เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ก้าวแรกสู่อินเดีย ของครูจิมมี่ (Jimmy in Mysore 2)



ก้าวแรกสู่อินเดีย ของครูจิมมี่(Jimmy in Mysore 2)

 พอกล่าวถึงการเดินทางมาประเทศอินเดีย เชื่อได้เลยครับว่าชาวไทยอย่างเราๆหลายๆคนคงมีทัศนคติในเชิงลบกับการเดินทางมายังประเทศนี้ เพราะเรามักจะได้ยินการเล่าขานต่อๆกันมาถึงความสกปรกต่างๆ ความยากลำบากในการเข้าห้องน้ำห้องสุขา รวมจนถึงน้ำดื่มและอาหารการกินต่างๆของประเทศอินเดีย  ผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เคยเดินทางมาประเทศอินเดีย ได้แต่ฟังคนโน้นคนนี้เล่าเรื่องราวต่างๆนานาสารพัดสารพันเกี่ยวกับอินเดียให้ฟัง แล้วก็เคยได้ดูสารคดีต่างๆเกี่ยวกับประเทศอินเดียมาบ้างพอสมควร พูดตามตรงเลยครับจาการที่ได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆนานามา ก็ทำให้ผมรู้สึกติดลบกับประเทศนี้เล็กน้อยเช่นกันครับ 


แต่ลึกๆในใจผมเองก็คิดว่าที่ประเทศอินเดียน่าจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ เพราะไม่งั้นหลายๆคนจะเดินทางมาประเทศอินเดียกันทำไม? ประเทศนี้ต้องมีอะไรดีซิ! ไม่งั้นคนจากทั่วโลกคงไม่หลั่งไหลเดินทางมาท่องเที่ยวและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปรัชญา แพทย์ทางเลือก(อายุรเวท)ที่ประเทศนี้กันหรอก  อย่างน้อยที่สุดต้นกำเนิดของศาสนาหลายๆศาสนารวมจนถึงศาสนาพุทธของเราก็เกิดขึ้นที่ประเทศนี้ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมและครูสอนโยคะหลายๆท่านรู้สึกอยากจะเดินทางมาที่ประเทศอินเดียเป็นอย่างมากก็คือการที่อินเดียเป็นต้นกำเนิดของศาสตร์แห่งโยคะที่ผมได้ใช้ศาสตร์นี้เป็นวิชาชีพทำมาหากินส่งเสียเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว


ผมตั้งใจเดินทางมาประเทศอินเดียในครั้งนี้ ก็เพื่อจะมาฝึกโยคะที่ K Pattabhi Jois Ashtanga Yoga Institute(KPJAYI) เมืองมัยซอร์  ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2555 ถึง 30 มกราคม 2556 รวมเป็นเวลาประมาณ 1เดือน


การเดินทางมาเมืองมัยซอร์ ผมได้รับข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์หลายๆท่านให้ เดินทางด้วยเครื่องบินมาลงที่สนามบินบังคาลอร์ จากนั้นก็เลือกเอาว่าจะเดินทางต่อไปยังเมืองมัยซอร์ด้วยรถแท็กซี่, รถโดยสารประจำทาง หรือรถไฟ


ผมเลือกบินตรงจากกรุงเทพฯ-บังคาลอร์(อินเดีย) ด้วยสายการบินไทย ไป-กลับ ราคาอยู่ประมาณ19,000บาทครับ ถามว่าตั๋วเครื่องบินที่ราคาถูกกว่านี้มีไหม? คำตอบคือ “มีครับ” แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น และอาจจะต้องไปหยุดเปลี่ยนเครื่อง สรุปเปรียบเทียบกันดูแล้วราคาก็ประหยัดกว่าแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องวุ่นวายและไม่เสียเวลา ผมก็เลยไม่ลังเลใจที่จะเลือกสายการบินไทย เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น ราคาค่าตั๋วเครื่องบินจึงค่อนข้างจะสูง บวกกับการบริการและชื่อชั้นของสายการบินเข้าไปด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลครับ ผมได้เที่ยวบิน TG 325 ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 21:35น. และจะเดินทางจะไปถึงสนามบินบังคาลอร์(อินเดีย) เวลา 23:55น.(ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศอินเดีย ซึ่งเวลาจะช้ากว่าเมืองไทยประมาณ 1ชั่วโมงครึ่ง ครับ) 

การบริการของสายการบินถือว่าค่อนข้างดีมากเลยล่ะครับสำหรับผม    ตอนที่จองตั๋วเครื่องบินนักเรียนโยคะผู้มีใจเมตตาของผมท่านหนึ่งได้อาสาเป็นภาระในการจองตั๋วเครื่องบินให้กับผม เธอพอจะทราบถึงลักษณะพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผม จึงสั่งอาหารบนเครื่องบินให้ผมพิเศษเป็นเมนูปลา ก็อร่อยดีครับ  ส่วนด้านหน้าที่นั่งก็มีจอแอลซีดี ไว้ให้เราสามารถเลือกชมภาพยนตร์ได้ถึงประมาณ สามสิบกว่าเรื่อง(สรุปคือพอเครื่องขึ้นผมก็ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยล่ะครับ นั่งดูหนังจากเมืองไทยไปจนถึงสนามบินบังคาลอร์เลยทีเดียว ดูไปได้เกือบๆ สองเรื่องเลยล่ะครับ)


                      (ภาพของ ที่สำหรับให้มือจับของรถเข็นสัมภาระในสนามบินบังคาลอร์)
ผมมาถึงสนามบินบังคาลอร์ตรงตามเวลา  สนามบินแห่งนี้ถือว่าเป็นสนามบินที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ จึงค่อนข้างที่จะทันสมัย สะดวกสบาย ห้องน้ำสะอาด ก๊อกน้ำใช้ระบบไฟฟ้าเซ็นเซอร์แสงเหมือนตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆในบ้านเรา(ห้องน้ำสะอาดและเผลอๆจะดูดีกว่าสนามบินสุวรรณภูมิของเราด้วยล่ะครับขอบอก ที่เขาว่าอินเดียสกปรกกว่าไม่จริ๊ง ไม่จริง)

จากนั้นผมก็ไปรอรับกระเป๋า ก็ได้สัมภาระครบในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง และใช้รถเข็นของสนามบินเดินลำเลียงสัมภาระออกมาจากสนามบิน(สัมภาระของผมมี 3ชิ้นหลักๆก็คือ กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ความจุประมาณ 25กิโลกรัม 1ใบ, กระเป๋าเป้สะพายหลังไนกี้ 1ใบ, กระเป๋าใส่เสื่อโยคะพร้อมกับเสื่อโยคะแมนดูกะรุ่นโปรไลท์ อีก 1ใบ) 

ผมเดินออกมามองหาคนขับรถแท็กซี่ ที่ครูไนเจล มาแชล เป็นผู้ประสานงานเพื่อให้มารอรับผมที่สนามบิน ก็ค่อนข้างสะดวกและไม่วุ่นวายครับ หากเรามีคนมารอรับ เพราะเมื่อแท็กซี่ผี+เถื่อนทั้งหลาย พอเห็นว่าเรามีคนท้องถิ่นมารอรับ ก็จะไม่ค่อยมาตอแยคล่องแวะอะไรกับเรา  ผู้ที่ขับแท็กซี่มายืนรอรับผมที่สนามบินเพื่อไปส่งผมยังที่พักที่เมืองมัยซอร์ ได้ถือแผ่นกระดาษเขียนเป็นชื่อของผมไว้อย่างชัดเจนว่า “Jimmy Yoga to Mysore”  ณ จุดนี้สะดวกดีไม่มีปัญหา...แต่ขณะที่กำลังเดินตามคนขับรถแท็กซี่ไปนั้น ในใจของผมก็เริ่มเกิดจินตนาการถึงสภาพของรถแท็กซี่ที่เขาขับมารับผมไปต่างๆนานา คิดว่าถ้าเป็นทุกๆท่านก็คงจะคิดเช่นเดียวกันกับผมล่ะครับ คือ รถจะเก่ามากน้อยเพียงใดหนอ? รถขับไปแล้วจะติดๆดับๆไหมหนอ? ดึกๆแบบนี้คนขับจะพาเราออกนอกเส้นทางไหมหนอ? พูดกันง่ายๆก็คือ จังหวะนี้อะไรที่ไม่ค่อยดี ความคิดที่เป็นไปในแง่ลบต่างๆนานาลำเลียงเข้ามาอยู่ในหัวสมองของผมทั้งหมดเลยล่ะครับ


แต่พอได้เห็นรถก็เริ่มโล่งอก ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เป็นรถซิตี้คาร์ยี่ห้อ”ทาทา” ขนาดกะทัดรัด  4ประตู ขนาดรูปทรงของรถดูแล้วสูสีกับ ฮอนด้า แจ๊ส, โตโยต้า ยาริส,ประมาณนั้น คือเนื่องจากเป็นรถขนาดเล็กจึงไม่มีพื้นที่สำหรับให้เก็บสัมภาระด้านหลัง สรุปกระเป๋าสัมภาระของผมทั้งหมดอยู่ที่เบาะที่นั่งด้านหลัง และส่วนตัวผมมานั่งคู่กับคนขับรถตรงที่นั่งด้านหน้า จากการสอบถามพูดคุยกับคนขับรถ(คุยกันรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง) ก็ได้ข้อมูลมาว่า คนขับรถเขาชื่อ มหาเทพ(Mahadev) รถคันนี้เป็นรถของเขาเอง ซึ่งจะรับงานผ่านนายหน้ามาอีกทีหนึ่ง เขาจะใช้เวลาในการขับรถจากสนามบินบังคาลอร์ไปยังที่พักของผมที่เมืองมัยซอร์ ประมาณเกือบๆสี่ชั่วโมง หากไม่หยุดพักรถบ่อย(งั้นก็อย่าหยุดบ่อยเลยพ่อคุณ ต้องนั่งรถเป็นเวลานานพอๆกับขึ้นเครื่องบินจากเมืองไทยมาอินเดียเลย)


ถนนหนทางจากสนามบินบังคาลอร์ไปยังเมืองมัยซอร์ ณ ปัจจุบันนี้ถือว่าค่อนข้างดีครับ จะมีแค่เพียงบางช่วงบางตอนเท่านั้นที่กำลังก่อสร้างและซ่อมแซมอยู่บ้าง ระหว่างทางในขณะที่ขับรถมา มหาเทพ(Mahadev) ก็ได้เปิดเพลงอินเดี้ย อินเดียให้ผมฟังด้วยล่ะครับ(จริงๆพี่แก ก็คงอยากจะเปิดเพลงฟังเองนั่นแหล่ะ แต่ทำทีมาถามผมเป็นมารยาท) ฟังแล้วก็ได้บรรยากาศแบบอินเดียดีครับ ทั้งคนขับรถและผมต่างก็มีการโยกศรีษะตามจังหวะเพลงเป็นระยะ ตลอดระยะเวลาในการเดินทาง มหาเทพหยุดรถแค่สามครั้งเท่านั้นครับ ซึ่งในแต่ละครั้งก็ไม่ได้หยุดนาน ครั้งแรกหยุดเพื่อเติมน้ำมันรถ, ครั้งที่สองหยุดเพื่อไปรอรับกุญแจที่พักของผม, ครั้งที่สามคือหยุดพักจิบชาอินเดียอุ่นๆที่ขายอยู่ข้างทาง

                                         (น้ำมัน อินเดียนออยล์)
                              (คนขายน้ำชา ซึ่งอยู่ภายในซุ้มร้านขายน้ำชาและขนมข้างทาง) 

                                                (ชานมร้อนๆ ในถ้วยพลาสติกขนาดเล็ก)
เรื่องวัฒนธรรมการดื่มชาที่ร้านข้างทางของอินเดีย นี่ก็น่าสนใจครับ จากข้อมูลที่ผมได้มาก็คือ ก่อนหน้านี้ถ้วยจะผลิตจากดินเผาครับ สีสันคล้ายสีของกระถางต้นไม้บ้านเรา แต่มีขนาดเท่ากับถ้วยกาแฟ พอดื่มเสร็จก็ต้องทุบทำลายถ้วยทิ้งกันทันทีที่แถวๆบริเวณร้านขายน้ำชานั่นล่ะครับ เหตุผลคือเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่อยู่ต่างวรรณะนำถ้วยนี้กลับไปใช้ซ้ำต่อได้อีก แต่ปัจจุบันนี้ได้เริ่มมีการนำถ้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเข้ามา ถ้วยชาดินเผาของอินเดียแบบเดิมจึงเริ่มมีผู้ใช้ลดน้อยลงไป


ตลอดระยะเวลาของการเดินทางนี้ผมก็ได้ซาบซึ้งถึงวัฒนธรรมการขับรถของคนอินเดีย คือ นอกเหนือจากการใช้แตรรถคอยช่วยเป็นเสียงสัญญาณเตือนแล้ว เขาจะต้องบีบแตรรถทุกๆช่วงสถานการณ์เลยล่ะครับ ทั้งก่อนที่จะสตาร์ทรถ, ก่อนที่รถจะออกตัว, ก่อนที่จะแซง, ก่อนที่จะหยุดรถ และอื่นๆอีก ถ้าไม่ทำเขาอาจจะถือว่าเป็นการไม่สุภาพน่ะครับ 555!!!


                                   (มหาเทพ กำลังยืนมองที่พักว่า มาถูกที่หรือไม่? อิๆๆ)
ในที่สุดมหาเทพก็พาผมมาถึงที่พักที่เมืองมัยซอร์ ในเวลาประมาณตีสี่เศษๆของเช้ามืดวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2555   มหาเทพช่วยแบกกระเป๋าสัมภาระของผมขึ้นไปบนห้องพักที่อยู่ชั้นดาดฟ้าของอาคาร 3ชั้น และเปิดห้องพักให้ผมดุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆในห้อง รวมถึงระบบน้ำและไฟฟ้าต่างๆ ผมถามมหาเทพถึงเรื่องค่ารถแท็กซี่ มหาเทพบอกว่าไม่ต้องจ่ายเงินที่เขาให้ผมไปจ่ายที่ออฟฟิศเลย ผมจึงหยิบเงินทิปให้มหาเทพไป 100รูปี พร้อมกับกล่าวขอบคุณที่เขาได้พาผมมาส่งยังที่พักโดยสวัสดิภาพ และมหาเทพก็เดินจากไปด้วยความรีบเร่ง ทิ้งไว้แต่เพียงปริศนาที่ทำให้ผมต้องค้างคาใจต่อไปว่า “แล้วออฟฟิศที่ต้องไปจ่ายเงิน อยู่ที่ไหนอ่ะ???”

โปรดติดตามตอนต่อไป...

ขอพลังแห่งโยคะ ความรักและศรัทธาจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger