เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2552

โยคะ...กับเรื่องของเด็กๆ(ภาคสอง)



โยคะ...กับเรื่องของเด็กๆ(ที่จิมมี่...ไม่อยากเจอ)

เรื่องที่สอง

ตี๋น้อย....ไม่เข้าใจลุงเอาซะเลย( Immersion 2 )

ชื่อเรื่องอาจฟังดูแปลกๆ แต่มันมีที่มาครับ ประมาณ2ปีที่แล้ว เรื่องมันมีอยู่ว่า ทุกวันศุกร์เวลาประมาณ19.30น. ผมจะต้องไปสอนโยคะให้ฟิตเนสในโรงแรมระดับสามดาวแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับสนามศุภฯ (ปัจจุบันผมไม่ได้ไปสอนที่นี่แล้ว) ที่นี่บรรยากาศอบอุ่นกันเองทั้งฟิตเนส ส่วนใหญ่สมาชิกที่มาจะเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน มาเล่นฟิตเนสกันด้วยความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเอง มีขนมก็มาแบ่งกันทานในฟิตเนส และบางครั้งก็มีขนมเล็กๆน้อยๆมาฝากผมเสมอ บางวันได้ขนมติดมือกลับบ้านเยอะเลยก็มี ส่วนใหญ่ผู้ที่มาเข้าเรียนกับผมอายุเฉลี่ยมากกว่า40ปีครับ เลยสอนโดยใช้ท่าพื้นฐานที่ไม่ยากจะเน้นท่านั่งและท่านอนเป็นหลัก นักเรียนของผมกลุ่มนี้ เป็นอาเจ๊,อาซ้อ, อาอี๊, อาอึ่ม, อาเจค, อาแปะ บางท่านก็มีพาลูกหลานมาบ้าง หรือบางครอบครัวก็ใช้เป็นที่นัดพบกันเมื่อออกกำลังกายเสร็จก็จะกลับบ้านพร้อมกัน ที่นี่เด็กๆไม่ค่อยเข้ามาวุ่นวายในเวลาที่ผู้ใหญ่ฝึกโยคะ เป็นข้อดีมากๆสำหรับผม การสอนที่นี่ทุกๆครั้งมักจะเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบง่าย แต่มีอยู่วันหนึ่งมีสมาชิกเข้าเรียนกับผมประมาณ7-8ท่าน ในขณะที่ผมสอนใกล้จะจบคลาส สังเกตได้ว่ามีเด็กชายเชื้อสายจีนอายุประมาณ10ปี เดินผ่านไปผ่านมาและด้อมๆมองๆเข้ามาในห้อง หลายต่อหลายครั้ง จนผมเกิดความสงสัยในใจว่าอาตี๋น้อยคนนี้กำลังตามหาใครหรือมองหาสิ่งของอะไรอยู่ อีกไม่กี่นาทีจากนั้นก็มาถึงขั้นตอนของการพักด้วยท่าศพ และโยคะนิทราแบบง่ายๆ ซึ่งผมก็จะปิดไฟในห้อง แล้วค่อยๆพูดนำผู้ฝึกไปสู่การผ่อนคลาย ในขณะที่ทุกคนกำลังเคลิบเคลิ้มผ่อนคลายแบบได้ที่ ทันใดนั้นเองอาตี๋น้อยก็เปิดประตูเข้ามาในความมืดแล้วพูดด้วยน้ำเสียงดังชัดเจน เป็นประโยคคำถามว่า "ลุง ๆ เสร็จหรือยังเนี่ยะ จะตีปิงปองลุง?" (ผมก็ยังไม่ได้พูดอะไรโต้ตอบแค่คิดในใจว่า ฉันไม่ได้เป็นพี่ชายของพ่อแม่แกแน่นอนตี๋น้อย) ในตอนนั้นผมรู้สึกไม่พอใจเล็กน้อย อย่างแรก คือ ดันมาเรียกผมว่าลุง (รับไม่ได้จริงๆ) อีกประการคือมารบกวนสมาธิในขั้นตอนที่สำคัญมากในการฝึกโยคะ ผู้ฝึกโยคะทุกคนคงทราบดีถึงความสงบสุข ผ่อนคลาย ของขั้นตอนนี้ แล้วตี๋น้อยก็หันกลับออกจากห้องไปด้วยความรวดเร็ว ผมเห็นว่าสมาชิกได้ถูกรบกวนจากเสียงของตี๋น้อย จึงเดินไปเปิดไฟและเข้าสู่การจบคลาส อาแปะคนหนึ่งที่เรียนกับผมจึงพูดเชิงถามว่า "ไอ้เด็กเมื่อกี้มันลูกใครหว่า? มาเรียกอาจารย์ว่าลุง" แป๊บเดียวอาตี๋น้อยก็เดินเข้ามาพร้อมพูดว่า "ผมกางโต๊ะตีปิงปองเลยน๊ะ" ( ห้องนี้ทางฟิตเนสจะใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด คือจะเป็นทั้งห้อง สำหรับเต้นแอโรบิค ฝึกโยคะ เรียนเทควันโด รวมจนถึงตีปิงปอง ) เพียงแป๊บเดียวก็ทราบว่าเป็นลูกชายของสมาชิกท่านหนึ่งซึ่งมาเรียนโยคะกับผมเป็นประจำ แม่ของตี๋น้อยจึงรีบให้ตี๋น้อยขอโทษทุกคนรวมจนถึงผม พออาแปะที่เรียนด้วยทราบว่าเป็นลูกใครจึงพูดจาหยอกล้อกับตี๋น้อยว่า "ไม่รู้เรื่องเลยเองนี่ คราวหน้ามาทำแบบนี้อีกเองโดนเตะแน่ๆ ดูซิอาจารย์ยังหนุ่มยังแน่น มาเรียกลุงได้ยังไง คราวหน้าเองเรียกอาจารย์ว่าพี่รู้ไหม?" ผมคิดในใจว่า ขอบคุณมากครับอาแปะ ถ้าจะให้ดีอย่าตรอกย้ำอีกเลยครับ ฟังแล้วมันจี๊ด เห่อ! อาตี๋น้อย...ไม่เข้าใจลุง(พี่)เอาซะเลย...



เรื่องที่สาม

อย่าทำอะไร! คุณแม่ของเขาน๊ะ!( Immersion 3 )

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี2551 ผมกำลังสอนผู้ฝึกหลักสูตร ครูโยคะ200ชั่วโมง มีผู้เข้าอบรมท่านหนึ่งวันนี้เขามีความจำเป็นที่จะต้องพาลูกชายวัย4ปี มารอในขณะที่เขากำลังฝึกกับผม แต่ผมและผู้เข้าอบรมทุกๆท่านได้ตั้งข้อตกลงกันไว้แล้วว่าถ้านำลูกมาก็ไม่อนุญาตให้เข้ามาในส่วนที่เราฝึกปฏิบัติซึ่งอยู่ชั้นบนของสถาบัน ภาระจึงตกไปอยู่กับน้องพนักงานต้อนรับของสถาบันที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ชั้นล่าง ต้องรับบทเป็นพี่เลี้ยงจำเป็น พร้อมกับทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ในวันนี้ช่วงท้ายของการฝึก ผมให้ผู้เข้าอบรมทำท่าศรีษะอาสนะ ก็ค่อยๆให้ทำทีละคนเพื่อความปลอดภัย พอมาถึงผู้อบรมคนที่นำลูกมาด้วย ผมก็เข้ามาช่วยจัดท่าให้เช่นเดียวกับทุกๆคน มีจังหวะหนึ่งผมต้องนั่งยองๆ เข่าต่ำข้างสูงข้าง เหมือนท่านั่งของหนุมานกิริยา และหันหลังให้กับประตูห้อง ด้วยความมุ่งมั่นในการจัดระเบียบร่างกาย เพื่อความปลอดภัยจึงพยายามดูให้ละเอียด ทันใดนั้นเองก็มีเท้าหนึ่งเท้า เตะเข้ามาที่ก้นของผมความรุนแรงระดับปานกลาง แต่ตำแหน่งของปลายเท้าบริเวณหัวแม่เท้าเข้ามาที่รูทวารหนักพอดีเป๊ะ บอกให้ทราบว่ามีการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พร้อมกับเสียงพูดว่า "อย่าทำอะไร! คุณแม่ของเขาน๊ะ!" ความรู้สึกตอนนั้นคือเจ็บมากๆครับ แสดงออกทางสีหน้าชัดเจนแต่กลั้นเสียงร้องไม่ให้ร้องออกมา คนที่เห็นคงคิดว่าผมไม่เป็นอะไรแค่เด็กเอาเท้ามาเตะก้นไม่ได้รุนแรงอะไร แต่จริงๆแล้วมันเข้าจุดโฟกัส บอกตรงๆว่าถ้าหากคุณเป็นริดสีดวงทวารหนัก แล้วโดนแบบนี้ริดสีดวงคุณแตกแน่ๆ ดีที่ผมไม่เป็นริดสีดวง แต่เจ็บมากๆขอบอก ในขณะเดียวกันก็มีความโกรธเข้ามาผสมด้วยแต่ไม่มากนักยังข่มใจไว้ได้ด้วยเห็นว่าเขายังเด็กอยู่พอจะให้อภัยได้ แม่ของเด็กคนนี้จึงรีบลงมาจากท่าศรีษะอาสนะและบอกกับลูกว่า"ทำไมหนูไม่อยู่ข้างล่างล่ะจ๊ะ ครูเขาไม่ได้ทำอะไรแม่ เขาช่วยแม่ทำท่าศรีษะอาสนะลูก" เด็กก็คือเด็ก เขาทำหน้าตา งงๆแล้วก็พูดว่า "คิดถึงแม่ นึกว่าเขาจะทำอะไรแม่" โถเด็กกตัญญูแท้ๆเลย ผมคิดในใจว่าฉันไม่ได้อยากไปยุ่งอะไรกับแม่แกหรอก ยังไม่หายเจ็บเลย แต่ในฐานะที่ผมก็เป็นลูกกตัญญูคนหนึ่งจึง ย๋วนๆ ไม่ถือสาหาความ มิเช่นนั้นผมคงให้ลูกสาววัยสามขวบของผมพาพวกมาลุมยำแน่ๆ จากนั้น ผมจึงกำชับทุกๆคนเลยว่า ได้โปรดอย่าพาลูกมากันอีกเลย ทางสถาบันของเรายังไม่พร้อมที่จะรองรับเด็กๆ ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดที่ได้เจอ และทั้งหมดนี้ก็คือประสบการณ์ โยคะ...กับเรื่องของเด็กๆ แบบไตรภาค ของผม หวังว่าเรื่องเล่าของผมคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับเพื่อนครูโยคะและผู้ฝึกโยคะที่มีลูกคอยติดตามไปไหนต่อไหนด้วย

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ


โยคะ...กับเรื่องของเด็กๆ (ภาคแรก)




โยคะ...กับเรื่องของเด็กๆ (ที่จิมมี่ ไม่อยากเจอ)

โดยปกติแล้ว ครูสอนโยคะแต่ละท่าน ก็มักจะมีแนวการสอนที่ตนเองถนัด แตกต่างกันออกไป ส่วนตัวผมสอนได้หลายแนวครับไม่ว่าจะเป็น Hatha Yoga, Hatha Flow, Gentle Vinyasa, Hatha Vinyasa, Vinyasa, Power Yoga รวมไปจนถึงโยคะสำหรับผู้สูงอายุก็ชอบสอนครับ(เห็น แม่ๆ, ป้าๆ เขามีความสุข เราก็สุขใจด้วย) โยคะสำหรับคนตาบอดผมก็เคยสอนมาแล้วครับ(ชอบมากๆ สุขใจมากๆ จะพยายามหาโอกาสว่างๆ ไปสอนอีก) แต่ที่คิดว่าไม่ถนัดแน่ๆ และไม่น่าจะเข้าทางสำหรับผมคงจะเป็น โยคะสำหรับเด็ก ถ้าเป็นเด็กทั้งหมดเลย(เด็กล้วนๆ ไม่มีผู้ใหญ่ และเป็นเด็กวัยเดียวกัน)ก็คงจะสอนได้บ้างเป็นครั้งคราวไป แต่ถ้านำเด็กมาเรียนกับผู้ใหญ่เมื่อไหร่ล่ะก้อ..ผมจะไปไม่เป็นเลยล่ะครับ ไม่ใช่ว่าผมไม่ชอบเด็กนะครับ จริงๆแล้วผมก็เป็นคนรักและเอ็นดูเด็กๆ ผมก็มีลูกสาวครับตอนนี้ก็เกือบๆจะ สามขวบแล้ว(กำลังพูดเก่งและกำลังซนเลยเชียว) แต่ประสบการณ์สอนโยคะที่ไม่ค่อยดีของผมหลายๆครั้งมีเด็กเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญครับ ที่ผมจำได้แม่นยำมากๆมีด้วยกัน 3เหตุการณ์ดังต่อไปนี้


เรื่องแรก

ครอบครัวโยคะตัวจริง (Immersion 1)
เรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณ 3-4ปีมาแล้ว ที่ฟิตเนสแห่งหนึ่ง ย่านปิ่นเกล้า(ปัจจุบัน...ปิดกิจการไปแล้ว) เหตุมีอยู่ว่า วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ผมก็ไปสอนโยคะที่ฟิตเนสแห่งนี้ตามปกติ ผมมาถึงที่นี่ก่อนเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเสมอ เวลาที่จะต้องสอนคือ บ่ายสองโมงตรง ทันใดนั้นก็สังเกตเห็นว่ามีครอบครัวหนึ่งประกอบด้วย พ่อ,แม่และลูกสาว2คน คนที่ป็นพ่อแม่ดูแล้วอายุน่าจะประมาณ40ต้นๆ ลูกสาวคนโตน่าจะประมาณ11ปี คนเล็กประมาณ7-8ปี คนที่เป็นแม่มาสอบถามพนักงานต้อนรับเกี่ยวกับคลาสโยคะวันนี้ พนักงานให้ข้อมูลไปตามสมควร(พอดีผมอยู่ตรงพนักงานต้อนรับพอดี) ผมจึงสรุปว่าคนที่เป็นแม่คงเข้าเรียนเพียงคนเดียว ส่วนคนที่เป็นพ่อคงดูแลลูกๆอยู่ด้านนอกหรือพาลูกๆไปว่ายน้ำ เพราะว่าที่ห้องออกกำลังกายจะมีป้ายเป็นสติ๊กเกอร์เขียนติดไว้ชัดเจนว่า อายุต่ำกว่า15ปีห้ามเข้า ผมก็ไปทำธุระส่วนตัวแล้วก็เดินมาสอนตรงตามเวลา ทันใดนั้นทั้ง4คนครอบครัวก็ปักหลักวางเสื่อโยคะเรียงติดกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ทราบว่า มาเป็นครอบครัว โดยที่มีสมาชิกท่านอื่นนั่งปูเสื่อโยคะกระจายอยู่ประมาณ10ท่าน ซึ่งดูแล้วต่างคนต่างมา ลางสังหรณ์ผมบอกทันทีว่าวันนี้ผมจะได้เจออะไรแปลกๆอีกแล้ว เพื่อเป็นการหยั่งเชิงผมจึงถามด้วยความสุภาพว่า " โดยปกติแล้วทางฟิตเนสเขาไม่อนุญาติให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้ามาในส่วนนี้ไม่ใช่หรือครับ?" คนเป็นแม่ตอบด้วยความสุภาพกลับมาทันทีว่า "เห็นมีป้ายติดอยู่แค่ตรงส่วนฟิสเนส ตรงนี้คงไม่เป็นอะไรหรอกมั๋งคะ ลองให้เด็กเรียนด้วยได้ไหมคะ เพราะไม่มีใครคอยดูเด็กๆคะ ดิฉันกับสามีอยากฝึกโยคะค่ะ" ผมก็เป็นประเภทขี้เกรงใจ แต่ในเวลาเดียวกันก็หันไปดูสีหน้าสมาชิกทุกคนในห้อง พอจะอ่านใจทุกคนได้ประมาณว่า (ก็ได้แต่อย่าให้ลูกๆแกมาสร้างความวุ่นวายทำลายสมาธิก็แล้วกัน) ในเมื่อคนเป็นแม่เขาก็พูด ขอขนาดนี้แล้ว คิดในใจว่าเป็นไงเป็นกัน ลองดูอีกซักทีถึงแม้จะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีมาบ้างแล้วแต่วันนี้อาจจะไม่มีอะไรก็ได้ การสอนตอนแรกๆ ก็ราบรื่นดี เพราะเด็กทั้งคู่ยังมีสมาธิอยู่เป็นครอบครัวที่น่ารักในสายตาของสมาชิกทุกคน พอผ่านไป15นาที เด็กๆเริ่มหมดสมาธิ คนพี่จึงเริ่มทำหน้าที่พี่ที่ดีคอยช่วยสอนน้องและก็สอนเรื่อยๆเกือบทุกท่า ผู้เป็นแม่ก็มักจะทำเสียงจุ๊ๆ...เบาๆเพื่อปรามลูกเป็นระยะๆ คงไม่อยากว่าลูกเสียงดังเพราะเกรงใจสมาชิกท่านอื่น สมาธิในการสอนของผมเริ่มสั่นคอนแล้วครับตอนนี้ ในขณะเดียวกันเมื่อหันไปสังเกตสีหน้าแววตาของสมาชิกท่านอื่นๆ ตอนนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกแอบยิ้มขำๆด้วยความเอ็นดู ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคล้ายๆพยายามใช้สมาธิในการเรียนเพิ่มมากขึ้นสังเกตได้จากหัวคิ้ว ซึ่งขยับเข้ามาอยู่ใกล้ๆกัน (พูดง่ายๆเริ่มเซ็ง) จากครอบครัวที่น่ารักก็เริ่มกลายมาเป็นครอบครัวที่น่ารำคาญแล้วครับตอนนี้ ผมก็ยังประคับประครองการสอนไปให้ราบรื่นมากที่สุด โดยพยายามคิดว่าครอบครัวนี้ไม่มีตัวตนอยู่ในห้อง แต่ในที่สุดบรรยากาศก็มาตรึงเครียดสุดๆ ตอนเด็กผู้เป็นน้องทนไม่ไหวกับการมาคอยสอนของผู้พี่จึงเริ่มตอบโต้ เสียงดังขึ้นมาว่า "ตัวเองก็ไม่เห็นจะทำท่าได้ดีตรงไหนเลยทำมา อวดเก่งสอนคนอื่นเขา" จากนั้นก็เริ่มมีการปะทะวาจาภาษาพี่น้องเด็ก ตอนนี้สมาชิกท่านอื่นเซ็งสุดๆได้ที่จึงมองหน้าผม แบบความหวังของคลาสอยู่ที่ครูผมจึงเงียบและหันไปมองทางครอบครัวนั้นและยิ้มแหยๆให้โดยไม่พูดอะไร แต่ทั้งครอบครับรู้ทันทีว่าผมต้องการอะไรผู้เป็นพ่อจึงตัดสินใจพูดขึ้นว่า "ใครจะไปทานไอศครีมกับพ่อบ้าง?" (ผมคิดในใจว่า ผมไปทานไอศครีมไม่ได้เพราะผมต้องสอนโยคะให้จบคลาส) คนเป็นพ่อทำท่ารีบวิ่งหนีลูกๆออกไป แล้วทันใดนั้นลูกๆทั้งสองก็วิ่งตามออกไป จึงทำให้เหตูการณ์สงบลงเหลือไว้แต่ผู้เป็นแม่ กับเสื่อโยคะว่างๆที่วางติดกันอยู่อีก3ผืน พร้อมกับสมาชิกท่านอื่นๆอีกประมาณ10ท่าน คลาสโยคะของผมก็กลับมาสงบอีกครั้ง แล้วก็ผ่านขั้นตอนต่างๆมาจนถึงท่าศพอาสนะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ผู้เป็นแม่จึงใช้จังหวะนี้แอบเดินย่องออกจากห้องไปแบบเงียบๆ พอจบคลาสสมาชิกทุกคนก็ไม่เห็นวี่แววของครอบครัวนี้แล้ว มีเพียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกท่านอื่นๆถึงครอบครัวนี้ แบบนานาทัศนะ

จากประสบการณ์ครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจผมเสมอมาเลยว่าในการฝึกโยคะควรจะแยกเด็กออกจากผู้ใหญ่เพราะมิเช่นนั้นจะมีปัญหาในเรื่องของสมาธิ อย่างที่ผมพบเจอ จึงฝากถ่ายทอดประสบการณ์นี้ถึงเพื่อนครูสอนโยคะทุกคนที่ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ และครอบครัวที่จะพาลูกหลานไปเรียนโยคะกับท่านด้วย ควรสอบถามข้อมูลให้ดีเสียก่อน ทั้งกับทางสถานที่และครูผู้สอน

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศพอาสนะ...เตือนใจเราสู่สัจธรรมแห่งชีวิต


(รูปแรกคุณแม่ยิ้มกำลังอุ้มจิมมี่ในวัยเยาว์, รูปที่สองจิมมี่กำลังกอดน้องขิมลูกสาว)

ศพอาสนะ...เตือนใจเราสู่สัจธรรมแห่งชีวิต

พูดถึงท่า ศพอาสนะ แล้ว ผมคิดว่าผู้ฝึกโยคะทุกท่านคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดี ฟังชื่อท่าครั้งแรกแล้วรู้สึกสยองนิดๆ แต่ทุกคลาสโยคะที่เข้าฝึกไม่อยากให้ขาดท่านี้เลยจริงๆ เป็นท่าที่นำเราไปสู่การผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ฝึกให้เรามีสติรับรู้อยู่กับการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ แต่บางครั้งก็ทำให้ผู้ฝึกหลายๆท่านถึงกับหลับไปเลยล่ะ

พอพูดถึงท่าศพอาสนะแล้วก็คงจะขาดศาสตร์ของโยคะนิทราไปไม่ได้(เขาเป็นของที่คู่กัน) โยคะนิทราตามความเข้าใจของผมก็คือ การใช้ศิลปะการพูดโน้มนำผู้ฝึกที่อยู่ในท่าศพอาสนะให้คล้อยตามไปสู่การผ่อนคลายร่างกายทุกๆส่วน โดยใช้น้ำเสียงและจังหวะการพูดที่ชวนให้ผู้ฝึกเคลิบเคลิ้มและคล้อยตามไปสู่การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบ หากพวกเราสังเกตให้ดีจะพบว่าครูโยคะผู้มีประสบการณ์หลายๆท่านมักจะพูดบทโยคะนิทราได้อย่างลื่นไหล ไพเราะชวนฟัง ประหนึ่งว่าท่องบทกาพย์ โคลง กลอน ให้เราได้นอนฟังกันเลยเชียว

ต้องพูดตรงๆเลยว่าทุกครั้ง ที่ผมสอน ท่าศพอาสนะ อดไม่ได้ที่จะทำให้ผมคิดถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม คือการเสียชีวิตของคุณแม่ของผมเมื่อวันที่ 31มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ท่านเสียชีวิตไปด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากการเป็นโรคเบาหวาน แรกๆหลังจากเสร็จงานฌาปณกิจศพ ผมก็ต้องกลับมาสอนโยคะตามปกติพอถึงท่านี้ก็มักจะมีน้ำตาคลอเบ้าเกือบทุกครั้ง ด้วยงานสอนที่มีทุกวันและวันละหลายรอบจึงทำให้ไม่มีเวลาไปเยี่ยมคุณแม่ที่ต้องนอนป่วยอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด เพราะจากการที่พี่สาวผมบอกเล่าให้ฟังและการพูดคุยกับคุณแม่ทางโทรศัพท์ก็คิดว่าท่านคงไม่เป็นอะไรมากนัก คืนวันที่30มกราคม ผมมีลางสังหรณ์ใจแปลกๆจึงรีบตัดสินใจไหว้วานให้รุ่นน้องที่สอนโยคะรีบขับรถพาผมไปเยี่ยมคุณแม่โดยด่วน ทั้งๆที่ในวันรุ่งขึ้นก็ต้องมีงานสอนแต่เช้า และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้สบตาและจับมือกับคุณแม่... สิ่งที่รู้สึกในตอนนั้นคือถามตัวเองด้วยความเสียใจว่า ทำไมเราไม่พยายามหาเวลามาอยู่กับคุณแม่ให้มากกว่านี้? เราไม่รู้หรอกว่าคนที่เรารักจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน? หากเป็นไปได้ผมอยากแนะนำให้ทุกคนใช้เวลาอันมีค่าของเราอยู่กับครอบครัวที่เรารักให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังดังที่เกิดกับผมตอนนี้ การจากไปของคุณแม่ทำให้ผมตระหนักได้ทันทีถึงความรักที่คุณแม่มีให้กับผม เพราะในเวลานี้ผมก็มีลูกแล้วจึงเข้าใจได้ไม่ยากนักถึงความรักที่คุณแม่มีให้ จริงๆอย่างที่หลายๆคนเคยพูดไว้ว่า คุณจะเข้าใจว่าคุณแม่รักคุณมากแค่ไหนก็ต่อเมื่อคุณมีลูกและคุณต้องเลี้ยงลูกของคุณเองนั่นแหล่ สิ่งสุดท้ายที่คุณแม่เหลือไว้ให้คนทั้งหมู่บ้านได้จดจำคือ อายุของคุณแม่ผม 69ตอนเสียชีวิตทำให้หลายคนที่รู้จักคุณแม่ผม ถูกหวยกันจำนวนมาก(รวมถึงคุณพ่อของผมที่ไม่เคยซื้อลอตเตอรี่ ก็ซื้อและถูกกับเขาด้วย)

นอกจากท่าศพอาสนะจะสอนให้เราได้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ยังสอนให้เราตระหนักถึงความจริงในชีวิตประการหนึ่งที่ทุกคนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ก็คือ ความตาย ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด สูง ต่ำ ดำ ขาว ร่ำรวย ยากจน ทุกคนคงหนีสัจธรรมของชีวิตคือความตายไปไม่ได้ วงจรของชีวิตเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอนที่สุด แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างชัดเจนว่าเราแต่ละคนจะมีอายุยืนยาวมากน้อยแค่ไหน บางคนกำลังจะมาเกิดแค่เป็นตัวอ่อนในครรภ์ถูกพรากชีวิตไปตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ก็เยอะ, บางคนเกิดมาได้ไม่ถึงนาทีต้องเสียชีวิตไปก็มี แต่สำหรับบางคนมีชีวิตยืนยาวมากกว่าร้อยปีก็มี หลายๆคนก็เลยพูดว่าชีวิตคนเรามันสั้นยาวแค่ไหนไม่มีใครรู้ จะทำอะไรก็ให้รีบๆทำ (อย่าให้เป็นแบบผม ที่มีเวลาอยู่กับคุณแม่น้อยไปหน่อย) หากคิดอะไรไม่ออกก็ให้หมั่นทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศลไว้เยอะๆ เผื่อเกิดชาติหน้าฉันใดจะได้ไม่ต้องลำบากลำบนเหมือนชาตินี้ นั่นแน่ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องของชาตินี้ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เวรกรรมมีจริงนะครับ และเดี๋ยวนี้ทำอะไรไม่ดีกรรมมักตามทันแบบกระชั้นชิดด้วย ดังนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วแน่นอนอีกเช่นกัน (หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากชาติหน้ามีจริงผมขอเกิดเป็นลูกของคุณแม่อีกทุกชาติ...ทุกชาติไป)
เนื่องในวาระวันแม่ ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปนี้ ถึงแม้วันนี้คุณแม่จะไม่ได้อยู่กับผมแล้ว สิ่งที่ผมจะทำให้คุณแม่ได้ภาคภูมิใจในตัวลูกคนนี้และเป็นของขวัญแด่คุณแม่ตลอดไปก็คือ ผมขอตั้งปณิภานว่าผมจะเป็นครูโยคะที่ดี เป็นผู้นำครอบครัวที่ดี เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ...และที่สำคัญที่สุดก็คือลูกคนนี้จะเป็นลูกชายคนดีของแม่ตลอดไปครับ...

อุทิศแด่ คุณแม่ยิ้ม พลเจริญ (คุณแม่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด...ของครูโยคะผู้ต่ำต้อยคนนี้)

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญกับผมมาก โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แรงบันดาลใจ...และสไตล์การสอนโยคะ

  (เดวิด สเวนสัน แรงบันดาลใจแรก ที่ทำให้ครูจิมมี่หันมาฝึกวินยาสะโยคะ)



แรงบันดาลใจ...และสไตล์การสอนโยคะ(ของจิมมี่) 
หลังจากสำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะ200ชั่วโมง ผมก็ทำการขึ้นทะเบียนกับYoga Alliance(YA.)ของอเมริกาทันทีเพื่อความเป็นสากล จ่ายค่าธรรมเนียมให้เขาเรียบร้อยสบายใจไป(แอบหวังเล็กๆที่จะโกอินเตอร์สักวัน) และในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่ประเทศมาเลเซียนั่นเอง ก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนครูโยคะชาวอินเดีย เขาเคยสอนโยคะให้กับฟิตเนสใหญ่แห่งหนึ่งย่านอโศก ซึ่งผมก็สอนอยู่ที่นั่นเช่นกันจึงทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับเขาและเข้าเรียนกับเขาบ้างในเวลาที่ว่างมากๆ จึงชื่นชอบสไตล์ที่เขาสอน เพียงไม่กี่เดือนเขาก็ถูกเรียกตัวให้ไปสอนที่ประเทศมาเลเซีย ผมมาทราบอีกทีภายหลังว่าเขาเป็นแชมป์โลกโยคะ 3สมัย ที่ได้รับการรับรองจาก International Yoga Federation (IYF.) ซึ่งผมก็มีความสนใจเกี่ยวกับองค์กรนี้อยู่แล้ว จึงใช้เวลาว่างตอนอยู่ที่มาเลเซียไปฝึกกับเขาแล้วก็ถือโอกาส สอบถามข้อมูลของการจะขึ้นทะเบียนกับ(IYF.) เขาดีใจมากๆที่ผมทราบเกี่ยวกับ(IYF.) เขาจึงเป็นผู้ประสานงานในการขึ้นทะเบียนกับ(IYF.)ให้ผมและที่สำคัญเขายังเป็นคนรับรองผมอีกด้วย เท่ากับว่าตอนนี้ผมได้ขึ้นทะเบียนเป็นครูโยคะระดับนานาชาติกับทั้ง(YA.)และ(IYF.)

มาพูดถึงแรงบันดาลใจ และสไตล์การสอนโยคะของผม ผมเริ่มสอนโยคะสไตล์หะฐะโยคะตามที่ครูวัฒน์เคยสอนในอดีต(ปัจจุบันครูวัฒน์ สอนสไตล์ลามะโยคะ) มีอยู่วันหนึ่ง(ประมาณ5-6ปีที่แล้ว)มีคนให้DVDโยคะมาดู สอนโดย เดวิด สเวนสัน ผมดูแล้วอึ้งทึ่งงงเพราะไม่เคยเห็นการฝึกแบบ อัษฎางคโยคะแบบแอดวานซ์มาก่อน สไตล์นี้ดุเดือดดี น่าสนใจมาก เหมาะกับพวกบ้าพลังอย่างผม ทำให้ผมอยากฝึกกับเดวิด สเวนสันทันที เขาเป็นแรงบันดาลใจแรกของผมในการเปลี่ยนแนวมาฝึกแบบวินยาสะ หลังจากได้ดูDVDของเขา แต่ผมคงสอนสไตล์นี้ไม่ได้แน่ๆ คงมีคนเรียนด้วยไม่มากนักเพราะเป็นสไตล์ที่ค่อนข้างหนัก บ้านเราคนฝึกโยคะมักเป็น พี่ๆ แม่ๆ ป้าๆ จึงคิดว่าผมจะสอนโดยดูจากผู้เรียนเป็นหลัก ว่าสอนได้เบาหรือหนักมากน้อยเพียงไหน จึงคิดว่าผมควรสอนแบบเพื่อนแชมป์โลกชาวอินเดีย G.Radhagishanand(เขาเป็นแรงบันดาลใจที่สอง ของผมในการฝึกวินยาสะโยคะ) ในสไตล์หะฐะวินยาสะ คือการนำหะฐะโยคะที่ผมถนัดมาผสมกับการใช้พละกำลังแบบวินยาสะ ตั้งแต่นั้นมาผมจึงสอนโยคะในสไตล์หะฐะวินยาสะ

แล้วถ้าคุณเป็นครูสอนโยคะกันอยู่ คุณรู้หรือไม่ว่าสไตล์ที่คุณสอนอยู่นั้นเรียกว่าอะไร? หลักๆแล้ว โยคะในแบบที่เราคุ้นเคยและที่มีสอนกันในบ้านเราก็น่าจะพอสรุปให้ทราบกันโดยสังเขปตามประสบการณ์ของผมได้ดังนี้

หะฐะโยคะสไตล์ศิวะนันทะ (สวามี ศิวะนันทะ) แบบค่อนข้างดั้งเดิมในบ้านเราก็มีครูหนู, ครูสุนีย์ และครูท่านอื่นๆที่ไม่ได้เอ่ยนามอีกมากมาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์ชด หัสบำเรอ ผู้นำโยคะเข้ามาเผยแพร่ในบ้านเราเป็นท่านแรกๆ

หะฐะโยคะแบบFlow ซึ่งเป็นแนวที่นำท่าหะฐะโยคะมาเชื่อมต่อกันให้ลื่นไหล ต่อเนื่องสวยงาม บางคนก็เรียกว่าโยคะลีลา น่าจะเกิดจาก อาจารย์คริส(ย่าน ราชเทวี) และอาจารย์จุลวัฒน์ จุลสุคนธ์ นำการฝึกโยคะแนวนี้มาจากอินเดีย ซึ่งเป็นสไตล์ที่เริ่มต้นเล่นกันตามสวนสาธารณะต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ไกลวัลยธรรมโยคะ (สวามี กุลวัลยนันท์)เกิดจากสถาบันสอนโยคะไกลวัลยาธรรม เป็นวิทยาศาสตร์แห่งโยคะ ในบ้านเราก็มี มูลนิธิหมอชาวบ้าน และสถาบันโยคะวิชาการ ของอาจารย์กวี คงภักดีพงษ์

สัตยานันทะโยคะ (สวามี สัตยานันทะ)ศิษย์เอกของท่านสวามี ศิวะนันทะ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโยคะแห่งแรกของโลกในอินเดีย ชื่อบิฮาร์ โยคะ สคูล บ้านเรามักเรียกว่า พิหาร ซึ่งมีสถาบันเคลือข่าย อื่นๆอีกมากมายในอินเดีย เช่น โยคะพ้อยท์(โยคะ วิทยา ธรรม) เมืองนาสิก มีคนไทยให้ความสนใจไปเรียนในสถาบันดังกล่าวหลายต่อหลายท่านเลยทีเดียว เช่น ผู้ที่เขียนหนังสือเรื่อง ฮริโอห์ม โยคี เป็นต้น

อัษฎางคะวินยาสะโยคะ (ศรี เค ปัตฐพี โชอิส) แห่งเมืองมายซอร์ อินเดีย มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในการฝึกท่าโยคะอาสนะควบคู่ไปกับลมหายใจแบบอุชชายี มีสมาธิอยู่กับตนเองตลอดเวลา ฝึกตามขั้นตอน ที่ต้องเริ่มต้น จาก Sun Salutation A, B. Primary Series.จนผู้ฝึกมีความชำนาญจึงจะขยับเลื่อนไปฝึก Secondary Series และขั้น Advance ตามลำดับ จนทำให้คำว่ามายซอร์กลายเป็นชื่อเรียกการฝึกแบบอัษฎางคโยคะตามแบบต้นตำหรับ ซึ่งการฝึกแบบอัษฎางคโยคะนี้เองถือได้ว่าเป็นแม่แบบ ของ พาวเวอร์โยคะ และวินยาสะโยคะที่มีการสอนกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน อัษฎางคโยคะในบ้านเราที่ได้รับใบอนุญาตจากท่านศรี เค ปัตฐพี โชอิส ก็มี ครูอุ้ม สุชาวดี, Paul Dallaghan และอาจมีท่านอื่นๆอีก

ไอเยนคาร์โยคะ (บี เค เอส ไอเยนกะ) เน้นการมีสติ มีสมาธิอยู่กับร่างกาย ลมหายใจและจัดระเบียบร่างกายของผู้ฝึกเป็นหลักโดยอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆมาช่วยเพื่อให้การฝึกท่าโยคะอาสนะนั้นสมบูรณ์ที่สุด เช่นใช้บล็อกโยคะขนาดต่างๆ, สายเชือกหรือเข็มขัด, หมอนขนานต่างๆ, ผ้าห่ม, เก้าอี้และอุปกรณ์อื่นๆอีกมามายที่จะช่วยให้ผู้ฝึกทำท่าได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด ในบ้านเราผู้สอนสไตล์นี้มีชาวอเมริกาชื่อจัสติน เฮอโรลด์, ดร.สาลี่ สุภาภรณ์(มศว.)และครูท่านอื่นที่ไม่ได้เอ่ยถึงอีกหลายท่าน

กุณฑาลิณีโยคะ(โยคี ภชัน) เป็นชุดท่วงท่าเพื่อการบำบัดรักษา เน้นการทำท่าฝึกซ้ำๆควบคู่กับการหายใจในแบบของกุณฑาลินีโยคะ และรวมถึงการสวดมนตรา ภาวนาและทำสมาธิ ผู้ฝึกมักนุ่งขาวห่มขาว ในบ้านเราผู้สอนสไตล์นี้มี ครู เหงียน เทียน เงีย, ครูแอนนิค เหมสินธุ์ และครูท่านอื่นๆที่ผมอาจไม่ทราบชื่ออีกหลายท่าน

อนุสราโยคะ (จอห์น เฟรนด์) คือการเคลื่อนไหวอย่างสง่างาม ทำตามหัวใจของตัวเราเอง ด้วยเทคนิคการเข้าสู่ท่าฝึกที่มีประสิทธิภาพมีแบบแผนและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การฝึกแบบอนุสราเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมจนถึงบ้านเราด้วย ในเมืองไทยคนที่ Certified อนุสราโยคะเท่าที่ผมทราบมีชาวต่างชาติ โจนาส เวสลิ่ง เปิดสอนที่เชียงใหม่ แต่อาจจะมีท่านอื่นๆ ที่ผมไม่ทราบอีกก็เป็นได้

บิกรัมโยคะ หรือโยคะร้อน(บิกรัม ฉูธุรี) คือการทำท่าโยคะอาสนะ 26ท่า ในห้องที่ปรับอุณหภูมิสูง37องศาเซลเซียส เพื่อช่วยให้การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆของร่างกายเราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีฝึกทั่วไปตามฟิตเนสและสตูดิโอโยคะชั้นนำในบ้านเรา

นอกจากนี้แล้วยัง มีการฝึกโยคะอีกหลายสไตล์ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในบ้านเรา เช่น หยินโยคะ, หยิน-หยางโยคะ, ชีวะมุกติโยคะ, กฤปาลูโยคะ, วินิโยคะ ฯลฯ.

การฝึกโยคะของเราแต่ละคนอาจจะมีรูปแบบและวิธีการฝึกที่แตกต่างกัน คงเป็นเรื่องปกติ นานาเหตุผลที่ทำให้คนคิดต่างกัน ทำอะไรที่ต่างกัน แต่ไม่ว่าคุณจะฝึกโยคะสไตล์ใดก็ตาม ผมคิดว่าเป้าหมายที่แท้จริงที่เราได้รับจากการฝึกโยคะคงไม่ต่างกัน เราฝึกโยคะเพื่อพัฒนาร่างกาย, จิตใจและสติปัญญาของเรา เราไม่ควรฝึกโยคะเพื่อประกวดประชันแข่งขันกับผู้อื่น(หากจะแข่งขันก็ควรแข่งกับตัวเราเอง) โยคะสอนให้เรารู้จักเฝ้าสังเกตดูตัวเราเองอย่างมีสติ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทำตัวให้สมดุลย์กลมกลืนกับธรรมชาติ

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ







วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การบินไป...ในเส้นทางสายโยคะ











การบินไป...ในเส้นทางสายโยคะ (ของจิมมี่)

ในชีวิตของผมการเดินทางด้วยเครื่องบิน ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ ไม่บ่อยครั้งนักที่ผมจะมีโอกาสได้เดินทางด้วยเครื่องบิน(ส่วนใหญ่ ได้แต่เป็นหมามองเครื่องบิน...บู๋....) แต่สิ่งที่ทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางด้วยเครื่องบินเกือบทุกครั้งก็คือโยคะนี่แหละครับ การเดินทางด้วยเครื่องบินครั้งแรกของผมเกิดจากการที่ต้องเดินทางไปสอนโยคะที่ภูเก็ต 3วัน แต่ครั้งนั้นไม่ได้ออกนอกประเทศ สำหรับการที่ผมจะไปอบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะที่ประเทศมาเลเซียนั้น เป็นการบินออกนอกประเทศครั้งแรก แล้วก็ไปอยู่ค่อนข้างนาน(20วัน)

ต้องบอกก่อนเลยว่าในเรื่องของภาษาอังกฤษแล้วล่ะก้อ ผมอยู่ในขั้นค่อนข้างแย่เลยล่ะ อาศัยว่ามั่นใจ หากเขาพูดถึงเรื่องโยคะเราก็คงน่าจะเข้าใจไม่มากก็น้อยล่ะ(อาศัยใจกล้า+บ้าบิ่น) การเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ไม่มีปัญหาครับ แต่พอถึงมาเลเซีย ผมฟังภาษาอังกฤษแบบที่แขกมาเลเซียตรงด่านตรวจคนเข้าเมืองพอเข้าใจ65เปอร์เซ็นต์สรุปใจความได้ว่าเขาถามผมว่าคุณมาทำอะไร แต่พอพูดโต้ตอบกลับไปผมต้องพูดซ้ำให้เขาฟังถึง3รอบเขาถึงจะเข้าใจว่าผมมาอบรมโยคะ(ยืนยันได้ถึงทักษะด้านภาษาอังกฤษ) พอเขาเข้าใจเขาถามต่อทันทีว่าจะอยู่ที่มาเลเซียกี่วัน ผมไม่อยากมีปัญหาจึงยกมือซ้ายสองนิ้ว ยกมือขวามากำมือ Twenty ใช่ เหอะๆ แล้วก็คิดในใจว่าอย่าถามต่อน่ะแก OK. ผ่านมาได้ด้วยดี รีบไปรับกระเป๋า และหาTaxi ไปโรงแรมที่พัก ไปถึงที่พักไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเขามีใบแสดงราคาโปรโมชั่นต่างๆให้เลือกดูได้ชัดเจนว่า เราจะเลือกแบบไหน อยู่นานเท่าไร ผมไปก่อนวันอบรมสองวัน วันแรกกว่าจะเข้าที่พักก็ค่ำแล้ว ส่วนอีกวันหนึ่งก็จะตะเวนไปถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆที่ผมอยากจะไปในมาเลเซีย และซื้อของฝากให้คนทางบ้านตามใบสั่ง คุ้มค่ามากออกจากที่พักตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า กลับมาอีกทีหนึ่งก็เกือบๆหนึ่งทุ่มเลย (เวลาที่มาเลเซียจะเร็วกว่าบ้านเราหนึ่งชั่วโมง) ผมตื่นเต้นและเตรียมตัวเข้าฝึกอบรมในวันรุ่งขึ้นตอนเก้าโมงเช้า

มาถึงการฝึกอบรม ที่นี่เป็นสตูดิโอโยคะที่ไม่ใหญ่เรียน20คนก็คงแน่นห้องแล้ว ดีที่ว่ามีคนมาอบรมรุ่นเดียวกับผมแค่ 7คน ผู้เข้าอบรมเป็นชาวมาเลเซีย5คนหญิงล้วน ชาวต่างชาติเป็นผู้ชาย2คน มีผมและเพื่อนใหม่ชาวคูเวตซึ่งอายุน้อยกว่าผม1ปี บรรยากาศจึงสบายๆ เพราะคลาสไม่ใหญ่มาก มาสเตอร์ที่รับผิดชอบคอร์สนี้ ดูเหมือนเป็นชาวอินเดีย ชื่อ Paalu Ramasamy พอไปสอบถามท่าน ก็ได้ข้อมูลว่าท่านย้ายตามครอบครัวมาจากอินเดียตั้งแต่เล็กๆ มาอยู่ในสิงคโปร์จนโต สนใจด้านการออกกำลังกาย และโยคะทุกแขนง รับผิดชอบหลักสูตรอบรมครูฝึกโยคะทั้งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ มีผู้ช่วยเป็นน้องหม๋วยชื่อWai Ling Chong เป็นชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน สิงคโปร์เชื้อสายจีนและมาเลเซียเชื้อสายจีนเขาพูดภาษาจีนกลางเหมือนกันจึงสื่อสารกันเข้าใจง่าย หากไม่เข้าใจกันเขาก็พูดภาษาอังกฤษกันได้ทั้งสองชาติ ก็มีผมนี่แหละครับดูจะเป็นตัวถ่วงในรุ่น เขาก็เริ่มด้วยการฝึกสมาธิ ฝึกปราณยามะ และเรียนเรื่องปรัชญาอินเดีย ปตัญชลีโยคะสูตร หนังสือโยคะสุดคลาสสิคหะฐะโยคะประทีปิกา โชคดีที่ว่าก่อนจะมาเข้าอบรมพอผมเห็นหัวข้อที่เขาจะสอนผมก็เตรียมตัวหาหนังสือที่เป็นภาษาไทยอ่านก่อน ก็ได้หนังสือหลายๆเล่มจากสถาบันโยคะวิชาการ ของทีมงานของอาจารย์กวี คงภักดีพงษ์ และหนังสือแปล หัวใจแห่งโยคะของ ที.วี.เค. เทสิกาจารย์ ที่แปลโดยอาจารย์ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ เป็นหนังสือที่ดีมากๆ อ่านแล้วทำให้เราเข้าใจถึงแก่นของโยคะอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยผมได้เยอะมากในการมาอบรมครั้งนี้ สรุปเนื้อหาโดยรวม นอกจากเราจะเรียน ข้างต้นที่กล่าวมาแล้วยังมีเรื่อง กายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา ระบบการทำงานภายในร่างกายของเราที่เกี่ยวข้องกับการฝึกโยคะ การฝึกท่าโยคะอาสนะ โยคะนิทราเพื่อการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ อาหารกับการฝึกโยคะ โศธณกิริยา กุณฑาลินีโยคะ พันธะ ปราณ-วายุ ผมได้เรียนปรัชญาและปราณยามะกับนักบวชชาวฮินดูที่ Shivananda Asharm Divine life Soceity สาขาประเทศมาเลเซียท่านให้ความเอ็นดูผมมากเมื่อทราบว่าผมเป็นคนไทยและนับถือศาสนาพุทธ และเรียนอื่นๆอีกมากมาย บางเรื่องผมก็พอเข้าใจบางเรื่องก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่นี่แหล่ะเส้นทางสายโยคะของผม

อย่างที่มีคนเคยกล่าวไว้เสมอว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้องได้ ผมไม่อยากเป็นครูโยคะเถื่อนและผมก็คิดว่าโยคะเป็นสิ่งที่ดี,ถูกต้องเหมาะสมกับชีวิตผมมากที่สุดแล้ว ในเมื่อผมเลือกเส้นทางสายนี้แล้วผมก็จะทำในสิ่งที่ผมรักให้ดีที่สุด ผมไม่ได้อยากเป็นครูโยคะที่เก่งกาจ แต่ผมอยากเป็นครูโยคะที่ดี (แต่ถ้าไม่เป็นการโลภมากจนเกินไปก็อยากจะเป็นให้ได้ทั้งครูโยคะที่เก่งและดีในเวลาเดียวกัน)

หลังจากอบรมอยู่ที่มาเลเซียมาประมาณ 2สัปดาห์ ก็มาถึงการสอบวัดประเมินผลการฝึกอบรม การสอบแบ่งเป็น2ส่วนคือ ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สำหรับผมภาคปฏิบัติไม่น่าจะมีปัญหาผมเป็นประเภทชอบจดจำชื่อท่าและฝึกท่าโยคะอาสนะสม่ำเสมอ จึงทำคะแนนในส่วนนี้ได้ค่อนข้างสูงกว่าคนอื่น ส่วนภาคทฤษฎีเป็นภาษาอังกฤษ ผมไม่ค่อยมีโอกาสทำข้อสอบเป็นภาษอังกฤษบ่อยครั้งนัก จึงรู้สึกหนักใจกับข้อสอบจำนวน100ข้อที่เป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากข้อสอบภาคทฤษฎีมีจำนวนหลายข้อจึงต้องใช้เวลาตรวจ ผมมารู้คะแนนก็ในวันที่จะต้องเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งทราบว่าเพื่อนชาวคูเวตได้คะแนนสูงที่สุด รองลงมาคือผมและผมคะแนนผ่านเกณฑ์เพียง3คะแนนเท่านั้น ก็เท่ากับว่าคนอื่นที่เหลือสอบไม่ผ่านต้องสอบแก้ตัวกันไป

การมาอยู่ที่มาเลเซียเพื่ออบรมหลักสูตรครูฝึกโยคะ ที่ได้รับการรับรองจาก Yoga Alliance (YA.) 20วัน ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ใหม่ๆที่ดีหลายอย่าง, พบเพื่อนใหม่ในเส้นทางสายโยคะ, จากการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติเกือบทุกมื้อที่นี่ และด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพบางประการจึงทำให้ผมตัดสินใจเลิกกินเนื้อวัว,เนื้อหมูและเนื้อไก่ในที่สุด ผมปฏิญาณตนว่าจะนำความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนในครั้งนี้ มาถ่ายทอดสู่ผู้อื่นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ด้วยเทคนิคแนวทางการถ่ายทอดตามแบบฉบับของตัวผมเอง

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger