เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

อนิจจา เมื่อครูจิมมี่ต้องมาอาคมเข้าตัวจากการฝึกโยคะ(Jimmy in Mysore 9)



อนิจจา เมื่อครูจิมมี่ต้องมาอาคมเข้าตัวจากการฝึกโยคะ(Jimmy in Mysore 9)

                                        (ท่า Supta Kurmasana ท่าเต่าหลับ)

ความเดิมจากตอนที่แล้วก็คือ ผมจบการฝึกPrimary Series วันแรกของผมไปได้แบบมีดวงนิดส์ๆ แต่ในความโชคดีก็มีอาการที่เรียกว่า”อาคมเข้าตัว”ติดกลับมาด้วยพอประมาณครับ อาการถึงกับทำให้ผมต้องเดินกลับที่พักด้วยท่าทางที่แปลกไปนิดหน่อยอ่ะครับ 

สืบเนื่องมาจากการพยายามทำท่า Supta Kurmasana (ท่าเต่าหลับ)ให้สำเร็จ จึงทำให้ผมเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อผิดจังหวะเป็นผลทำให้ผมมีอาการเจ็บตึงกล้ามเนื้อบริเวณหลังล่างด้านขวา  สิ่งนี้ล่ะครับที่ผมเรียกว่า “อาคมเข้าตัว” สาเหตุที่ใช้คำนี้ก็เพราะว่า ตัวผมเองเป็นครูสอนโยคะแท้ๆแต่ก็ต้องมาเจ็บตัวจากท่าฝึกโยคะ ฮ่าๆๆ คล้ายๆสุภาษิตคำพังเพยประเภทที่ว่า “หมองูตายเพราะงู” “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” อะไรประมาณนั้น   แต่ก็ต้องบอกเลยว่าอะไรประเภทนี้ผมเจอมาเยอะเจ็บมาเยอะ ขอบอก อย่าได้หวั่นเกรง 

ขั้นต้นถ้าเคยฟังเพลงพี่เบิร์ด ก็จะได้ประโยคเด็ดมาว่า “คนพ่ายแพ้  ก็ต้องดูแลตัวเอง”  ครับอย่าไปบอกกับใครๆที่เขาไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการฝึกโยคะเชียวนะครับ ว่าเราบาดเจ็บจากโยคะมา เพราะเขาอาจซ้ำเติมและขยี้ซ้ำให้เราจี๊ดเข้าไปในใจได้ทุกเมื่อ อิๆๆ  (ดังนั้นเราควรจะต้องเงียบๆเอาไว้แล้วค่อยๆฟื้นฟูดูแลตัวเอง)



จากเหตุการณ์ที่ผมบาดเจ็บกล้ามเนื้อตอนนี้ ทำให้ผมหวนนึกย้อนไปถึงวันก่อนหน้าที่ผมจะเดินทางมาอินเดีย ในช่วงที่ผมกำลังจัดกระเป๋าเดินทาง ก็อดไม่ได้ที่จะต้องถามครูไนเจลว่าทางที่อินเดียเนี่ยต้องการอะไรจากเมืองไทยไหมเอ่ย? ผมจะได้ไปจัดหาให้ก่อนที่จะเดินทางไปอินเดีย  ก็มีของอย่างหนึ่งครับที่ครูไนเจล สั่งเป็นพิเศษให้ผมนำมาด้วยจากเมืองไทย นั่นก็คือ ไทเกอร์บาล์ม สีขาวรุ่นใหม่  

ตอนนั้นคิดแค่เพียงว่าการฝึกจะต้องดุเดือดมากแน่ๆ เพราะขนาดครูไนเจล ที่ได้ผ่านการรับรองจากครู Sri K Pattabhi Jois โดยตรงแท้ๆ ยังต้องถามหา ไทเกอร์บาล์ม, ครูไนเจล บอกผมว่าจริงๆแล้วที่นี่ก็มีแต่เป็นไทเกอร์บาล์มรุ่น ยางหม่องในขวดตลับแก้ว มีฝาเกรียวสีทองสำหรับหมุปิดขวดตลับ(ใช่แล้วครับ มันก็คือ “ยาหม่องตาเสือ” นั่นเองล่ะครับ มีขายในอินเดียครับ) แต่สิ่งที่ครูไนเจล อยากได้คือ ไอ้ตัว Neck & Shoulder Rub น่ะครับผมก็เตรียมมาให้ครูไนเจล แล้วก็เตรียมมาเผื่อตัวเองด้วยครับ ก็คิดดูซิขนาดครูไนเจลยังถามหาไอ้พวกนี้เลย แล้วอย่างเราก็คงไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นเราเตรียมไปเยอะๆเลยดีกว่า

(ผมเตรียมมาเยอะครับ หลายแบบมีทั้งแผนใหม่ แผนปัจจุบัน แผนไทย แบบว่าจัดเต็มเตรียมพร้อมไว้ก่อน)


ดีอยู่บ้างตรงที่หลายปีก่อนหน้านี้ ผมพยายามศึกษาเพิ่มเติมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาสำหรับการฝึกโยคะมาพอสมควร จึงพอที่จะเข้าใจเรื่องของการทำงานของกล้ามเนื้อและการป้องกันการบาดเจ็บรวมจนถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากที่เราได้รับบาดเจ็บ(อันนี้ผมขอแนะนำเลยครับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากๆเลยล่ะครับสำหรับครูสอนโยคะหรือผู้ฝึกโยคะทั่วๆไปก็ดี)  จากอาการที่ผมเป็นนี้บาดเจ็บที่กล้ามเนื้อแน่นอน (วิเคราะจากความรู้อันน้อยนิดของผม อิๆๆ) ดังนั้นสบายใจได้ไปส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเราบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ เราจะใช้เวลาพักฟื้นไม่นานมากนักอาการอาจจะดีขึ้นและหายดีภายใน 3วัน ไปจนถึง 1สัปดาห์, แต่ถ้าเราได้รับบาดเจ็บที่เส้นเอ็นอาจจะต้องใช้เวลาพักฟื้นตั้งแต่ 1สัปดาห์ ไปจนถึงประมาณ 3เดือน เลยล่ะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับบริเวณตำแหน่งของร่างกายที่บาดเจ็บ และความรุนแรงของการได้รับการบาดเจ็บอีกด้วยครับ  การปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยผ่อนหนักให้กลายเป็นเบาได้มากเลยล่ะครับ

 (ภาพการ์ตูน Ashtanga Yoga โดยครูบุญชู จากเว็บไซต์ www.alliscoming.com)


ในกรณีของผมนี้ วิเคราะห์ได้ว่า กล้ามเนื้อตรงบริเวณดังกล่าวที่ผมบาดเจ็บนั้น ถูกยืดออกอย่างรวดเร็วรุนแรงมากไปนิดหนึ่ง เพราะมันเป็นจังหวะที่ผมพลาดกำลังจะล้มลงมาพอดีตอนที่นำเท้ามาพาดศรีษะ กล้ามเนื้อเลยเกิดอาการหดตัวกลับกะทันหันและไม่ยอมคลาย จึงทำให้เรารู้สึกเจ็บตึงปวดตรงบริเวณนั้น  พอผมกลับถึงที่พัก เรื่องของ Counter Pose(ท่าแก้ต่างๆ) และหลักการต่างๆที่จะค่อยๆยืดกล้ามเนื้อมัดดังกล่าว ก็ต้องระดมจัดเต็มกันเข้ามาล่ะครับ คิดในใจง่ายๆแค่ว่าเพิ่งฝึกผ่านไปได้แค่วันแรกวันเดียวเอง ยังไงๆขอให้พรุ่งนี้ฝึกได้ด้วยเถอะอาการอาจจะไม่เต็มร้อยก็ไม่เป็นไรแต่ขอให้ฝึกได้ครบ Primary Series ก็แล้วกัน (สาธุ ภาวนา) 

จากนั้นก็มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้นมาเล็กน้อยถึงปานกลางครับ ทำให้ผมสามารถนอนหลับในคืนนั้นได้อย่างไม่ทรมาน พอตื่นเช้ามาเราก็ควรจะต้องทำการยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เจ็บตึงปวดนั้นอีกรอบหนึ่งครับ เพราะตอนที่เรานอนหลับประมาณ 6-8ชั่วโมงนั้น ร่างกายและกล้ามเนื้อของเราไม่ค่อยได้มีการเคลื่อนไหวมากนัก ประกอบกับอุณภูมิภายนอกจะค่อยๆลดต่ำลงทำให้อุณภูมิภายในร่างกายปรับลดลงตามไปด้วยแบบที่เราไม่รู้ตัว กล้ามเนื้อของเราก็จะหดตัวตามอุณหภูมิที่ปรับลดลงไปด้วยน่ะครับ  ดังนั้นตอนเช้าเราจะรู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงอาการตึงตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายเรา 

และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งทางด้านกายภาพที่เราควรจะฝึกโยคะในยามเช้าตรู่หลังจากที่ตื่นนอนมาใหม่ๆ ซึ่งการฝึกโยคะในยามเช้าแบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและร่างกายของเราเป็นไปกระะฉับกระเฉงยิ่งขึ้นหลังจากฝึกโยคะในยามเช้าเสร็จแล้ว



จากการพยายามฟื้นฟูดูแลตัวเองของผมหลังจากที่บาดเจ็บกล้ามเนื้อจากการฝึก ก็ช่วยทำให้อาการตึงปวดตรงบริเวณดังกล่าวดีขึ้นมาตามลำดับ แต่ก็ยังคงมีอาการตึงปวดอยู่บ้างในการเคลื่อนไหวบางอริยบท  ผมสามารถไปฝึกในวันที่สองได้ด้วยสภาพความพร้อมของร่างกายประมาณ 80-85เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องฝึกแบบพิถีพิถัน และระมัดระวังมากยิ่งขึ้นครับ ในที่สุดผมก็ผ่านการฝึก Primary Series เต็มรูปแบบในวันที่สองนี้ไปได้ครับ  แล้วที่มหัศจรรย์ไปกว่านั้นก็คือพอหลังจากที่ผมฝึกเสร็จแล้ว อาการตึงปวดดังกล่าวก็ดีขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้รู้ฝึกว่าตอนนี้ร่างกายผมกลับมาเกือบปกติเหมือนวันแรกที่เริ่มฝึกแล้วนะเนี่ย ดังนั้นพรุ่งนี้น่าจะเป็นวันที่ฝึกได้อย่างสนุกเพราะซีรี่ส์ท่าก็จำได้แม่นแล้ว ร่างกายก็กลับมาพร้อมอีกครั้งหนึ่งแล้ว



จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ก็คงจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ฝึกโยคะหลายๆท่านได้เป็นอย่างดีว่า ในการฝึกทุกๆครั้งเราควรจะเข้าใจศักยภาพความสามารถร่างกายของตัวเราเองเป็นสำคัญ เราควรจะเตือนตนด้วยตนเองเสมอๆ มีสติในการฝึก และถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท แต่อุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการฝึกโยคะนั้นก็คงจะอดเสียไม่ได้หรอกครับ ที่จะบอกว่ามันเป็นของคู่กัน “ถ้าเราไม่รู้สึกเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ” อิๆๆ  

และก็อยากจะฝากพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆชาวโยคะทุกๆท่านไว้อีกด้วยว่าความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องกายวิภาคศาสตร์, สรีรวิทยา, การป้องกันการบาดเจ็บและการปฐมพยาบาลหลังจากที่เราได้รับการบาดเจ็บก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะต้องรู้ไว้บ้างน่ะครับ ถ้าคุณเป็นผู้ที่รักที่จะฝึกโยคะอย่างยั่งยืน...



ขอพลังแห่งโยคะ ความรักและศรัทธาจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง



นมัสเต,


จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger