เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

“ทอม”คู่หูต่างวัยที่มัยซอร์ของผม (Jimmy in Mysore 11)



                           (ผมถ่ายรูปคู่กับ ทอม ที่ด้านหน้าศาลาฝึก KPJAYI.)

“ทอม”คู่หูต่างวัยที่มัยซอร์ของผม (Jimmy in Mysore 11)

  มาถึงตอนนี้ผมก็ได้มาฝึกโยคะที่ K Pattabhi Jois Ashtanga Yoga Institute ประมาณ 3สัปดาห์แล้วล่ะครับ ก็ได้รับประสบการณ์ดีๆต่างๆมากมายและมิตรภาพอันดีงามของเพื่อนๆผู้ฝึกโยคะจากทั่วโลก หนึ่งในชาวต่างชาติที่มาฝึกโยคะที่นี่และผมได้มีโอกาสทำความรู้จักก็คือชาวอังกฤษที่ชื่อ “ทอม”




ทอม มาจากเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ, ลักษณะที่โดดเด่นของทอมก็คือ เขาจะยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกๆคนเสมอ ดูเป็นมิตร ทอมสูงประมาณ 175เซนติเมตร ตัดผมสกรีนเฮดเสมอ (เพราะผมเขาไม่ค่อยจะมีน่ะครับ) จากการที่ได้พูดคุยกับทอมคร่าวๆ ก็ได้ทราบข้อมูลมาว่า ทอม เป็นผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลในการฝึกโยคะมากๆ และเดินทางมาฝึกโยคะที่นี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ ซึ่งก็แน่นอนครับ เขาไม่ใช่มือใหม่สำหรับการฝึกอัษฎางคโยคะที่นี่, (เป็นผมเสียอีกครับที่ถือว่าใหม่มากๆสำหรับการมาฝึกที่นี่) ทอมอายุ 43ปี มีภรรยาแล้วแต่ไม่มีลูก เขาเป็นเจ้าของร้านอาหารในลอนดอน ประเทศอังกฤษ การเดินทางมาฝึกโยคะที่นี่ในครั้งนี้ ทอมจะอยู่ที่นี่เพื่อฝึกเป็นระยะเวลาประมาณ 2เดือน(ทอม บอกผมว่าเดือนเดียวน้อยเกินไปสำหรับเขา)



ทอม มีความชื่นชอบเมืองไทยและคนไทยเป็นอย่างมาก เขาได้เล่าให้ผมฟังถึงสาเหตุของการที่เขาประทับใจและชื่นชอบประเทศไทยของเราว่า มันเริ่มจากการที่น้องชายของเขาได้รับการติดต่อให้มาเป็นผู้ควบคุมดูแลหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียนนานาชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ย่านสีลม, เมื่อน้องชายเขามาอยู่เมืองไทยได้สักพักใหญ่ๆก็เลยชวนเขาให้มาท่องเที่ยวที่เมืองไทย และการมาท่องเที่ยวประเทศไทยครั้งแรกของทอม ก็เลยทำให้ทอมหลงใหลในเมืองไทยอย่างมากมายจนทำให้ต้องกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีกถึง 5ครั้งด้วยกัน(ไม่รู้เหมือนกันครับ ว่าทอมติดใจอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า อิๆๆ) ทำให้ทอมชอบทานอาหารไทย พูดภาษาไทยคำง่ายๆได้อย่างชัดเจน เช่น สวัสดีครับ, ขอบคุณครับ, อร่อยครับ, ส้มตำ, ต้มยำกุ้ง ฯลฯ และปัจจุบัน แม่ครัวคนหนึ่งในร้านอาหารของทอมก็เป็นชาวไทยซึ่งไปพำนักพักพิงอยู่ในประเทศอังกฤษ จนแม่ครัวชาวไทยท่านนี้มีครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ และได้รับสัญชาติเป็นชาวอังกฤษเรียบร้อยแล้ว


นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความน่าภาคภูมิใจของประเทศไทยของเรา ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ดึงดูดใจ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหลายต่างก็นิยมและมักมาท่องเที่ยวที่เมืองไทยของเรา ดังนั้นพวกเราก็ควรจะเป็นเจ้าบ้านที่น่ารัก เพื่อให้เขารู้สึกประทับใจ อย่างที่ทอมรู้สึก จะได้กลับไปบอกต่อๆกันและมาเที่ยวเมืองไทยของเรามากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจการท่องเที่ยวบ้านเราจะได้ดียิ่งๆขึ้น



การที่ผมได้มีโอกาสรู้จักและพูดคุยกับทอมบ่อยๆก็เพราะว่าเราทั้งคู่ได้ช่วงเวลาการฝึก ช่วงเดียวกันนะครับ  ผมกับทอมมักจะได้รับการเปลี่ยนเวลาฝึกจากครูSharath ด้วยกันอย่างไม่ได้นัดหมายเสมอๆ ที่สำคัญก็คือเราทั้งคู่ถูกปรับเวลาในการฝึกบ่อยกว่าคนอื่นๆเขาน่ะครับ  ผมและทอมเริ่มต้นฝึกครั้งแรกของการมาฝึกที่ KPJAYI.ที่เวลา 9:30น.  มาจนถึงวันนี้ผมและทอมก็ได้ถูกปรับเวลาในการฝึกให้เร็วขึ้นมาเป็น7:00น.



                                (รูปภาพการ์ตูน โดยครูบุญชู www.alliscoming.com)
 
การเปลี่ยนแปลงเวลาในการฝึกนั้น ทุกๆคนที่มาฝึกที่นี่ จะได้รับคำสั่งโดยตรงจากครูSharath เท่านั้น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงเวลาฝึกของตนเองได้ การปรับเวลาโดยมาตรฐานของครูSharath ครูก็มักจะขยับเวลาให้แต่ละคนครั้งละครึ่งชั่วโมง  ก็เท่ากับว่าผมและทอมถูกขยับเวลาในการฝึก 5ครั้ง ภายใน 2สัปดาห์(สัปดาห์แรก ฝึกที่เวลา 9:30น.ตลอดครับ) ถือว่าเป็นการปรับเวลาที่รวดเร็วมากๆเลยล่ะครับ พูดกันง่ายๆก็คือเราทั้งคู่จะถูกครูปรับเวลาในการฝึกให้ทุกๆ 2-3วัน เลยครับ, ในขณะที่ผู้ฝึกในกลุ่มที่เริ่มฝึกเวลาเดียวกันกับเราตอน 9:30น. บางคน ก็ยังคงฝึกอยู่ที่เวลาเดิม หลายๆคนถูกขยับเวลาฝึกให้เร็วขึ้นมา แต่ก็ขยับช้ากว่าผมและทอม 

(หวังว่าทุกๆท่านคงจะจำคำว่า Shala Time จากบทความที่ผ่านๆมาของผมได้นะครับ ก็คือการที่ เวลาที่ศาลาฝึกKPJAYI.จะเร็วกว่าเวลาท้องถิ่นปกติประมาณ 20นาทีครับ, และครูจะบอกให้ทุกคนมารอก่อนเวลานัดหมาย 10นาทีเสมอ, ดังนั้นถ้าเวลาในการฝึกของเราเป็น 9:30น. ก็เท่ากับว่าเราจะต้องมารอฝึกตั้งแต่ตอน 9:00น. ตามเวลาท้องถิ่น อย่าพลาดเชียว เรื่องนี้ทุกคนที่มาฝึกที่นี่ต่างรู้กันดี)




เรื่องของการขยับเวลาให้กับผู้ฝึกแต่ละคนนี้ ผมก็ไม่สามารถทราบได้จริงๆล่ะครับ ว่าครูSharath ท่านมีเกณฑ์อะไร ในการประเมินและตัดสินใจ  แต่ขอยืนยันได้เลยว่าในเรื่องของการจดจำนั้น ครูSharathสามารถจดจำรายละเอียดต่างๆของนักเรียนผู้ที่มาฝึกแต่ละคนได้อย่างแม่นยำมากๆ(อาจจะยกเว้นครั้งแรกที่เจอหน้าผมที่นี่ อิๆๆ) 

จริงๆ แล้วถ้าให้ผมประเมินตัวผมเอง ผมก็น่าจะจัดอยู่ในผู้ฝึกกลุ่มกลางๆหรือกลุ่มทั่วๆไปของที่นี่เท่านั้นน่ะครับ ผู้ที่มีทักษะในการฝึกอาสนะที่ดีกว่าผมที่นี่มีอย่างมากมายเลยล่ะครับ ราวกับว่าที่นี่ได้ทำการคัดเลือกมาแต่ยอดฝีมือทางด้านอาสนะแท้ๆ 

กลุ่มของผู้ฝึกที่ได้ฝึกเป็นกลุ่มแรกๆในช่วงเวลาตีสี่ครึ่ง ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว มักจะเป็นกลุ่มของผู้ฝึกระดับIntermediate ไปจนถึง Advance หรือเป็นกลุ่มของครูผู้ที่ได้รับการรับรองAuthorized Ashtanga Yoga Teacher จากKPJAYI.ซะเป็นส่วนใหญ่น่ะครับ

ถ้าจะบอกว่าครูเขาคัดเฉพาะคนที่มีทักษะในการทำท่าอาสนะต่างๆได้ดีให้ขึ้นมาฝึกเร็วๆ "ก็คงจะไม่จริงล่ะครับ" เพราะผมก็เห็นเสมอว่าสำหรับผู้ฝึกบางคนที่ไม่สามารถทำท่าหลักๆต่างๆใน Primary Series ได้, มิหนำซ้ำครูยังสั่งให้หยุดเป็นประจำ ก็ถูกเลือกที่จะให้ปรับเวลาในการฝึกให้เร็วขึ้นมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเช่นกัน  

และจากข้อมูลที่ผมได้คุยๆกันกับทอมก็คือ ถ้าเรามีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย มารอฝึกก่อนเวลาเป็นประจำสม่ำเสมอ ครูเขาน่าจะพิจารณาดูเรื่องของการปรับเวลาจากเหตุผลดังกล่าวนี้เป็นหลัก  

การปรับเวลา ก็จะมีผลดีและผลกระทบแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ส่วนผมกับทอมต่างก็เห็นว่าการถูกปรับเวลาในการฝึกเป็นสิ่งที่ท้าทาย เป็นโจทย์ที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการฝึก คือเราจะต้องปรับเปลี่ยนเวลาในการตื่นนอน และเวลาในการทานอาหารเช้าอยู่เสมอๆ เพื่อที่จะได้ไปฝึกให้ตรงตามเวลาที่ครูได้กำหนดไว้  และถ้าเราได้ฝึกแต่เช้าตรู่ มาฝึกก่อน เราก็จะเสร็จก่อน ได้กลับก่อน เราก็จะมีเวลาระหว่างวันเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้เราสามารถใช้เวลาช่วงสายๆหลังการฝึกไปทำอะไรต่อมิอะไรได้อีกอย่างมากมาย ที่สำคัญเราจะได้สูดอากาศที่แสนจะสดชื่นในยามเช้าตรู่ ตอนที่เราตื่นแต่เช้าเพื่อมาฝึกและตอนที่เพิ่งฝึกเสร็จใหม่ๆในยามเช้าตรู่ก็จะรู้สึกได้อย่างชัดเจนทันที



ก็คงจะมีคำถามคาใจ สงสัยกันพอประมาณว่า แล้วถ้าเรามาฝึกสายกว่าเวลาที่ครูกำหนดไว้ล่ะ จะเป็นไง??? ผมเองก็ไม่เคยไปฝึกสายเลยนะครับ แต่จากการสังเกตก็คือ คนที่มาสายก็จะวิ่งมาถึงศาลาฝึกด้วยความรีบเร่งและขอแซงคิวของผู้ที่มานั่งรออยู่อย่างด้วยความวิตกกังวล กระวนกระวายใจ โดยบอกกับทุกๆคนที่นั่งรอคิวการฝึกอยู่ว่า ตนเองมาสายกว่าเวลาที่ครูนัดแล้ว ซึ่งผู้ที่นั่งรอคิวอยู่ก็จะยินดีที่จะให้แซงคิวเข้าไปล่ะครับ แต่ก็คงจะส่ายหัวพร้อมกับทำหน้าเซ็งๆเล็กน้อย    ก็ง่ายๆครับ พอครูเห็นหน้าครูก็มักจะถามคำถามง่ายๆ กับผู้ฝึกเกือบจะทุกคนว่า เวลาการฝึกของคุณกี่โมง? ถ้าคำตอบที่เราตอบไป เป็นอะไรที่บ่งบอกว่าเรามาฝึกสาย ครูก็จะถามด้วยคำถามเรียบๆง่ายๆต่อมาว่าทำไมถึงมาสาย แค่นั้น แล้วก็ให้เข้าไปฝึกได้ ผมคิดว่าจริงๆแล้วเป็นคำถามที่ครูเขา ไม่ได้ต้องการคำตอบอะไรหรอกครับ แต่เป็นการย้ำเตือนเข้าไปในจิตใต้สำนึกของผู้ที่มาสายต่างหากล่ะ ว่ามาสายกว่าเวลาฝึกที่ครูได้นัดหมายเอาไว้  ผลที่ตามมาในวันต่อๆไปก็คือ ผู้ฝึกท่านนั้นที่มาสายก็ “อาจจะ” ไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนเวลาในการฝึกอีกเลย



 (รูปกวางเรนเดียร์ กำลังถูกครู Sharath Adjust. การDrop Back โดยครูบุญชู www.alliscoming.com)
ในส่วนของซีรี่ส์ที่ฝึก เนื่องจากทอม มาฝึกที่นี่ 3ครั้งแล้ว และทอมก็ฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังนั้น ทอมจึงได้ฝึก ท่าในระดับ Intermediate Series หลายต่อหลายท่าด้วยกัน ส่วนผมหลังจากที่มาฝึกที่นี่ผ่านไปได้ ประมาณ 8ครั้ง ก็เพิ่งจะได้รับประกาศิตจากครูSharath ให้เพิ่มท่าฝึกในระดับ Intermediate Series เข้ามาอีก ทีละท่า  โดยผมมักจะได้ท่าฝึกเพิ่มจากครูSharath ประมาณ สัปดาห์ละ 1-2 ท่า  ทอมบอกกับผมว่า ถือว่าไม่ธรรมดาแล้วสำหรับนักเรียนใหม่ที่มาฝึกที่นี่ครั้งแรก และมาฝึกแค่เพียงเดือนเดียวอีกต่างหาก เพราะหลายคนที่มาฝึกที่นี่ครั้งแรกก็จะได้ฝึกแค่Primary Series เท่านั้น



ทอมยังมีข้อมูลดีๆ มาบอกอีกว่า การที่ครูจะปรับท่าให้ขึ้นมาฝึกท่าใน Intermediate Series ได้นั้นครูเขาจะต้องพิจารณาดูจากภาพรวมการฝึกอาสนะของผู้ฝึกคนนั้นๆ ทั้งเรื่องของความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ทอมบอกข้อมูลเชิงลึกต่ออีกว่า ท่าหลักๆที่มีผลต่อการพิจารณาและจะต้องทำท่าเหล่านี้ให้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดด้วยตนเองก็คือ Ardha Baddha Padma Paschimottanasana, Marichyasana D., Supta Kurmasana, Garbha Pindasana , Upavistha Konasana และการสามารถ ยืนเอนตัวแอ่นโค้งหลังไปเป็นสะพานโค้ง Drop Back ได้ด้วยตนเอง.  ที่ว่ามาทั้งหมดนี่ ก็ท่าปราบเซียนทั้งนั้นเลยล่ะครับ(สามารถย้อนกลับไปดูท่าต่างๆที่ผมได้กล่าวมานี้ ได้ใน บทความเรื่อง “แนะนำคร่าวๆเกี่ยวกับชุดท่าฝึก Ashtanga Vinyasa Yoga  “Primary Series” ของผม) ผมก็เลยบอกทอมกลับไปว่า โถๆๆ! ทอม สรุปกันง่ายๆเลยก็คือถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถทำทุกท่าใน Primary Series ได้อย่างสมบูรณ์แบบตามที่ครูSharath เขามีเกณฑ์ตัดสินในใจของเขาเป็นเครื่องวัด เมื่อนั้นครูก็จะปรับให้เราค่อยๆขึ้นไปสู่การฝึกในขั้น Intermediate Series ทีละท่า ทีละท่า



               (ร้านอาหารที่ ทอม อาสาพาผมมาทาน Hotel Sri Durga Bhavan)

นอกจากเรื่องของการฝึกแล้ว ทอมก็ยังแนะนำเรื่องดีๆทุกๆเรื่องในมัยซอร์ที่ผมควรจะรู้ให้ทราบ ตั้งแต่

เรื่องร้านอาหาร ร้านไหน? เป็นสไตล์ไหน? แบบใด? ราคาถูกแพง? อันนี้ต้องยกให้เขาเลย เพราะทอม เป็นทั้งพ่อครัว เป็นทั้งเจ้าของร้านอาหาร ดังนั้นเกือบทุกร้านอาหารในมัยซอร์ ทอมไปตระเวนกินมาหมดแล้วครับ ไม่ใช่แค่เพียงแนะนำอย่างเดียวครับ ทอมยังอาสาพาผมไปทานร้านประจำ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากศาลาฝึกมากนัก และเป็นร้านอาหารที่เขาโปรดปานมากที่สุดอีกด้วยล่ะครับ
  
แล้วก็มีเรื่องแปลกๆที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ร้านอาหารที่นี่บางร้าน เขาจะนิยมนำคำว่า Hotel มาเป็นองค์ประกอบของชื่อร้าน จนทำให้เรางงว่าเขาเป็นโรงแรมมีห้องพักด้วยหรือ ซึ่งทั้งที่จริงๆแล้วเป็นเพียงร้านอาหารขนาดกระทัดรัดธรรมดาๆเท่านั้น ซึ่งที่นั่งทานไม่มีด้วยซ้ำไป ต้องยืนทานกันเลยล่ะครับสำหรับบางร้าน ดันมีคำว่า Hotel เข้าไปด้วยซะงั้น




                                    (รถตุ๊กๆของอินเดีย ซึ่งเขาเรียกว่า Rickshaw )

เรื่องของรถตุ๊กๆรับจ้าง ที่นี่เขาเรียกว่า Rickshaw ทอมก็จะบอกผมอีกล่ะครับ ว่าให้ใช้บริการวินตรงบริเวณไหน ถึงจะได้ไม่โดนเอาเปรียบ ทอมบอกต่อว่าจริงๆค่าโดยสารมันก็ราคาไม่ได้แพงอะไรหรอก แต่ถ้ามารู้ภายหลังว่าโดนเอาเปรียบโดนโก่งราคาแพงกว่าปกติ เราก็จะเสียความรู้สึกและก็ไม่อยากจะไปใช้บริการ คนขับและรถคันนั้นอีกเลย ทอมยังระบุชื่อให้ผมทราบอีกต่างหากด้วยล่ะครับ ว่าคนขับรถชื่ออะไร รูปร่างยังไง ที่เราไม่ควรจะไปใช้บริการ  เพราะว่าคนขับรถรับจ้างคนดังกล่าวนี้ เขามักจะมองหาแต่คนใหม่ๆที่มาฝึกที่นี่ หรือผู้ที่เพิ่งจะเคยมาที่นี่ครั้งแรก อย่างผมเป็นต้น และก็มักจะโก่งราคาค่าโดยสาร

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในมัยซอร์ที่น่าสนใจ ทอมได้แนะนำว่า ผมควรจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมบ้าง ในฐานะที่มาถึงที่นี่ทั้งที  บางแห่งผมก็ไปมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็มีอีกบางแห่งที่กำลังวางแผนคิดว่าจะไปเยี่ยมชมก่อนที่ผมจะเดินทางกลับเมืองไทย



ก็ถือได้เลยว่า “ทอม” เป็นกัลยาณมิตรของผม และเป็นโชคดีมากๆที่ผมได้มีโอกาสมาพบกับทอมที่มัยซอร์ ประเทศอินเดีย ในการเดินทางมาฝึกโยคะครั้งแรกที่นี่ของผม



ขอมิตรภาพอันดีงาม พลังแห่งโยคะ ความรักและศรัทธาจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง



นมัสเต,



จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger