร ในสองข้อแรก สารอาหารที่เหมาะสมไม่ได้ขึ้นกับอาหารที่เรารับเข้าไปเท่านั้น หากขึ้นกับประสิทธิภาพของการย่อยและการดูดซึมด้วย โดยมีเลือดเป็นตัวนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย นั่นคือระบบไหลเวียนของโลหิตก็ต้องดี อาสนะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดี อาสนะทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง ทั้งอาสนะยังทำให้อวัยวะในช่องท้องวางตัวในตำแหน่งที่ถูกต้อง ช่วยให้การขจัดของเสียเป็นไปด้วยดี

ระบบไหลเวียนของโลหิตขึ้นกับหัวใจซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงที่สุด โยคะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ท่าอาสนะบางท่ายกกระบังลมขึ้นสูง เป็นการนวดกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง นอกจากนั้น ระบบโลหิตยังขึ้นกับสุขภาพของหลอดเลือด อาสนะที่กลับเอาเท้าชี้ฟ้า ช่วยลดปัญหาเส้นเลือดขอด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้หัวใจ และวาล์วในหลอดเลือดได้มีโอกาสพัก

สุขภาพที่ดีของเนื้อเยื่อยังขึ้นกับออกซิเจน อาสนะทำให้ระบบหายใจทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ระบบหายใจกับความแข็งแรงของปอด และกล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่าอาสนะหลายท่าทำให้เราต้องสูดหายใจเข้าลึก บ้างต้องกลั้นหายใจซักครู่ ทำให้ปอดรับออกซิเจนได้เต็มที่ บางอาสนะก็เป็นการช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพของโพรงจมูกโดยตรง

ระบบฮอร์โมน ที่ดีมีผลโดยตรงต่อสุขภาพที่ดี อาสนะช่วยบริหารต่อมไทรอยด์ ต่อมพิตูอิตารี และต่อมไพเนียล อาสนะทำให้อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ มีสุขภาพแข็งแรง

ในข้อที่สาม เรื่องของระบบประสาท เนื้อเยื่อทุกชิ้นต่อเชื่อมกับระบบประสาท ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อทำงานได้ระบบประสาทที่ดี ก็จะทำให้เนื้อเยื่อทำงานได้ดี อาสนะหลายท่าทำให้เลือดไหลไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดี ส่งผลให้เส้นประสาททั้งหลายดีไปด้วย และอาสนะทุกท่าทำให้สร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกสันหลัง อันเส้นทางเดินของระบบประสาทจากสมองที่เชื่อมไปยังอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย

นอกจากประโยชน์ของอาสนะเพื่อการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายแล้ว อาสนะยังให้ประโยชน์ในเรื่องของการเข้าสู่สภาวะแห่งสมาธิ ท่าอาสนะเพื่อสมาธินี้ได้รับการจัดแบ่งไว้เป็นอีกหนึ่งกลุ่ม อาสนะในกลุ่มนี้ฝึกให้แนวกระดูกสันหลังตรง ลดแรงกดในบริเวณช่องท้อง ให้เลือดไหลเวียนมาบริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น หล่อเลี้ยงประสาทปลายกระดูกก้นกบ ทั้งยังลดการเคลื่อนไหวของร่างกาย อันเป็นการลดการใช้พลังงานของร่างกาย นำพาร่างกายเข้าสู่ภาวะสงบนิ่ง เป็นสมาธิ

ปตัญชลีระบุว่า “อาสนะทำให้ชีวิตสงบ และเป็นสุข” ทั้งยังตีความได้ว่า อาสนะคือท่าที่ทำให้เรานิ่ง และสบาย ศรี สวาตะมาราม กล่าวว่า “อาสนะจะต้องเป็นไปเพื่อความสงบ, ปราศจากโรค ขณะเดียวกันก็เพื่อ ความเบาสบาย และความสุข หาไม่แล้วท่าต่าง ๆ ที่เราฝึกก็เป็นเพียง การออกกำลังกายชนิดหนึ่ง” เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเช่นนั้น เราจะฝึกอาสนะอย่างไร โดยปตัญชลีตอบว่า “ขณะทำอาสนะ การใช้แรงให้เป็นไปจะเหนือกว่าฝึกแบบอาสนะ โดยไม่มีความสงบทั้งร่างกาย และจิตใจ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะเข้าใจกับโยคะมากขึ้น และนำการฝึกโยคะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้อย่างเหมาะสม

ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่ผมและผู้ฝึกโยคะทุกคนตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ขอขอบคุณ ข้อมูล: โยคะคืออะไร จาก สถาบันโยคะวิชาการ http://www.thaiyogainstitute.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger