เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หัวใจแห่งโยคะ...

ภาพสัญลักษณ์แทน ท่านมหาโยคี ปตัญชลี


หัวใจแห่งโยคะ...

การฝึกโยคะของแต่ละคนก็คงจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่เราเคยทราบถึงเป้าหมายที่แท้จริงของโยคะกันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หากทุกท่านได้อ่านบทความในหัวข้อโยคะคืออะไรไปแล้ว ก็คงจะพอทราบถึงที่มาที่ไปของโยคะประมาณหนึ่ง ในบทความนี้ผมต้องการที่จะนำผู้อ่านเข้าไป ให้ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิมอีกสักนิดหนึ่ง  หนังสือที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของการฝึกโยคะมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ คงต้องยกให้ "โยคะสูตร ของท่าน ปตัญจลี" ท่านได้เรียบเรียง นิยามต่างๆของการฝึกโยคะทิ้งไว้ ให้พวกเรารุ่นหลังได้ตีความโยคะสูตรของท่านไปในแนวทางต่างๆมากมาย  จริงๆแล้ว ปตัญจลีโยคะสูตร เป็นเพียงตำรา เล่มเล็กๆบางๆ เป็นการบันทึกนิยามสั้นๆเกี่ยวกับการฝึกโยคะด้วยภาษาสันสกฤต ซึ่งได้ถูกเรียบเรียงโดยท่านปตัญจลี เราสามารหาอ่านปตัญชลีโยคะสูตรภาคภาษาไทยได้จากหนังสือ หัวใจแห่งโยคะ ท่วงท่าและมรรคาแห่งโยคะ ที่แปลโดย อาจารย์ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ กูรูทางด้านโยคะและอยุรเวทอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย ที่ผมก็คอยติดตามผลงานของท่านเป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา ในนิตยสารโยคะเจอร์นอลภาคภาษาไทย

จากการที่ผมได้อ่านหนังสือที่มีคุณค่ากับผู้เรียนและผู้ฝึกโยคะมากๆเล่มดังกล่าว เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ตอนวางจำหน่ายครั้งแรกๆ ประกอบกับการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองบ้าง ก็พอจะสรุปใจความสำคัญหลักๆได้ว่า ทุกคนที่เรียนเกี่ยวกับโยคะหรือกำลังฝึกโยคะอยู่ในขณะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องทราบถึง มรรค 8 แห่งโยคะ ในมรรค 8 แห่งโยคะคือสาระสำคัญทั้งหลายทั้งปวงของการฝึกโยคะ จึงคิดว่าควรจะนำเรื่องของมรรค 8 แห่งโยคะมาเผยแพร่ให้ทุกๆท่านได้ทราบโดยทั่วกัน

อัษฎางค์โยคะ หรือพอจะแปลเป็นภาษาเป็นทางการแบบบ้านเราได้ว่า มรรค 8 ของโยคะ (ซึ่งชื่อนี้อาจจะไปตรงกับชื่อสไตล์การฝึกโยคะแบบ อัษฎางค วินยาสะโยคะ ที่สอนโดยท่า ศรี เค ปฐภี โชอิส)

ผู้สนใจโยคะเบื้องต้น มักเข้าใจว่า การฝึกทำอาสนะ คือ ทั้งหมดของการฝึกทำโยคะ! ในความเป็นจริง โยคะประกอบด้วยขั้นตอน 8 ประการ ที่เอื้อซึ่งกันและกัน ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโยคะ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และฝึกองค์ประกอบทั้ง 8 ประการนี้ ควบคู่กันไป เราสามารถเปรียบอัษฎางค์โยคะกับกงล้อ 8 ซี่ของวงล้อ ล้อที่ประกอบด้วยกงที่สมบูรณ์เท่านั้น ที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้

1. ยะมะ หรือ Moral discipline (Yama)
คือศีลธรรมและจริยธรรม ที่จะช่วยให้คนอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข เป็นสังคมที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกันซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ

 การไม่ฆ่าฟันหรือทำร้ายผู้อื่น ต้องให้ความรักผู้อื่น

 ต้องรักษาความสัตย์ คิดและพูดสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์

 ไม่โลภ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น ไม่อยากได้ หรืออยากมีเกินความเป็นจริง

 ทำงาน หรือทำหน้าที่ของตัวเอง ให้เต็มความสามารถ ฝึกจิตของตัวเอง ให้ควบคุมตัวเองในเรื่องของการคิด การพูดและการทำ

 ไม่สะสมสิ่งที่มีเกินความจำเป็น ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

2. นิยะมะ Self-restraint (Niyama) หรือความมีวิถีแห่งตนได้แก่

 การรักษาร่างกายให้สะอาดด้วยการอาบน้ำ การรักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยการฝึกโยคะ และฝึกลมปราณ

 ฝึกตนเองให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ จิตใจที่ไม่รู้จักพอจะขาดพลังจิต ขาดทิศทางและยากที่จะสงบลงได้

 ความเพียรพยายามในการควบคุมกาย วาจาและใจให้ทำในสิ่งที่ดีๆ

 ศึกษาเกี่ยวกับธรรมและตนเอง เพื่อที่จะหาทางแกไขปัญหาต่างๆได้อย่างเหมาะสม

 ฝึกปฏิบัติให้ลดความโลภ โกรธ หลง

3. อาสนะ Posture (Asana)
หมายถึงท่าในการฝึกโยคะ เป็นท่าสำหรับการบริหารร่างกาย ฝึกยืดกล้ามเนื้อกระตุ้นให้การทำงานประสาทและต่อมต่างๆ

4. ปราณายะมะ Breath control (Pranayama)
เป็นการฝึกกำหนดลมหายใจโดยเป็นการฝึกการหายใจเข้า การหายใจออก และการกลั้นหายใจ

5. ปรายาหาระ Sensory inhibition (Pratyahara)
หมายถึงการควบคุมความรู้สึกต่าง รู้สึกอยากได้ รู้สึกโกรธ เมื่อจิตใจไม่ติดยึดกับวัตถุหรืออารมณ์ ก็ทำให้จิตใจผู้นั้นบริสุทธิ์และมีพลังงานในการคิดหรือทำดี

6. ธารนะ Concentration (Dharana)
คือความมีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่กระทำอยู่ เมื่อกายอยู่ในท่าโยคะ ให้จิตใจสนใจแต่เรื่องลมหายใจ ไม่คิดเรื่องอื่น

7. ธยานะ Meditation (Dhyana)
คือการที่จิตใจที่เพ่งอย่างต่อเนื่องจนเกิดสมาธิ ไม่ว่าจะเปลี่ยนท่าโยคะไปท่าใดผู้ฝึกก็ยังมีจิตใจไม่วอกแวก หากฝึกถึงขั้นนี้ร่างกายจะรู้สึกเบาสบาย มั่นคง จิตใจแจ่มใส

8. สมาธิหรือฌาณ Ecstasy (Samadhi)
เป็นเป้าหมายสูงสุดของการฝึกโยคะ ทางพุทธเรียกฌาณ ร่างกายจิตใจอยู่ในสภาวะพัก มีความสงบนิ่งสมดุล ผู้ฝึกจะมีสติและรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายของการฝึกโยคะ Raja-Yoga คือการปลดปล่อยตัวเองจากโลภ โกรธ หลงและมีสมาธิ

ผมคิดว่าอันนี้คงช่วยให้เราหายสงสัย ว่าที่แท้จริงแล้วทำไมหลายๆคนจึงหันมาฝึกโยคะกัน แล้วก็จะได้เข้าใจว่าการฝึกโยคะไม่ใช่แค่การทำตัวอ่อนท่าสวยแบบไร้สติ เราหลายๆคนรวมทั้งผมด้วย คงยังไปไม่ถึงข้อที่7-8 ของมรรค 8 แห่งโยคะหรอก (หากไปถึงขั้นนั้นได้  ป่านนี้คงไปบวชกันหมดแล้วครับ...พี่...น้อง...) 

อย่างไรก็ตามแต่ หากเราฝึกโยคะอย่างมีสติตามแนวทางแห่งโยคะที่แท้จริง เราจะรู้จักกับตัวเราเองมากยิ่งขึ้น เราก็คงจะได้พบกับสมดุลย์ของชีวิตเราเอง ไม่นำพาเราไปสู่การบาดเจ็บจากการฝึกโยคะ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างกลมกลืนและมีความสุข

ขอมรรค 8 แห่งโยคะจงอยู่ในใจของผู้ฝึกโยคะทุกๆคนตลอดไป เทอญ

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก สถาบันโยคะวิชาการ http://www.thaiyogainstitute.com/

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กรรมะโยคะ...


กรรมะโยคะ...

พอเราอ่าน คำว่า "กรรมะโยคะ" แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ ฟังดูน่ากลัวใช่ไหมล่ะครับ อาจจะทำให้เราคิดไปถึงเรื่องเวรกรรม(ก็ไม่ผิด ถือว่าคิดไปถูกทางด้วยล่ะ) ชาวต่างชาติมักออกเสียงว่า "กามาโยคะ" แต่อย่าคิดไกลเลยเถิดไปถึงกามาสูตรนะครับ เดี๋ยวมันจะผิดประเด็นกันไปใหญ่ จริงๆแล้วผมก็ไม่ได้มีความรู้ด้านภาษาสันสกฤตหรอกครับ อาศัยว่ามันใกล้เคียงกับภาษาไทย บวกกับการคอยสอบถามผู้รู้บ้าง และพยายามศึกษาเองบ้าง ก็เลยพอทราบความหมายของศัพท์สันสกฤตพื้นฐานบางคำ

กรรมะโยคะ ในที่นี้คนทั่วไปในวงการโยคะเขาจะเข้าใจกันว่ามันคือการทำอะไรเพื่อคนอื่น,ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจอันบริสุทธิและไม่หวังสิ่งใดๆตอบแทน บางสถาบันโยคะในอินเดีย อาจใช้คำที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นคือ คำว่า "Seva เสวะ" ก็คือการช่วยเหลือสังคม ทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับสังคม พูดแล้วก็คือการทำบุญสร้างกุศลตามแบบของชาวพุทธเราดีๆนี่เอง ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี และก็คงมีวิธีการสร้างบุญสร้างกุศลที่ใกล้เคียงคล้ายคลึงกัน เป็นสิ่งที่ดีมากๆสังคมเราจะน่าอยู่ หากเราคอยช่วยเหลือดูแลเกื้อกูลกัน

กรรมะโยคะ ในแนวทางโยคะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้นกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ  ในทางความคิดง่ายๆก็คล้ายๆ การเอาใจเขา...มาใส่ใจเรา... ในบางเวลา บางครั้ง เราต้องการความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆจากคนในสังคม แต่บางครั้งหรือหลายครั้งที่เราไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร แต่ในที่สุดก็มีคนใจดีมาช่วยเรา คนที่มาช่วยเราถือได้ว่าเขาได้ทำกรรมดี จัดเป็นกรรมะโยคะได้เช่นกัน  ในชีวิตเราทุกคนผมคิดว่าเราได้ทำกรรมดีมาแล้วอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่าการประกอบกรรมดีต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะเป็นอานิสงค์ ให้เราพบเจอแต่สิ่งดีๆในภายภาคหน้า(ทำดี ได้ดี...ทำชั่ว ได้ชั่ว) 

ผมว่าเป็นปรัชญาขั้นสูงสำหรับเรื่องของโยคะ เป็นอะไรที่เห็นผลทันที แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรานะครับ(ไม่ใช่ร่างกาย) ทุกครั้งที่เราทำกรรมะโยคะหรือกรรมดี เราจะรู้สึกสุขใจ อิ่มเอิบใจ อย่างชัดเจน ถึงแม้นบางกิจกรรมอาจจะเหน็ดเหนื่อยมากๆก็ตาม แต่เราก็ยินดีทำมันโดยไม่ปิปากบ่น และมีความสุขที่จะทำมัน  ในชีวิตผมก็มีทั้งด้านมืดและด้านสว่างในจิตใจ ก็คงเหมือนๆกับทุกๆคน แต่หวังว่าด้านที่สว่างจะมากกว่า(อย่าให้ด้านมืดในจิตใจครอบงำมากเกินไป จนกลายเป็น Lord Dark Weider ใน Star War) 

ผมก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่มักจะพยายามหากิจกรรมช่วยเหลือสังคมทำบ่อยๆ ที่ผมทำบ่อยมากๆเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็คือ การไปวิ่งการกุศล10 กิโลเมตร เช้าตรู่วันอาทิตย์ ผมว่าเป็นอะไรที่เราเรียก "ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว" คือได้ทำบุญทำกุศลพร้อมกับการได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้คนมากมายในเวลาเดียวกัน  นักวิ่งแนวหน้าหลายๆท่าน น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาผมดี เพราะไปบ่อยมากๆ โดยผมร่วมทีมวิ่งกับธนาคารไทยพาณิชย์ ก็สุขใจทุกครั้งที่ได้ไป เขาก็จะนำเงินจากการสมัครวิ่งของเราไปทำการกุศลฯ ช่วงหลังภาระการสอนของผมเยอะมากๆและมีงานสอนตอนเช้าวันอาทิตย์ด้วย จึงเป็นเหตุให้ผม ต้องห่างหายจากการวิ่งการกุศลไปโดยปริยาย

ในโลกแห่งการสอนโยคะ ของผมก็เจอทุกรูปแบบล่ะครับ บางครั้งก็โดนเบี้ยวค่าสอนบ้างแต่ก็มีไม่มากและจำนวนเงินก็ไม่เกินหลักร้อย(ผมก็พอทำใจได้ไม่ยาก และคิดว่าไปทำบุญด้วยการสอนโยคะก็จบกันไป)  มีบางกรณี คือการไปสอนลูกค้าประเภทที่เรียกว่าส่วนตัว ที่ให้เราไปสอนให้ที่บ้านเขาเลย บางครั้งเขาก็พาเพื่อ,พาญาติมาเรียนกัน เพื่อเป็นการหารค่าใช้จ่าย ข้อดีของการสอนประเภทส่วนตัวแบบนี้ก็คือเราสามารถเรียกราคาค่าสอนได้ตามที่เราและเขาพอใจ ก็จะได้ค่าสอนมากกว่าที่เราไปสอนตามเฮลท์ครับหรือฟิตเนสทั่วๆไปอย่างแน่นอน  ข้อเสียคือบางครั้งเรากำลังเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปสอนเขาแล้วอยู่บนเส้นทางที่ใกล้จะถึงบ้านเขาแล้วหล่ะ บางครั้งถ้าซวยหน่อยคือไปถึงหน้าบ้านเรียบร้อยแล้ว  ดันโทรมาของดเรียนแบบกระทันหัน ซึ่งตรงนี้สำหรับผมถ้าไม่ได้สอนก็ไม่กล้าที่จะไปคิดเงินค่าเดินทางอะไรกับเขาเดี๋ยวเขาจะหาว่าเรา ยุ๋มยิ๋ม, คิดเล็กคิดน้อย, เขี้ยว หลายๆครั้งพยายามทำความเข้าใจ แบบเอาใจเขา มาใส่ใจเรา (แต่สุดท้ายคนที่เสียความรู้สึกมากที่สุดก็คือตัวผมนี่เอง) ทั้งๆที่ผู้มีประสบการณ์หลายท่านในวงการโยคะต่างก็บอกว่า ควรขอเก็บเงินล่วงหน้า หากเกิดการงดเรียนต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน 24ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะถูกหักเงิน 50% ของการจ่ายค่าสอนครั้งนั้นๆเป็นค่าเสียเวลาของครูผู้สอนผมก็ไม่เคยทำตามที่เขาแนะนำหรอก แบบว่าเป็นประเภทขี้เกรงใจมากๆ  ก็เลยคิดตามแนวทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นการปลอบใจตัวเอง ว่าชาติที่แล้วเราอาจจะเคยติดค้างเขาไว้เลยต้องชดใช้ในชาตินี้(แหม! พ่อพระแท้ๆ) แต่เพื่อเป็นการดับเหตุแห่งทุกข์ผมจึงค่อยๆเลิกรับงานสอนลักษณะส่วนตัวไป จนกระทั่งไม่รับเลยในที่สุด ผมเลือกที่จะสอนตามฟิตเนส, เฮลท์คลับ เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะได้ค่าสอนน้อยกว่านิดหน่อยแต่ก็ค่อนข้างแน่นอนและชัดเจน มีการทำงานที่เป็นระบบ แบบแผนมากกว่า ประกอบกับช่วงหลังผมมา ทำเทรนนิ่ง คือสอนคนอื่นเพื่อไปเป็นครูสอนโยคะอีกทีหนึ่ง ก็เลยรับงานสอนน้อยลง แต่มาทำเทรนนิ่งมากขึ้น ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็น(เวร)กรรมของผมเกี่ยวกับการสอนโยคะล่ะครับ

มีครั้งหนึ่ง ผมได้นำนักเรียนในคอร์สครูฝึกโยคะ 200ชั่วโมง จากสถาบัน ฟิต ที่ผมรับผิดชอบการเทรนนิ่ง ไปทำกิจกรรมพิเศษ ด้วยการไปสอนโยคะให้กับคนตาบอด เป็นกรรมะโยคะที่ต้องจดจำไปตลอดชีวิต วันนั้นมีนักเรียนไปช่วยผมหลายคน ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน แรกๆก็แบ่งกันดีเลยเชียว ว่าใครจะสอนตรงไหน พอทำไปทำมา กลายเป็นว่า ผมสอนเกือบหมด เพราะต้องอธิบายให้ละเอียดมากกว่าปกติแบบที่ไม่เคยทำที่ไหนมาก่อน นักเรียนที่ไปร่วมสอนกับผมหลายๆคนประสบการณ์ในการสอนยังไม่มากนักจึงไม่รู้ว่าจะพูดแบบไหนดีที่จะทำให้คนที่มองไม่เห็น เข้าใจและทำท่าตามที่เราต้องการได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน มันทำให้ผมพอจะเข้าใจว่าควรจะต้องอธิบายเขาแบบไหนดี ทั้งๆที่ผมก็ไม่เคยสอนคนตาบอดมาก่อน พอสอนเสร็จผมรู้สึกว่าเหนื่อยมากกว่าการสอนโยคะปกติสองหรือสามเท่าเพราะต้องพูดตลอดเวลาจริงๆ แล้วก็ต้องคอยมองพวกเขาตลอดเวลาว่าทำตามทีผมพูดได้อย่างถูกต้องหรือไม่ การสาธิตด้วยการทำท่าโยคะอาสนะไม่มีความหมายเลยสำหรับที่นี่ (เพราะนักเรียนกลุ่มนี้มองไม่เห็นครูผู้สอน) คนสอนทำได้แค่พูดและพูดให้เขาเข้าใจมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้เท่านั้น มันเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายผมมากๆ  ผมใช้พลังเยอะมากๆในการสอนครั้งนี้  สอนเสร็จคอแห้งมากๆและมีคราบขาวๆรอบๆขอบปากผม เป็นสัญญาลักษณ์บอกให้ทราบถึงการขาดน้ำ เพราะในขณะที่สอน ผมได้ดื่มน้ำน้อยมากๆ  แต่เพียงแป๊บเดียว ความรู้สึกเหนื่อยร้าทั้งหมดของผมก็หายไปโดยสิ้นเชิงหลังจากที่ได้เห็นรอยยิ้มแห่งความสุขจากกลุ่มของคนตาบอดที่มาเข้าฝึกโยคะกับพวกเราในครั้งนี้ พอเสร็จคลาสก็เป็นช่วงเวลาของการรับประทานอาหารกลางวัน ก็เลยถือโอกาสช่วงที่รับประทานอาหารกลางวันด้วยกันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคนตาบอด คนตาบอดบอกว่าชอบมากๆ หากเป็นไปได้ก็อยากให้ไปสอนพวกเขาบ่อยๆ ปกติเขาก็เคยมีการฝึกโยคะอยู่บ้างแล้วก่อนหน้านี้ แต่ที่พิเศษก็คือวันนี้ได้ไหว้พระอาทิตย์(สุริยะนมัสการ)เนื่องจากเขาไม่เคยไหว้พระอาทิตย์มาก่อนเลย  กลุ่มคนตาบอดที่มาฝึกโยคะกับพวกเราดูมีความสุขมากๆ แต่พวกเขาจะรู้หรือไม่ว่าผมและคณะที่มาช่วยร่วมสอนทุกคนก็มีความสุขมากๆไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพวกเขาเลยเช่นกัน (ผู้ให้ย่อมสุขใจกว่าผู้รับ)

การได้ไปสอนโยคะให้กับคนตาบอดของผมในครั้งนั้น เป็นกรรมะโยคะที่ผมรู้สึกประทับใจและคงไม่มีวันลืมได้ คิดถึงสิ่งนี้เมื่อไหร่ ก็รู้สึกสุขใจ อิ่มเอิบใจทุกครั้ง...

แล้ววันนี้คุณได้ประกอบกรรมะโยคะบ้างหรือยัง?

ขอพลังแห่งกรรมะโยคะจงอยู่กับผมและผู้ที่มีศรัทธาในกรรมะโยคะทุกคนตลอดไป เทอญ

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โยคะ...คืออะไร?...


โยคะ...คืออะไร?...

ผมได้พูดถึงเรื่องหลายเรื่อง เพื่อเป็นการเล่าประสบการณ์ต่างๆเกี่ยวกับโยคะของผมให้ทุกท่านได้อ่าน แต่จริงๆแล้ว มันเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆของโยคะเพียงเท่านั้น ส่วนโยคะที่แท้จริงแล้วเป็นฉันใด? ดังนั้นในบทความนี้ก็เลยอยากให้ทุกๆท่านได้ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปของโยคะ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

โยคะคือภูมิอันนิรันดร์ของอินเดีย มีหลักฐานเกี่ยวกับโยคะตั้งแต่สมัยอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ เมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าโยคะมีมากกว่า 5,000 ปีแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาโยคะยังคงเป็นศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของวัฒนธรรมอินเดีย และยังคงมีบทบาทสำคัญ มีคุณค่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคสมัย


โยคะถือกำเนิดจากอินเดีย โดยมีความผูกพันอยู่กับปรัชญาและศาสนาฮินดู หากแต่สาระสำคัญของโยคะได้แยกออกจากความเชื่อทางศาสนาโดยสิ้นเชิง ทั้งโยคะยังไม่เคยเรียกร้องหรือกล่าวอ้างถึงความเชื่อใด ๆ โยคะเป็นศาสตร์ที่เปิดกว้างต่อมนุษย์โดยไม่ขึ้นกับศาสนา ไม่ขึ้นกับชาติพันธุ์ใด ๆ แก่นของโยคะอยู่ที่การแสวงหาทางจิตวิญญาณ ด้วยความปรารถนาที่จะเข้าใจลึกลงไปถึงความหมายของชีวิต รวมทั้งองค์ประกอบโดยรอบ

คำว่าโยคะซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “รวม, เต็ม หรือ Integration” กล่าวคือโยคะหมายถึงกระบวนการที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างเป็นองค์รวมให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการทำความรู้จักตัวตนของตนเองและการลดทอนหรือขจัดสภาวะต่าง ๆ ที่บั่นทอนความเป็นองค์รวมนี้

ด้วยคำจำกัดความเช่นนี้ โยคะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง จำเป็นต้องหมั่นตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา และเกี่ยวโยงกับทุก ๆ แง่มุมของชีวิต

ในการอยู่อย่างเป็นองค์รวม โยคะให้ความสำคัญกับเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์รู้จักมูลเหตุทุกชนิดที่ขาดความสมดุล อันเกิดความเจ็บป่วย และจัดปรับให้มันคืนสู่ความเป็นปกติ ดังนั้นโยคะอันเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วย พัฒนาการทางด้านจิตของมนุษย์ จึงเป็นศาสตร์ทางด้านกาย ทางด้านการบำบัดรักษาไปพร้อม ๆ กัน

โยคะคืออะไร?

ในเบื้องต้น เราพอจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า โยคะคือวินัยต่อร่างกายและจิตใน มุ่งไปที่การประสานกลมกลืนกันของระบบต่าง ๆ ของชีวิต โดยอาศัยเทคนิคหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ทั้ง อาสนะ (การฝึกท่าทางกาย), การหายใจ, และสมาธิ ฯลฯ

สภาวะ 3 ประการของโยคะ

1. การรวมกาย – จิต เข้าด้วยกัน อันหมายถึงการมีสติ รู้อยู่กับ กาย ตลอดเวลา

2. ความสมดุล โยคะคือการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งสมดุลภายในตนเอง และสมดุลระหว่างตนเองกับสิ่งรอบตัว

3. การพัฒนาจิต กระบวนการของโยคะเป็นการฝึกจิต โยคะทำให้จิตเข้มแข็ง ตลอดจนยกระดับจิตให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หากเราสามารถผสานโยคะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เราจะพบว่าโยคะไม่เพียงคลายปัญหาต่าง ๆ ให้เราโยคะยังเปิดหนทางใหม่ของการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข


อาสนะ ทำไม และ อย่างไร?

แปลและเรียบเรียงจาก คำนำ หนังสือ Asana How & Why โดย Sri O.P. Tiwari พิมพ์โดย Kaivalyadhama, India

หนังสือ “ทำไมเราต้องฝึกอาสนะ และฝึกอย่างไร” นี้ ไม่เคยมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือเพราะผู้เขียนเชื่อว่าตนเขียนได้ดีกว่า หากเป็นเพราะผู้เขียนรู้สึกว่าเราควรมีหนังสือเกี่ยวกับอาสนะที่เขียนด้วยภาษาง่าย ๆ อ่านเข้าใจกันได้ทุกคน

ในความเป็นของผู้เขียน หนังสือ Asana โดย สวามี กุลวัลยนันท์ น่าจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับอาสนะที่ดีที่สุด หนังสือดังกล่าวตีพิมพ์ในปัจจุบัน ได้รับอานิสงค์มาจากหนังสือดังกล่าวรวมทั้งหนังสือ “ทำไมเราต้องฝึกอาสนะและฝึกอย่างไร” เล่มนี้ด้วย

ชื่อหนังสือเล่มนี้ มาจากคำถามยอดนิยมที่นักเรียนชอบถาม “ทำไมเราต้องฝึกอาสนะและฝึกอย่างไร” เรารับรู้ว่าการทำอาสนะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่มีใครอธิบายให้ฟังได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ปัจจุบัน มีการสอนโยคะกันมากครูแต่ละท่านก็อธิบายแตกต่างกันไป บ่อยครั้งก่อให้เกิดความสับสน จึงจำเป็นที่ผู้เรียนควรจะรู้ ควรจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงเทคนิคต่าง ๆ ของอาสนะ ว่ามันจำเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่าอาสนะคืออะไร อาสนะคือท่านั่งพักเฉพาะตัวของสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งมีทั้งหมด 84,000,000 (แปดสิบสี่ล้าน) ท่า ตามจำนวนของสัตว์ทั้งหมด 84 ล้านชนิด

นักประวัติศาสตร์พบรูปปั้นคนทำอาสนะ ในทวีปอเมริกาใต้ (ประเทศเม็กซิโก) มีอายุราว 3500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อาสนะ ได้รับความสนใจ และเผยแพร่ออกนอกอินเดีย สำหรับผู้เขียน ประโยชน์ของอาสนะ จึงมิใช่เพียงการสอนมนุษย์ให้รู้จักนั่งอย่างไรเท่านั้น หากยังสอนให้เรามีสุขภาพดี ทำให้ปราณ หรือพลังชีวิตภายในไหลเวียนได้ดี นักประพันธ์ชาวอินเดียได้เขียนไว้เมื่อราวปี ค.ศ. 300 ว่า “หากเราไม่สามารถเข้าถึงการหลุดพ้นตามวิถีพุทธ ให้ลองพยายามแบบวิถีโยคะ” สรุปได้ว่าอาสนะคือ การสอนให้เรานั่งให้ตรง ทำให้ร่างกายแข็งแรง ให้ปารณไหลเวียนได้ดี เพื่อพาเราไปสู่การหลุดพ้น อันคือเป้าหมายทางจิตวิญญาณของมนุษย์

ทุกวันนี้ เรากล่าวเรื่องประโยชน์ของอาสนะต่อสุขภาพกันมาก สวามี กุลวัลยนันท์ อธิบายไว้ดังนี้ “อวัยวะของมนุษย์ล้วนทำจากเนื้อเยื่อ สุขภาพของมนุษย์จึงขึ้นกับสุขภาพของเนื้อเยื่อ ตามหลักสรีระวิทยา ความแข็งแรงของเนื้อเยื่อขึ้นกับหลัก 3 ประการ คือ

1. มีสารอาหารที่เหมาะสมมาหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ และมีฮอร์โมนมาหล่อเลี้ยง

2. มีการขจัดของเสียออกจากเนื้อเยื่ออย่างมีประสิทธิภาพ

3. ระบบประสาทที่เชื่อมโยงมาตามเนื้อเยื่อทำงานได้ดี

ทีนี้มาดูกันว่าอาสนะทำหน้าที่ 3 ประการนี้ได้อย่างไร ในสองข้อแรก สารอาหารที่เหมาะสมไม่ได้ขึ้นกับอาหารที่เรารับเข้าไปเท่านั้น หากขึ้นกับประสิทธิภาพของการย่อยและการดูดซึมด้วย โดยมีเลือดเป็นตัวนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย นั่นคือระบบไหลเวียนของโลหิตก็ต้องดี อาสนะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดี อาสนะทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง ทั้งอาสนะยังทำให้อวัยวะในช่องท้องวางตัวในตำแหน่งที่ถูกต้อง ช่วยให้การขจัดของเสียเป็นไปด้วยดี

ระบบไหลเวียนของโลหิตขึ้นกับหัวใจซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงที่สุด โยคะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ท่าอาสนะบางท่ายกกระบังลมขึ้นสูง เป็นการนวดกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง นอกจากนั้น ระบบโลหิตยังขึ้นกับสุขภาพของหลอดเลือด อาสนะที่กลับเอาเท้าชี้ฟ้า ช่วยลดปัญหาเส้นเลือดขอด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้หัวใจ และวาล์วในหลอดเลือดได้มีโอกาสพัก

สุขภาพที่ดีของเนื้อเยื่อยังขึ้นกับออกซิเจน อาสนะทำให้ระบบหายใจทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ระบบหายใจกับความแข็งแรงของปอด และกล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่าอาสนะหลายท่าทำให้เราต้องสูดหายใจเข้าลึก บ้างต้องกลั้นหายใจซักครู่ ทำให้ปอดรับออกซิเจนได้เต็มที่ บางอาสนะก็เป็นการช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพของโพรงจมูกโดยตรง

ระบบฮอร์โมน ที่ดีมีผลโดยตรงต่อสุขภาพที่ดี อาสนะช่วยบริหารต่อมไทรอยด์ ต่อมพิตูอิตารี และต่อมไพเนียล อาสนะทำให้อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ มีสุขภาพแข็งแรง

ในข้อที่สาม เรื่องของระบบประสาท เนื้อเยื่อทุกชิ้นต่อเชื่อมกับระบบประสาท ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อทำงานได้ระบบประสาทที่ดี ก็จะทำให้เนื้อเยื่อทำงานได้ดี อาสนะหลายท่าทำให้เลือดไหลไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดี ส่งผลให้เส้นประสาททั้งหลายดีไปด้วย และอาสนะทุกท่าทำให้สร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกสันหลัง อันเส้นทางเดินของระบบประสาทจากสมองที่เชื่อมไปยังอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย

นอกจากประโยชน์ของอาสนะเพื่อการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายแล้ว อาสนะยังให้ประโยชน์ในเรื่องของการเข้าสู่สภาวะแห่งสมาธิ ท่าอาสนะเพื่อสมาธินี้ได้รับการจัดแบ่งไว้เป็นอีกหนึ่งกลุ่ม อาสนะในกลุ่มนี้ฝึกให้แนวกระดูกสันหลังตรง ลดแรงกดในบริเวณช่องท้อง ให้เลือดไหลเวียนมาบริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น หล่อเลี้ยงประสาทปลายกระดูกก้นกบ ทั้งยังลดการเคลื่อนไหวของร่างกาย อันเป็นการลดการใช้พลังงานของร่างกาย นำพาร่างกายเข้าสู่ภาวะสงบนิ่ง เป็นสมาธิ

ปตัญชลีระบุว่า “อาสนะทำให้ชีวิตสงบ และเป็นสุข” ทั้งยังตีความได้ว่า อาสนะคือท่าที่ทำให้เรานิ่ง และสบาย ศรี สวาตะมาราม กล่าวว่า “อาสนะจะต้องเป็นไปเพื่อความสงบ, ปราศจากโรค ขณะเดียวกันก็เพื่อ ความเบาสบาย และความสุข หาไม่แล้วท่าต่าง ๆ ที่เราฝึกก็เป็นเพียง การออกกำลังกายชนิดหนึ่ง” เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเช่นนั้น เราจะฝึกอาสนะอย่างไร โดยปตัญชลีตอบว่า “ขณะทำอาสนะ การใช้แรงให้เป็นไปจะเหนือกว่าฝึกแบบอาสนะ โดยไม่มีความสงบทั้งร่างกาย และจิตใจ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะเข้าใจกับโยคะมากขึ้น และนำการฝึกโยคะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้อย่างเหมาะสม

ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่ผมและผู้ฝึกโยคะทุกคนตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ขอขอบคุณ ข้อมูล: โยคะคืออะไร จาก สถาบันโยคะวิชาการ http://www.thaiyogainstitute.com/

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มีคนเคยบอกว่า ฝึกโยคะแล้วใบหน้าจะดูเยาว์วัย, ความจำก็จะดี (((?)))



(จิมมี่ในท่าศรีษะอาสนะและสรวางคอาสนะ)

มีคนเคยบอกว่า ฝึกโยคะแล้วใบหน้าจะดูเยาว์วัย, ความจำก็จะดี (((?)))

เมอร์รี่ คริสต์มาส ครับ สาวกโยคะทุกๆท่าน ที่ผ่านเข้ามาอ่านบทความ วันนี้ 25 ธันวาคม 2552

กูรูทางด้านโยคะ หลายต่อหลายท่านถึงแม้นว่าอายุอานามจะค่อนข้างมากโขแล้ว แต่ก็ยังดูสุขภาพแข็งแรง เมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกันบางครั้งอาจดูอายุน้อยกว่า ที่สำคัญยังมีความจำที่ดีเยี่ยมอีกต่างหาก หลายๆคนจึงฟันธงว่าอาจเป็นเพราะการฝึกโยคะอย่างต่อเนื่องของท่านแน่ๆ แล้วหลายๆคนก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วมันมีโยคะท่าไหนบ้าง? ที่จะช่วยทำให้เราดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอและไม่ขี้หลงขี้ลืม จากเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี่เองสาวน้อยสาวใหญ่หลายคนจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการหันมาฝึกโยคะแบบทุ่มสุดชีวิต(อนิจจา)

จากบทเกิ่นนำตอนต้น ที่ยังคงทิ้งคำถามที่หลายคนเฝ้าตามหามาตลอดว่า ฝึกโยคะท่าไหน? แบบไหน? จึงจะดูเยาว์วัย และความจำดี จากตำราหลายๆเล่มที่ผมเคยอ่าน จากคำบอกเล่าของอาจารย์หลายๆท่านที่พูดต่อๆกันมา รวมจนถึงประสบการณ์ตรงของผู้ฝึกโยคะหลายๆท่าน ต่างกล่าวไว้ใกล้เคียงคล้ายคลึงกันว่า...ท่าโยคะอาสนะที่มีผลกับระบบไหลเวียนเลือดที่บริเวณใบหน้า,ศรีษะและสมอง มักเป็นท่าที่ทำในลักษณะเท้าชี้ฟ้าหัวทิ่มดินต่างๆ(Inversion Pose) เช่น ศรีษะอาสนะ(Head Stand), นิราลัมภะ ศรีษะอาสนะ(Tri Pot), สรวางคอาสนะ(Shoulder Stand) นอกจากนี้ก็ยังมีท่าโยคะอาสนะ ที่เราทำให้ศรีษะต่ำกว่าสะโพกอีก เช่น อโดมุกขะ สวานาสนะ(Down ward Facing Dog Pose), อุตตะนาสนะ(Standing Forward Bend Down), ประสาริตตะ ปาโดตะนาสนะ(Standing Leg Wide Forward Bend Down), ซาซาคาสนะ(Rabbit Pose) นอกจากนี้ก็ยังคงมีท่าโยคะอาสนะอื่นๆอีกมาก ที่มีผลกับใบหน้า ศรีษะและสมอง

เนื่องจาก ท่าโยคะอาสนะต่างๆดังที่ได้กล่าวมานั้น เป็นการทำให้ศรีษะของเราเปลี่ยนลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งของหัวใจ ซึ่งโดยปกติแล้ว ท่ายืนของมนุษย์นั้น ศรีษะจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าหัวใจ จึงทำให้การสูบฉีดเลือดเพื่อไหลเวียนจากหัวใจไปสู่ศรีษะต้องออกแรงต่อต้านแรงดึงดูดของโลก หัวใจของเราจึงทำงานหนักเสมอเพื่อส่งเลือดไหลเวียนไปยังตำแหน่งที่สูงกว่า ดังนั้นการที่เราทำให้ศรีษะของเราเปลี่ยนลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งของหัวใจ นอกจากจะช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจผ่อนคลายชั่วขณะแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปริมาณเลือดที่ส่งไปสู่ใบหน้า,ศรีษะและสมองอีกด้วย

ในร่างกายของเรามีองค์ประกอบที่แยกย่อยออกเป็นเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆมากมาย และเซลล์ต่างๆเหล่านั้นก็ต้องการสารอาหาร เพื่อมาหล่อเลี้ยง บำรุง ซ่อมแซม รักษา ส่วนที่สึกหลอต่างๆในร่างกายของเรา การที่เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็มีผลทำให้ร่างกายของเราอาจจะต้องเสื่อมสภาพไปก่อนวัยอันควร    ระบบการไหลเวียนเลือดของเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำสารอาหารบางประการไปสู่เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายของเรา ดังนั้นการที่เราทำท่าโยคะอาสนะที่ศรีษะลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าหัวใจ จึงมีผลให้เลือดของเราและอ็อกซิเจนไหลเวียนไปสู่ใบหน้า ศรีษะและสมองอย่างเต็มที่  เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆบริเวณใบหน้าศรีษะและสมองของเราก็จะได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่เพียงพอด้วย  ซึ่งตามข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้เองอาจมีผลทำให้ช่วยชลอการเสื่อมลงของเซลล์บริเวณใบหน้า, ศรีษะและสมอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเราอยากจะมีใบหน้าเยาว์วัยหรือความจำดี ก็ให้ไปทำแต่ท่าต่างๆเหล่านี้ที่ผมกล่าวมา โดยแคร์อะไรทั้งนั้นนะครับ มันยังมีองค์ประกอบอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมายครับ เช่น

- การรับประทานอาหารและการพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

- มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในการฝึกโยคะอาสนะที่ค่อนข้างดี

- มีการแต่งกายที่เหมาะสมสำหรับการฝึกโยคะ

-ในขณะที่ฝึกควรท้องว่าง หรือรับประทานอาหารก่อนที่จะฝึกอย่างน้อย2-3ชั่วโมง

- ฝึกในสถานที่ ที่มีอากาศถ่ายเท สะดวก

- ควรมีเสื่อโยคะ หรือผ้าห่มผืนใหญ่พับสองทบ มารองร่างกายในขณะที่เราฝึกโยคะอาสนะ

- ปิดอุปกรณสื่อสาร และตัดขาดจากสิ่งรบกวนทั้งภายในและภายนอกจิตใจ ในขณะที่ทำการฝึก เพราะในบางท่าอาสนะต้องใช้สมาธิอย่างมาก

- ควรมีการอบอุ่นร่างกายอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเพียงพอ ก่อนที่จะไปทำท่าโยคะอาสนะต่างๆข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว

- ไม่มีโรคประจำตัวหรืออาการบาดเจ็บตามส่วนต่างๆของร่างกายซึ่งเป็นอุปสรรคในการฝึก รวมไปจนถึง ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือนก็ไม่สมควรฝึกท่าต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น หรืออาจปรึกษาแพทย์ก่อนการฝึก (พึงระลึกไว้เสมอว่าครูสอนโยคะไม่ใช่หมอ เพื่อความแน่ใจและถ้าจำเป็นปรึกษาแพทย์ไว้ก่อนเป็นดีที่สุด)

- ท่าโยคะอาสนะบางท่าต้องใช้ทักษะพอสมควรดังนั้น ต้องรู้จักการประมาณตน ควรประเมินตนเองให้ดีเสียก่อนว่าอาสนะไหนเราสามารถทำได้อาสนะไหนควรหลีกเลี่ยงเพราะไม่มีใครจะมารู้จักตัวของเราได้ดีเท่ากับตัวของเราเอง

- ควรได้รับการฝึกภายใต้การแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการฝึกโยคะ สำหรับการฝึกครั้งแรกๆพยายามมาฝึกกับครูผู้เชี่ยวชาญ พอฝึกบ่อยครั้งจนชำนาญแล้วจึงอาจจะค่อยไปเริ่มกลับไปฝึกด้วยตนเอง

- ความพร้อมในการฝึกทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเราในแต่ละวันไม่เท่ากัน ดังนั้นควรมีการประเมินขีดความสามารถของร่างกายเราแบบคลาสต่อคลาส หรือวันต่อวัน อย่าใช้แค่ความเคยชินเพียงอย่างเดียว

- อย่าให้ความเข้าใจผิดๆในการฝึกโยคะ มาเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวคุณเอง(จงเปิดใจให้กว้าง) อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ แบบไร้เหตุผล

แล้วถ้าสิ่งที่กล่าวมาเนี่ยมีทั้งหมด ทำได้(ก็เข้าสู่สภาวะที่เขาเรียกกันว่า ขั้นเทพ ดีๆนี่เอง) แต่ก็ยังไม่ได้เห็นผลอะไรที่ชัดเจน ที่ควรเกิดขึ้นกับใบหน้าและสมอง อันนี้เป็นพวกเดียวกับผมครับแต่ว่าผมยังไม่ใช่ขั้นเทพก็เท่านั้น สิ่งที่เกิดกับผมคือใบหน้าผมคงที่(หน้าตาดูสูงวัยแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เลยดูแก่คงที่), เส้นผมเริ่มลดน้อยหายไปเรื่อยๆ และก็ดูว่าจะหายไปเร็วกว่าปกติ(ไม่รู้มันจะรีบไปไหน), เรื่องของความคิดความจำส่วนใหญ่ผมว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่นานๆทีก็มีบางเรื่องที่ลืมเอาดื้อๆก็มีเหมือนกัน(แล้วถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟังถึงการหลงลืม ที่ต้องจดจำไปตลอดชีวิตของผม)  โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามันน่าจะมีเรื่องของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะตระกูลฝั่งทางคุณพ่อของผมส่วนใหญ่ผมน้อยก่อนวัยอันควรกันทั้งนั้น อีกอย่างก็เรื่องของความบ่อยถี่ในการฝึก ในตำนานกล่าวไว้ว่าโยคะสามารถฝึกได้เป็นประจำทุกวันประหนึ่งว่าเป็นกิจวัตรประจำวัน หรืออย่างน้อยก็ควรฝึกสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณไม่ต่ำกว่า 30 นาที

ของบางอย่าง บางทีก็ต้องใช้เวลา และเวลาที่ใช้ของแต่ละคนก็คงไม่เท่ากัน(บางคนอาจต้องใช้เวลาตลอดทั้งชีวิต)

ความพอดีสำหรับบางคนดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและยังหากันไม่เจอสักที อย่างไรก็ตามแต่ผมก็พึงพอใจมากๆกับสิ่งที่ผมได้รับจาการฝึกโยคะมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อย้อนกลับไปทบทวนความจำครั้งแรกที่ผมเริ่มฝึกโยคะ ผมก็เป็นผู้ชายธรรมดาที่ตัวแข็งคนหนึ่ง ก้มตัวไม่ค่อยลง ปัจจุบันตัวผมอ่อนพอประมาณ(ปัญญาก็เริ่มจะอ่อนตามตัวแล้วตอนนี้) ต้องบอกตรงๆว่าผมคงหันไปทำอาชีพอื่นไม่ได้นอกจากสอนโยคะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังแห่งโยคะจะช่วยให้ผู้ฝึกโยคะทุกท่านมี ใบหน้าที่ดูเยาว์วัยและมีความจำที่แม่นยำไปอีกนานแสนนาน

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป หรือหากท่านต้องการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัวหรือเข้าไปเยี่ยมชมรูปภาพของครูจิมมี่ ก็สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: jimmythaiyoga@yahoo.com www.facebook.com.โดยค้นหาจาก e-mail ขอบพระคุณมากๆครับ

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สุดยอด ปรมาจารย์โยคะ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์


สุดยอด ปรมาจารย์โยคะ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์

ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมานี้ บอกตามตรงเลยว่า ผมทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ มากมายเพื่อตระเวนเรียนโยคะกับกูรูทางด้านโยคะที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย หากท่านเหล่านั้นเดินทางมาย่านเอเชียและถ้าผมมีโอกาส ผมก็มักจะเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์โยคะอย่างไม่ลังเลใจ

ผมคิดว่าช่วงอายุของผมในตอนนี้ ยังสามารถตลุยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ และจำเป็นจะต้องหาประสบการณ์ทั้งทางด้านการเรียนและการสอนโยคะอีกมากมาย เพื่อจะได้พัฒนาตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ผมเริ่มตระเวน เรียนโยคะจากคำบอกเล่า ของผู้รู้ในวงการโยคะ รวมถึงการเสาะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ จึงทำให้พอจะมีข้อมูลว่า

หากคุณจะฝึกโยคะสไตล์ อัษฎางคโยคะ ควร ฝึกกับท่าน ศรี เค ปัฐภี โชอิส แต่ตอนนี้คงไม่มีใครสามารถฝึกกับท่านได้อีกแล้ว เพราะท่านเสียชีวิตไปแล้ว ไม่นานนี้เอง(หรือใครอยากจะไปฝึกกับท่าน ยกมือขึ้น) แต่เราก็ยังสามารถไปฝึกกับหลานชายของท่าน คือ ศรี อา ศารัฐ ซึ่งสืบทอดเจตนารมย์ต่อจากท่าน นอกจากนี้ ก็ยังสามารถฝึกกับลูกศิษย์ที่ได้รับใบอนุญาติจากท่านอีกมากมายทั่วโลก ลูกศิษย์ของท่านที่ผมเคยฝึกด้วยก็คือ เดวิด สเวนสัน และ เคน ฮาราคุม่า

หากคุณจะฝึกโยคะ สไตล์ ไอเยนคาร์ ควร ฝึกกับท่าน บี เค เอส ไอเยนคาร์ โดยตรงเลย ซึ่งปัจจุบันท่าน อายุ มากกว่าเก้าสิบปีแล้ว ผมเคยสัมผัสการฝึกแบบไอเยนคาร์ ที่ซอยทองหล่อ สตูดิโอ ของคุณจัสติน เฮอร์โรล

หากคุณจะฝึกโยคะสไตล์ โยคะบำบัด(วินิโยคะ) ก็ควรฝึกกับ ท่าน ที เค วี เทสิกาจารย์ ซึ่งเป็นบุตรชาย ของท่าน ศรี กฤษณะ มาจารยา กูรูโยคะคนสำคัญของโลกท่านนี้ เป็นอาจารย์ของ ทั้งท่าน ศรี เค ปัฐภี โชอิส และ บี เค เอส ไอเยนคาร์ แนวโยคะแบบบำบัดนี้ผมเคยร่วมคลาสกับลูกศิษย์ของท่าน ที เค วี เทสิกาจารย์ คือ มาร์ค วิทเวล

นอกจากนี้ผมก็เคยเข้าเรียนกับโยคะมาสเตอร์ระดับโลกหลายต่อหลายท่าน อาทิเช่น คลาสอนุสราโยคะกับ จอห์น เฟรนด์, ชีวมุกติโยคะ กับทั้ง ชารอน แกนน่อน และเดวิด ไลฟ์, ธรรมะโยคะ กับ ธรรมะ มิตตา, เพาเวอร์โยคะกับ ไบรอัน เคสท์, ฟอร์เรส โยคะ กับ แอนนา ฟอร์เรส, หฐะวินยาสะ โยคะ กับ เจสัน แคนเดล, อินสปาย่า โยคะ กับ เลนซ์ ชูเล่อร์และแคร์ เพลสลี่, โยจิค อาร์ท กับ ดันแคน หว่อง, ศักติโยคะ กับ รัสตี้ เวลล์, กรีโยคะ กับ มาสเตอร์ คามาล, ยูนิเวอร์แซล โยคะ กับ แอนเดี่ยน แลบป้า, วินยาสะโยคะ กับ ทวี เมอร์ริแกน, และอาจจะมีอีกบางท่านนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ที่ผมเคยเข้าเรียนด้วยแต่อาจคิดไม่ออกหรือหลงลืมไปบ้าง

แต่ก็ยังมีอีกหลายต่อหลายท่านที่ผมอยากจะไปเรียนด้วยแต่ยังไม่สามารถตามไปเรียนด้วยได้ คิดว่าสักครั้งหนึ่งจะต้องหาโอกาสไปเรียนกับท่านต่างๆเหล่านั้นให้ได้ หนึ่งในจำนวนนั้น มีคำบอกเล่าต่อๆกันมาในแวดวงโยคะว่า หากต้องการเรียน กายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา แบบโยคะให้เข้าใจ ควรต้องเรียนกับ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์ แห่ง โยคะซินเนอร์จี้ ออสเตรเลีย เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งในระยะเวลา 3-4ปีที่ผ่านมา ผมถวิลหาอยากจะเรียนกับเขามากๆ เมื่อประมาณ2ปีที่ผ่านมา เขาเคยมาเปิดเวิร์คชอปที่เมืองไทยที่สตูดิโอของอาจารย์สร้อยมณี (ซอย จิม ทอมสัน) ครั้งนั้นผมพลาดอย่างมหันต์ที่ไม่สามารถ งดภาระงานสอนโยคะไปเรียนกับเขาได้

แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันต้นสังกัดของผม บริษัท ฟิตเนส อินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เป็นผู้จัดงาน เอเชีย ฟิตเนส คอนเวนชั่น 2009 และผมก็ทำหน้าที่ประสานงานและเชิญครูโยคะบางท่านมาเป็นวิทยากรในงานนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีมากๆในชีวิตของผมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้าที่งานจะเริ่มประมาณ4-5เดือน ผมจึงไม่ลังเลใจที่จะติดต่อและเชิญ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์ แห่ง โยคะซินเนอร์จี้ ออสเตรเลีย มาเป็นวิทยากร โดยปกติแล้วหากเป็นวิทยากรโยคะระดับโลกบางครั้งการจะเชิญเขามาอาจจะต้อง จองล่วงหน้ากันเป็นปีๆเลย(อันนี้ไม่ได้โม้ คนในวงการโยคะระดับโลกเขารู้กันดี) แต่ในช่วงเวลาที่ผมเชิญเขามานั้นเป็นช่วงที่เขา งานไม่ยุ่งมากนักและพอที่จะเดินทางมาช่วยได้ เขาจึงตกลงมาเป็นวิทยากรให้กับเราในงานนี้(ผมแค่เป็นคนเริ่มต้นติดต่อเขา ที่เหลือเจ้านายของผมคุณซูซาน ฮอสลี่ เป็นผู้จัดการเจรจาต่อ)

ช่วงเวลาประมาณ 4วัน ที่เขาต้องมาอยู่เมืองไทย นอกจากจะมีเพื่อนเก่าของคุณไซม่อนที่เป็นคนไทยคือพี่สรรค์(ธนพล)และชาวต่างชาติที่ผมไม่รู้จักผลัดกันมาคอยดูแลเทคแคร์เขาบ้างในบางเวลาแล้ว ก็มีผมอีกคนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต้องคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้เขาตลอด จึงทำให้ผมทราบและยกย่องเขาทันทีเลยว่า คนนี้แหล่ะโยคีตัวจริง เขาค่อนข้างมีชีวิตที่เรียบง่าย แต่การรับประทานอาหารของเขา สุดยอดของการเลือกรัปประทานอาหารจริงๆ เท่าที่ผมเคยเจอะเจอมา ทำให้ต้องดูแลพิเศษกว่าวิทยากรคนอื่นๆ เนื่องจากในวันที่เขามีสอน ตลอดทั้งวันนั้นเขาไม่ทานอะไรเลยนอกจากน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าวเท่านั้น และจะทานในช่วงที่หยุดพักระหว่างการสอน หากเวลาหยุดพักน้อยเกินไปเขาก็จะไม่ทาน เขาบอกผมว่าเขาไม่ดื่มน้ำเปล่าเลย(โอ้แม่เจ้า!) เขาดื่มแค่น้ำมะพร้าวหรือน้ำผลไม้คั้นสดๆ100%เท่านั้น(โอ้แม่เจ้า!) ช่วงเย็นย่ำค่ำหลังเสร็จสิ้นภาระการสอนเขาจึงจะทานอาหารแบบมังสวิรัต 100% ผัก+ผลไม้ ไม่ทานไข่ ไม่ใส่พริก และไม่ใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร(โอ้แม่เจ้า!) มันจึงทำให้ผมแทบจะไม่มีตัวเลือกของร้านอาหารที่พอจะพาเขาไปหาอะไรรับประทานได้ ผมจึงตัดสินใจพาเขาเข้าไปที่ซุปเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ๆสถานที่จัดงาน พอเขาเข้าไปถึงซุปเปอร์มาเก็ต เขาตื่นตาตื่นใจมากๆ เหมือนเด็กเจอของเล่นอย่างไงอย่างนั้น เขาเลือกหยิบผักผลไม้ที่เขาชอบมาแบบเต็มอัตราศึก ประมาณว่าทานกัน2คนเต็มที่ยังไม่รู้เลยจะทานหมดไหม สิ่งที่เขาชอบและโปรดปรานมากที่สุดนอกจากมะพร้าวคือทุเรียนครับ เขาบอกผมว่าเขาเป็นขาประจำของร้านผลไม้ไทยในซิดนี่ย์ ออสเตรเลีย(ยินดีกับผลไม้ไทยด้วยครับ ดูจากการรับประทานผักและผลไม้ของเขา ประเทศเราน่าจะได้เงินจากไซม่อนปีละหลายหมื่นบาทอยู่) หน้าที่อีกอย่างที่ผมต้องทำให้เขาก็คือ จัดหามะพร้าวมาให้เขา ตลอดทั้งงาน 4วัน เราหมดมะพร้าวสำหรับเขาคนเดียวไปประมาณ 50ลูกครับ (หากอยู่ต่ออีกสักสัปดาห์ อาจทำให้มะพร้าวขาดตลาดถึงขั้นแม่ค้า พ่อค้ากักตุล มะพร้าวเกร็งกำไร) จากตรงนี้พี่สรรค์จึงเตรียมช้อนพิเศษสำหรับขูดและตักเนื้อมะพร้าวมาให้เขา อันนี้เฉพาะเรื่องอาหารการกินของเขาเท่านั้น

ส่วนเรื่องของการสอน เขาครบเครื่องจริงๆครับ คำว่าครบเครื่องของผม คือนอกจากท่าฝึกอาสนะรวมจนถึงเทคนิคปราณยามะรูปแบบต่างๆ จะทำได้ค่อนข้างอยู่ในระดับแอ็ดวานซ์แบบที่ชาวบ้านทำกันไม่ค่อยได้แล้ว ทฤษฎีทั้งทางด้านปรัชญาแห่งโยคะ ภาษาสันสกฤต กายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว เขาก็สุดยอดอีก อันนี้จากประสบการณ์ของผมเท่าที่เคยได้สัมผัสมา ผู้สอนโยคะระดับโลกน้อยคนนักที่จะเข้าใจเรื่องกายวิภาคศาสตร์และวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวอย่างลึกซึ้งแบบนี้  เขาเดินทางไปเรียนโยคะที่ประเทศอินเดียถึง14ครั้ง และเคยผ่านการฝึกกับกูรูโยคะระดับตำนาน อาทิ เช่น ท่าน ศรี เค ปัฏภี โชส, บี เค เอส ไอเยนคาร์, ที เค วี เทสิกาจารย์ และกูรูโยคะท่านอื่นๆอีกมากมาย ฯลฯ เนื่องจากเขาฝึกโยคะมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า40ปี(เริ่มฝึกตั้งแต่อายุยังไม่ถึง10ปี)และเป็นนักกายภาพบำบัด สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สอนครูโยคะมากมายทั่วโลก ทั้งหมดนี้คงเป็นเครื่องการันตรีได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับความสามารถของเขา

เขาสอนเรื่องเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยา วิทยาศาสตร์การเคลื่อนที่กับการฝึกโยคะ ด้วยคำพูดที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ในการฝึกก็สามารถเข้าใจได้ แต่ท่าฝึกของไซม่อนบางท่าอาจจะดูแปลกๆ ดูเหมือนท่ารำมวยจีน มาผสมผสานกับท่าฝึกโยคะ แต่ทุกท่าที่เขาออกแบบมานั้นมีที่มาที่ไปและบอกได้อย่างชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร กล้ามเนื้อและข้อต่อทำงานอย่างไร มีความปลอดภัยในการทำท่างต่างๆเหล่านั้นอย่างไร หลายต่อหลายครั้งในคลาสเรียนที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปช่วยประสานงานและสังเกตการณ์ ก็มักจะมีคำถามหลายๆคำถามจากนักเรียนขี้สงสัยมาถาม นักเรียนจากต่างชาติบางคนบอกว่าสิ่งที่เขาสอนอยู่ดูจะแตกต่างกับสิ่งที่เคยเรียนมาโดยสิ้นเชิง คำถามบางครั้งจึงคล้ายๆเป็นการลองของ แต่ทุกๆครั้ง นักเรียนผู้ที่ถาม ก็จะได้รับคำตอบที่มีเหตุผลชัดเจนมากๆพร้อมกับได้ข้อคิดอะไรบางอย่างให้กลับไปคิด มีสิ่งหนึ่งที่ไซม่อนได้พูดออกมา แล้วผมรู้สึกได้ถึงความชัดเจนของการสอนของเขามากๆก็คือ "คนที่สอนคุณต้องเป็นครูที่เก่งแน่ๆ ทฤษฎีบางอย่างต้องฝึกปฏิบัติถึงจะเข้าใจชัดเจนแล้วจึงจะสามารถนำมาถ่ายทอดต่อได้ แต่ครูบางคนสอนตามตำราทั้งๆที่ไม่เคยฝึกปฏิบัติหรือปฏิบัติแต่ไม่เคยสำเร็จ ครูบางคนปฏิบัติเพียงอย่างเดียวสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไปทำไม ทำไปเพื่อช่วยอะไร และตำราที่ใช้สอนบางเล่มก็ไม่ได้อัพเดต ใช้สืบทอดต่อเนื่องกันเรื่อยมา ยุคสมัยและวิวัฒนาการมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน คำตอบบางอย่างเกี่ยวกับการฝึกโยคะที่คุณได้รับมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่สุดก็ได้ แต่บางคนก็ยังยึดติดปิดตัวเองอยู่ ควรต้องเปิดใจและยอมรับสิ่งใหม่บางสิ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง" อันนี้ผมชอบมากๆ

อ้อเกือบลืมเล่าให้ฟัง! เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของคุณไซม่อนก็คือ ไม่ว่าภูมิอากาศจะเป็นอย่างไรร้อนหรือหนาวขนาดไหนก็ตามแต่ เขาก็จะถอดเสื้อสอน ใส่เพียงกางเกงรัดกล้ามเนื้อเพียงตัวเดียวเท่านั้น(เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ แมนจริงๆ)

จาก 4วันที่ผมได้อยู่กับเขาอย่างใกล้ชิด เป็นประสบการณ์พิเศษที่ผมไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน ขอยอมรับเลยว่า เขาคือสุดยอดของครูโยคะตัวจริง จึงทำให้ผมรู้สึกว่า ผมยังจัดอยู่ในกลุ่มผู้ฝึกโยคะอย่างผิวเผินด้วยซ้ำไป ยังมีสิ่งต่างๆอีกมากมายเกี่ยวกับโยคะที่ผมต้องศึกษาฝึกฝนและเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพลังแห่งโยคะจะอยู่กับผมและผู้ฝึกโยคะทุกๆท่านตลอดไป

รบกวนทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบล็อก ทั้งตั้งใจและบังเอิญเข้ามาอ่านก็ดี ทุกความคิดเห็นของท่านมีความสำคัญมากสำหรับผม โปรดช่วยแสดงความคิดเห็น ด้านล่างของบทความทุกบทความ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข ให้กับผู้เขียนในโอกาสต่อไป ขอบคุณมากๆ ครับ


นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปรมาจารย์โยคะ ไซม่อน บรอก-โอริเวียร์ ลิงค์เข้ามาได้ที่นี่ครับhttp://www.yogasynergy.com/

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger