เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สุดยอด ปรมาจารย์โยคะ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์


สุดยอด ปรมาจารย์โยคะ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์

ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมานี้ บอกตามตรงเลยว่า ผมทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ มากมายเพื่อตระเวนเรียนโยคะกับกูรูทางด้านโยคะที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย หากท่านเหล่านั้นเดินทางมาย่านเอเชียและถ้าผมมีโอกาส ผมก็มักจะเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์โยคะอย่างไม่ลังเลใจ

ผมคิดว่าช่วงอายุของผมในตอนนี้ ยังสามารถตลุยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ และจำเป็นจะต้องหาประสบการณ์ทั้งทางด้านการเรียนและการสอนโยคะอีกมากมาย เพื่อจะได้พัฒนาตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ผมเริ่มตระเวน เรียนโยคะจากคำบอกเล่า ของผู้รู้ในวงการโยคะ รวมถึงการเสาะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ จึงทำให้พอจะมีข้อมูลว่า

หากคุณจะฝึกโยคะสไตล์ อัษฎางคโยคะ ควร ฝึกกับท่าน ศรี เค ปัฐภี โชอิส แต่ตอนนี้คงไม่มีใครสามารถฝึกกับท่านได้อีกแล้ว เพราะท่านเสียชีวิตไปแล้ว ไม่นานนี้เอง(หรือใครอยากจะไปฝึกกับท่าน ยกมือขึ้น) แต่เราก็ยังสามารถไปฝึกกับหลานชายของท่าน คือ ศรี อา ศารัฐ ซึ่งสืบทอดเจตนารมย์ต่อจากท่าน นอกจากนี้ ก็ยังสามารถฝึกกับลูกศิษย์ที่ได้รับใบอนุญาติจากท่านอีกมากมายทั่วโลก ลูกศิษย์ของท่านที่ผมเคยฝึกด้วยก็คือ เดวิด สเวนสัน และ เคน ฮาราคุม่า

หากคุณจะฝึกโยคะ สไตล์ ไอเยนคาร์ ควร ฝึกกับท่าน บี เค เอส ไอเยนคาร์ โดยตรงเลย ซึ่งปัจจุบันท่าน อายุ มากกว่าเก้าสิบปีแล้ว ผมเคยสัมผัสการฝึกแบบไอเยนคาร์ ที่ซอยทองหล่อ สตูดิโอ ของคุณจัสติน เฮอร์โรล

หากคุณจะฝึกโยคะสไตล์ โยคะบำบัด(วินิโยคะ) ก็ควรฝึกกับ ท่าน ที เค วี เทสิกาจารย์ ซึ่งเป็นบุตรชาย ของท่าน ศรี กฤษณะ มาจารยา กูรูโยคะคนสำคัญของโลกท่านนี้ เป็นอาจารย์ของ ทั้งท่าน ศรี เค ปัฐภี โชอิส และ บี เค เอส ไอเยนคาร์ แนวโยคะแบบบำบัดนี้ผมเคยร่วมคลาสกับลูกศิษย์ของท่าน ที เค วี เทสิกาจารย์ คือ มาร์ค วิทเวล

นอกจากนี้ผมก็เคยเข้าเรียนกับโยคะมาสเตอร์ระดับโลกหลายต่อหลายท่าน อาทิเช่น คลาสอนุสราโยคะกับ จอห์น เฟรนด์, ชีวมุกติโยคะ กับทั้ง ชารอน แกนน่อน และเดวิด ไลฟ์, ธรรมะโยคะ กับ ธรรมะ มิตตา, เพาเวอร์โยคะกับ ไบรอัน เคสท์, ฟอร์เรส โยคะ กับ แอนนา ฟอร์เรส, หฐะวินยาสะ โยคะ กับ เจสัน แคนเดล, อินสปาย่า โยคะ กับ เลนซ์ ชูเล่อร์และแคร์ เพลสลี่, โยจิค อาร์ท กับ ดันแคน หว่อง, ศักติโยคะ กับ รัสตี้ เวลล์, กรีโยคะ กับ มาสเตอร์ คามาล, ยูนิเวอร์แซล โยคะ กับ แอนเดี่ยน แลบป้า, วินยาสะโยคะ กับ ทวี เมอร์ริแกน, และอาจจะมีอีกบางท่านนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ที่ผมเคยเข้าเรียนด้วยแต่อาจคิดไม่ออกหรือหลงลืมไปบ้าง

แต่ก็ยังมีอีกหลายต่อหลายท่านที่ผมอยากจะไปเรียนด้วยแต่ยังไม่สามารถตามไปเรียนด้วยได้ คิดว่าสักครั้งหนึ่งจะต้องหาโอกาสไปเรียนกับท่านต่างๆเหล่านั้นให้ได้ หนึ่งในจำนวนนั้น มีคำบอกเล่าต่อๆกันมาในแวดวงโยคะว่า หากต้องการเรียน กายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา แบบโยคะให้เข้าใจ ควรต้องเรียนกับ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์ แห่ง โยคะซินเนอร์จี้ ออสเตรเลีย เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งในระยะเวลา 3-4ปีที่ผ่านมา ผมถวิลหาอยากจะเรียนกับเขามากๆ เมื่อประมาณ2ปีที่ผ่านมา เขาเคยมาเปิดเวิร์คชอปที่เมืองไทยที่สตูดิโอของอาจารย์สร้อยมณี (ซอย จิม ทอมสัน) ครั้งนั้นผมพลาดอย่างมหันต์ที่ไม่สามารถ งดภาระงานสอนโยคะไปเรียนกับเขาได้

แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันต้นสังกัดของผม บริษัท ฟิตเนส อินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เป็นผู้จัดงาน เอเชีย ฟิตเนส คอนเวนชั่น 2009 และผมก็ทำหน้าที่ประสานงานและเชิญครูโยคะบางท่านมาเป็นวิทยากรในงานนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีมากๆในชีวิตของผมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้าที่งานจะเริ่มประมาณ4-5เดือน ผมจึงไม่ลังเลใจที่จะติดต่อและเชิญ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์ แห่ง โยคะซินเนอร์จี้ ออสเตรเลีย มาเป็นวิทยากร โดยปกติแล้วหากเป็นวิทยากรโยคะระดับโลกบางครั้งการจะเชิญเขามาอาจจะต้อง จองล่วงหน้ากันเป็นปีๆเลย(อันนี้ไม่ได้โม้ คนในวงการโยคะระดับโลกเขารู้กันดี) แต่ในช่วงเวลาที่ผมเชิญเขามานั้นเป็นช่วงที่เขา งานไม่ยุ่งมากนักและพอที่จะเดินทางมาช่วยได้ เขาจึงตกลงมาเป็นวิทยากรให้กับเราในงานนี้(ผมแค่เป็นคนเริ่มต้นติดต่อเขา ที่เหลือเจ้านายของผมคุณซูซาน ฮอสลี่ เป็นผู้จัดการเจรจาต่อ)

ช่วงเวลาประมาณ 4วัน ที่เขาต้องมาอยู่เมืองไทย นอกจากจะมีเพื่อนเก่าของคุณไซม่อนที่เป็นคนไทยคือพี่สรรค์(ธนพล)และชาวต่างชาติที่ผมไม่รู้จักผลัดกันมาคอยดูแลเทคแคร์เขาบ้างในบางเวลาแล้ว ก็มีผมอีกคนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต้องคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้เขาตลอด จึงทำให้ผมทราบและยกย่องเขาทันทีเลยว่า คนนี้แหล่ะโยคีตัวจริง เขาค่อนข้างมีชีวิตที่เรียบง่าย แต่การรับประทานอาหารของเขา สุดยอดของการเลือกรัปประทานอาหารจริงๆ เท่าที่ผมเคยเจอะเจอมา ทำให้ต้องดูแลพิเศษกว่าวิทยากรคนอื่นๆ เนื่องจากในวันที่เขามีสอน ตลอดทั้งวันนั้นเขาไม่ทานอะไรเลยนอกจากน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าวเท่านั้น และจะทานในช่วงที่หยุดพักระหว่างการสอน หากเวลาหยุดพักน้อยเกินไปเขาก็จะไม่ทาน เขาบอกผมว่าเขาไม่ดื่มน้ำเปล่าเลย(โอ้แม่เจ้า!) เขาดื่มแค่น้ำมะพร้าวหรือน้ำผลไม้คั้นสดๆ100%เท่านั้น(โอ้แม่เจ้า!) ช่วงเย็นย่ำค่ำหลังเสร็จสิ้นภาระการสอนเขาจึงจะทานอาหารแบบมังสวิรัต 100% ผัก+ผลไม้ ไม่ทานไข่ ไม่ใส่พริก และไม่ใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร(โอ้แม่เจ้า!) มันจึงทำให้ผมแทบจะไม่มีตัวเลือกของร้านอาหารที่พอจะพาเขาไปหาอะไรรับประทานได้ ผมจึงตัดสินใจพาเขาเข้าไปที่ซุปเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ๆสถานที่จัดงาน พอเขาเข้าไปถึงซุปเปอร์มาเก็ต เขาตื่นตาตื่นใจมากๆ เหมือนเด็กเจอของเล่นอย่างไงอย่างนั้น เขาเลือกหยิบผักผลไม้ที่เขาชอบมาแบบเต็มอัตราศึก ประมาณว่าทานกัน2คนเต็มที่ยังไม่รู้เลยจะทานหมดไหม สิ่งที่เขาชอบและโปรดปรานมากที่สุดนอกจากมะพร้าวคือทุเรียนครับ เขาบอกผมว่าเขาเป็นขาประจำของร้านผลไม้ไทยในซิดนี่ย์ ออสเตรเลีย(ยินดีกับผลไม้ไทยด้วยครับ ดูจากการรับประทานผักและผลไม้ของเขา ประเทศเราน่าจะได้เงินจากไซม่อนปีละหลายหมื่นบาทอยู่) หน้าที่อีกอย่างที่ผมต้องทำให้เขาก็คือ จัดหามะพร้าวมาให้เขา ตลอดทั้งงาน 4วัน เราหมดมะพร้าวสำหรับเขาคนเดียวไปประมาณ 50ลูกครับ (หากอยู่ต่ออีกสักสัปดาห์ อาจทำให้มะพร้าวขาดตลาดถึงขั้นแม่ค้า พ่อค้ากักตุล มะพร้าวเกร็งกำไร) จากตรงนี้พี่สรรค์จึงเตรียมช้อนพิเศษสำหรับขูดและตักเนื้อมะพร้าวมาให้เขา อันนี้เฉพาะเรื่องอาหารการกินของเขาเท่านั้น

ส่วนเรื่องของการสอน เขาครบเครื่องจริงๆครับ คำว่าครบเครื่องของผม คือนอกจากท่าฝึกอาสนะรวมจนถึงเทคนิคปราณยามะรูปแบบต่างๆ จะทำได้ค่อนข้างอยู่ในระดับแอ็ดวานซ์แบบที่ชาวบ้านทำกันไม่ค่อยได้แล้ว ทฤษฎีทั้งทางด้านปรัชญาแห่งโยคะ ภาษาสันสกฤต กายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว เขาก็สุดยอดอีก อันนี้จากประสบการณ์ของผมเท่าที่เคยได้สัมผัสมา ผู้สอนโยคะระดับโลกน้อยคนนักที่จะเข้าใจเรื่องกายวิภาคศาสตร์และวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวอย่างลึกซึ้งแบบนี้  เขาเดินทางไปเรียนโยคะที่ประเทศอินเดียถึง14ครั้ง และเคยผ่านการฝึกกับกูรูโยคะระดับตำนาน อาทิ เช่น ท่าน ศรี เค ปัฏภี โชส, บี เค เอส ไอเยนคาร์, ที เค วี เทสิกาจารย์ และกูรูโยคะท่านอื่นๆอีกมากมาย ฯลฯ เนื่องจากเขาฝึกโยคะมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า40ปี(เริ่มฝึกตั้งแต่อายุยังไม่ถึง10ปี)และเป็นนักกายภาพบำบัด สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สอนครูโยคะมากมายทั่วโลก ทั้งหมดนี้คงเป็นเครื่องการันตรีได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับความสามารถของเขา

เขาสอนเรื่องเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา วิทยาศาสตร์การเคลื่อนที่กับการฝึกโยคะ ด้วยคำพูดที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ในการฝึกก็สามารถเข้าใจได้ แต่ท่าฝึกของไซม่อนบางท่าอาจจะดูแปลกๆ ดูเหมือนท่ารำมวยจีน มาผสมผสานกับท่าฝึกโยคะ แต่ทุกท่าที่เขาออกแบบมานั้นมีที่มาที่ไปและบอกได้อย่างชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร กล้ามเนื้อและข้อต่อทำงานอย่างไร มีความปลอดภัยในการทำท่างต่างๆเหล่านั้นอย่างไร หลายต่อหลายครั้งในคลาสเรียนที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปช่วยประสานงานและสังเกตการณ์ ก็มักจะมีคำถามหลายๆคำถามจากนักเรียนขี้สงสัยมาถาม นักเรียนจากต่างชาติบางคนบอกว่าสิ่งที่เขาสอนอยู่ดูจะแตกต่างกับสิ่งที่เคยเรียนมาโดยสิ้นเชิง คำถามบางครั้งจึงคล้ายๆเป็นการลองของ แต่ทุกๆครั้ง นักเรียนผู้ที่ถาม ก็จะได้รับคำตอบที่มีเหตุผลชัดเจนมากๆพร้อมกับได้ข้อคิดอะไรบางอย่างให้กลับไปคิด มีสิ่งหนึ่งที่ไซม่อนได้พูดออกมา แล้วผมรู้สึกได้ถึงความชัดเจนของการสอนของเขามากๆก็คือ "คนที่สอนคุณต้องเป็นครูที่เก่งแน่ๆ ทฤษฎีบางอย่างต้องฝึกปฏิบัติถึงจะเข้าใจชัดเจนแล้วจึงจะสามารถนำมาถ่ายทอดต่อได้ แต่ครูบางคนสอนตามตำราทั้งๆที่ไม่เคยฝึกปฏิบัติหรือปฏิบัติแต่ไม่เคยสำเร็จ ครูบางคนปฏิบัติเพียงอย่างเดียวสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไปทำไม ทำไปเพื่อช่วยอะไร และตำราที่ใช้สอนบางเล่มก็ไม่ได้อัพเดต ใช้สืบทอดต่อเนื่องกันเรื่อยมา ยุคสมัยและวิวัฒนาการมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน คำตอบบางอย่างเกี่ยวกับการฝึกโยคะที่คุณได้รับมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่สุดก็ได้ แต่บางคนก็ยังยึดติดปิดตัวเองอยู่ ควรต้องเปิดใจและยอมรับสิ่งใหม่บางสิ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง" อันนี้ผมชอบมากๆ

อ้อเกือบลืมเล่าให้ฟัง! เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของคุณไซม่อนก็คือ ไม่ว่าภูมิอากาศจะเป็นอย่างไรร้อนหรือหนาวขนาดไหนก็ตามแต่ เขาก็จะถอดเสื้อสอน ใส่เพียงกางเกงรัดกล้ามเนื้อเพียงตัวเดียวเท่านั้น(เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ แมนจริงๆ)

จาก 4วันที่ผมได้อยู่กับเขาอย่างใกล้ชิด เป็นประสบการณ์พิเศษที่ผมไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน ขอยอมรับเลยว่า เขาคือสุดยอดของครูโยคะตัวจริง จึงทำให้ผมรู้สึกว่า ผมยังจัดอยู่ในกลุ่มผู้ฝึกโยคะอย่างผิวเผินด้วยซ้ำไป ยังมีสิ่งต่างๆอีกมากมายเกี่ยวกับโยคะที่ผมต้องศึกษาฝึกฝนและเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพลังแห่งโยคะจะอยู่กับผมและผู้ฝึกโยคะทุกๆท่านตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปรมาจารย์โยคะ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์ ลิงค์เข้ามาได้ที่นี่ครับhttp://www.yogasynergy.com/

3 ความคิดเห็น:

  1. แล้วการเชิญ Simon มาในครั้งนี้ ขอถามครูจิมว่า การตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ในการประเมินผล.....fm Sun

    ตอบลบ
  2. สำหรับการเชิญ Simon Borg-Olivier มาในครั้งนี้ ต้องเรียนตามตรงว่า การประชาสัมพันธ์ของเรา ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ภาพรวมที่ออกมาไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผมวาดฝันไว้(แต่ก็ได้ประมาณ80เปอร์เซนต์) ทุกอย่างก็ต้องถือว่าผ่านพ้นไปได้ด้วยดีครับ

    ตอบลบ
  3. เวลาค้นหาเรื่องโยคะ เจอบทความครูจิมมี่เลยต้องแวะอ่าน ได้ความรู้และสนุกทุกครั้งเลยค่ะ ครูทำให้ความรู้สึกต่อโยคะของดิฉันชัดเจนขึ้นค่ะ

    ตอบลบ

ความคิดเห็น ของคนในวงการโยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger