เช้าวันใหม่(ซึ่งเป็นวัน Moon Day)ในมัยซอร์ อินเดีย ของครูจิมมี่(Jimmy in Mysore 3)
เช้ามืดของวันศุกร์ที่
28 ธันวาคม 2555 เวลาประมาณตีสี่กว่าๆ
หลังจากที่ผมได้เข้าสู่ที่พัก ซึ่งเป็นอาคาร 3ชั้น(ห้องพักผมอยู่บนชั้นดาดฟ้าของอาคารนี้)
เลขที่ 742, 12th Cross , 3rd Stage,
Gokulam, Mysore, India
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว, ซึ่งในส่วนของที่พักนี้ผมพอจะทราบราคามาคร่าวๆก่อนหน้าที่จะเดินทางมาแล้ว ราคารวมหมดทุกอย่างแล้ว น้ำ, ไฟ, เฟอร์ฯ ตกอยู่ที่เดือนละ 8,500รูปี ก็ประมาณ 4,800บาทครับ, ส่วนค่ารถแท็กซี่จากสนามบินมายังที่พักก็ราคา 2,300รูปี ประมาณ 1,300บาท ครับ แต่ตอนนี้ก็คิดแค่เพียงว่าน่าจะนอนพักเอาแรงสักหน่อยดีกว่า
หลังจากที่ได้เดินทางมาแบบเครื่องบินต่อด้วยรถยนต์
รวมแล้วใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมดประมาณ 7 – 8 ชั่วโมง ก็ขอนอนพักสักหน่อยแล้วกัน พอตื่นมาตอนเช้าแล้วค่อยว่ากันใหม่
ว่าจะทำอะไรต่อดี และก็จะได้ไปสอบถามต่อถึงในสิ่งที่ยังคาใจว่า ค่าเช่าห้องและค่ารถ จะต้องไปจ่ายที่ออฟฟิศไหน?
(ภาพอาคาร 3ชั้น ที่พักอาศัยของผม)
(ด้านหน้าของอาคารที่พักของผม)
(ภาพของชั้นดาดฟ้า หน้าห้องพักของผม)
(เตียงนอน ขนาดกระทัดรัดสำหรับนอนได้เพียงคนเดียว)
(อุปกรณ์ เครื่องครัว, เครื่องใช้ต่างๆ ที่มีอยู่ในห้องพัก)
(เครื่องทำน้ำอุ่น ภายในห้องน้ำ)
(สุขภัณฑ์ของห้องน้ำ ภายในห้องพักของผม)
(ซิ๊งค์อ่างน้ำ, และชั้นวางของภายในห้องพัก ซึ่งอยู่ติดกับประตูห้อง)
ผมก็นอนไปจนถึงเวลาประมาณเกือบๆ 10:00น. ก็ต้องมาตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงคนมาเคาะประตูห้องพัก
ปรากฏว่าไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นครูไนเจล มาแชล นั่นเอง ที่มาหาผมถึงที่ห้องพัก ประโยคแรกที่ครูไนเจลพูดกับผมก็คือ
“เป็นไงบ้างจิมมี่ ทุกอย่างโอเคใช่ไหม ยินดีต้อนรับสู่เมืองมัยซอร์”
แล้วก็เดินเข้ามากอดผมตามธรรมเนียมของชาวต่างชาติที่มีความสนิทสนมกัน หลังจากที่รอผมล้างหน้า,แปรงฟันเสร็จแล้ว
ครูไนเจลก็พาผมไปทานอาหารเช้าที่ร้าน Santosha เป็นร้านขายอาหารเฉพาะมื้อเช้า ที่ได้รับความนิยมมากๆอีกร้านหนึ่ง ในหมู่ของนักเรียนผู้ฝึกโยคะที่
KPJAYI. ราคาก็ถือว่าไม่แพงมากครับ อาหารทั้งหมดที่พวกเราได้รับประทานกันไปคิดเป็นเงินแล้วก็ตกประมาณคนละ
150รูปี ครับ
(ลักษณะของบ้านเรือนที่มัยซอร์ ย่านใกล้ๆกับศาลาฝึก KPJAYI.)
(อาคาร รถลาถนนหนทาง ที่มัยซอร์ อินเดีย)
(ป้ายรถเมล์ ย่าน Gokulum เมืองมัยซอร์ อินเดีย)
(ถนนเส้นหลัก ย่าน Gokulum เมืองมัยซอร์ อินเดีย)
หลังจากที่ได้รับประทานอาหารกันเสร็จแล้ว ครูไนเจลก็ได้พาผมเดินดูสถานที่ต่างๆที่อยู่ระแวกนั้น
ที่คิดว่าน่าจะมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของผมที่เมืองมัยซอร์แห่งนี้(อารมณ์คล้ายไกด์นำเที่ยวน่ะครับ
พาลูกทัวร์ซึ่งมีแค่ผมเพียงคนเดียวไปดูสถานที่ต่างๆ) ระหว่างทางครูไนเจลก็บอกว่า
เมืองมัยซอร์ระแวกที่เราอยู่นี้มีความแตกต่างจากที่อื่นๆในอินเดีย และบอกให้ผมลองสำรวจมองดูบ้านเรือนที่นี่
พอผมกวาดสายตาสำรวจมองไปรอบๆปุ๊บ ครูไนเจลก็พูดเสริมต่อทันทีว่า จากบ้านเรือนที่เราเห็นนี้บ่งบอกได้เลยว่าระแวกนี้เป็นย่านของคนอินเดียที่มีชาติตระกูลดี,
ฐานะดี, มีการศึกษา(หลังจากได้ฟังประโยคนี้เสร็จ..ผมก็แค่คิดในใจขึ้นมาเล่นๆว่า
งั้นผมกับครูไนเจล ก็คงไม่เหมาะล่ะมั้งที่จะมาอยู่แถวๆนี้ อิๆๆ)
ครูไนเจลบอกต่ออีกว่า ผู้คนที่เมืองมัยซอร์นี้ก็ไม่ชุลมุนวุ่นวาย
ถนนหนทางก็ดูสะอาดตาถึงจะไม่ค่อยเป็นระเบียบสักเท่าไหร่แต่ก็ไม่สกปรกเลอะเทอะ อันนี้ผมเชื่อครับเพราะได้มาเห็นกับตา ได้มาสัมผัสกับตัวเอง ขอยืนยันว่ามันเป็นความจริง
(ด้านหน้าของศาลาฝึก K Pattabhi Jois Ashtanga Yoga Institute)
และสถานที่แรก
ที่ครูไนเจลได้พาผมมาก็คือ ที่ศาลาฝึก KPJAYI. ในที่สุด สถานที่ ที่ผมเฝ้าใฝ่ฝันอยากจะมาและเป็นดังไฟปรารถนาในใจผมเสมอมา ตอนนี้ผมได้มายืนอยู่ที่นี่แล้วครับ ณ ตอนนั้นผมเองก็รู้สึกยินดีปรีดาอยู่ภายในจิตใจอย่างมากมายเลยทีเดียวล่ะครับ ครั้นจะแสดงออกด้วยการเดินเข้าไปจูบป้ายด้านหน้าศาลาฝึก หรือจะก้มลงกราบที่ด้านหน้าทางเข้าศาลาฝึก หรือร้องตระโกนเสียงดังๆออกมาด้วยความดีใจ ก็เกรงว่ามันจะออกนอกหน้าจนเกินงาม ผมจึงได้แต่ยืนยิ้มแก้มแทบปริอยู่ที่ด้านหน้าของศาลาฝึก KPJAYI.
เนื่องจากวันนี้เป็นวัน Moon Day (ข้างขึ้น/ข้างแรม
ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ) ศาลาฝึกก็จะปิดทำการน่ะครับ เรื่องนี้มีเหตุผลสืบเนื่องมาจากว่ากูรูทางด้านอัษฎางคโยคะท่านได้รับแนวความคิดสืบต่อกันมาว่าปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของดวงจันทร์น่าจะมีผลกับการเพิ่มขึ้นและลดลงของปริมาณน้ำและของเหลวทุกๆอย่างบนโลกของเรา ซึ่งเราสามารถสังเกตง่ายๆได้จากน้ำทะเลที่จะมีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามอิทธิพลของดวงจันทร์,
การฝึกโยคะในสไตล์อัษฎางคโยคะที่เมืองมัยซอร์นี้ ผู้ฝึกมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสมรรถภาพทางด้านร่างกายและจิตใจที่พร้อมมากๆสำหรับการฝึก
ซึ่งอิทธิพลจากปรากฏการณ์ต่างๆของดวงจันทร์อาจส่งผลถึงปริมาณที่เพิ่มขึ้นและลดลงของของเหลวต่างๆภายในร่างกายมนุษย์ด้วย
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับร่างกายในการฝึกอัษฎางคโยคะ ในวันข้างขึ้นและข้างแรม(Full Moon และ New Moon) ก็จะเป็นที่รู้กันในกลุ่มของผู้ฝึกโยคะในสไตล์มัยซอร์ทุกๆคนว่าควรจะต้องงดเว้นการฝึกในวันดังกล่าวนี้
ขณะที่กำลังเดินไปด้วยกันอยู่นั้นนั่นเอง..เรื่องที่ยังคงค้างคาอยู่ในใจของผมตั้งแต่เมื่อตอนตีสี่ก็ได้ผุดขึ้นมาในหัวของผม ผมจึงไม่รีรอที่จะเอ่ยปากถามครูไนเจลทันทีว่า
เมื่อคืนคนขับรถแท็กซี่เขาบอกให้ผมไปจ่ายเงินที่ออฟฟิศ ครูไนเจลพอจะทราบไหมเอ่ยว่า
ไอ้ออฟฟิศที่ว่าเนี่ย มันอยู่ที่ไหน? และค่าเช่าห้องพักกับค่ารถแท็กซี่เนี่ยจ่ายที่เดียวกันหรือเปล่า? ครูไนเจล ยิ้มๆแล้วก็ตอบว่า ออฟฟิศก็อยู่ตรงกันข้ามกับศาลาฝึกนี่ไงล่ะ
ทั้งค่าเช่าห้องพักและค่ารถแท็กซี่จ่ายที่เดียวกันนี่แหล่ะ...แต่ว่าที่ออฟฟิศดังกล่าวนี้มีเวลาเปิด-ปิด ที่ไม่ค่อยจะแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่วัน Moon Day(ข้างขึ้น/ข้างแรม)และวันเสาร์ ออฟฟิศดังกล่าวนี้
ก็มักจะปิดตามศาลาฝึกโยคะด้วย
ครูไนเจลแนะนำให้ผมมาที่ออฟฟิศนี้อีกครั้ง ในวันอาทิตย์ช่วงเย็นๆ
(ป้ายบอกวันและเวลาทำการรับลงทะเบียน ที่ติดอยู่บริเวณรั้วประตูด้านหน้าของศาลาฝึก)
ครูไนเจล
พูดถึงคลาสเรื่อง Led
Primary Series ของครู Sharath ที่จะมีในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ให้ผมฟัง
และอยากให้ผมเข้าร่วมคลาสนี้ให้ได้
แต่ปัญหาของผมก็คือว่า ผมยังไม่ได้ลงทะเบียน, ตามกฎของ KPJAYI.แล้วหากเรายังไม่ได้ลงทะเบียน
ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมใดๆที่ศาลาฝึกได้เลย
วันและเวลาที่นักเรียนใหม่จะสามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ก็คือ
วันอาทิตย์-วันศุกร์ เวลา 15:30-17:30น.
ครูไนเจลจึงรู้สึกเสียดายแทนผมเป็นอย่างมาก
ที่ผมจะต้องเสียเวลาฝึกไปโดยไม่ควรเลยจริงๆ 1วัน,
เนื่องจากศุกร์ 28ธ.ค.เป็นวัน Moon Day(ศาลาฝึกหยุดทำการ), เสาร์29ธ.ค.วันหยุดประจำสัปดาห์
ของ KPJAYI. (ศาลาฝึกหยุดทำการ), อาทิตย์ 30ธ.ค. คลาส Led Primary Series โดยครู Sharathจะเริ่มตอนเช้าตรู่เวลา 6:00น.
ซึ่งหมายความว่า
ผมจะสามารถเข้ามาลงทะเบียนี่ศาลาฝึกได้อย่างเร็วที่สุดก็คือ อาทิตย์ที่ 30ธ.ค. เวลา 15:30น.
ผมก็เลยจำใจจะต้องอดเข้า Led
คลาสของครู Sharath ไปโดยปริยาย
(แผงขายผัก, ผลไม้ ย่าน Gokulam เมืองมัยซอร์ อินเดีย)
หลังจากนั้นครูไนเจลก็พาผมไปจับจ่ายซื้อของที่มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวันของที่นี่
แน่นอนครับก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ อาหารการกินและน้ำดื่ม
ตามที่เราๆได้ทราบข้อมูลกันมาล่ะครับว่าถ้าร่างกายของเราปรับตัวเข้ากับอาหารการกินของที่นี่ไม่ได้แล้วล่ะก็
อาจจะทำให้เราต้องเกิดอาการท้องเสียเอาได้ง่ายๆเลยล่ะครับ
ดังนั้นครูไนเจลก็จะค่อนข้างกำชับให้ผมระมัดระวังในเรื่องของอาหารการกินเป็นพิเศษ
นอกเหนือจากนี้แล้วก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารแล้วล่ะครับ
ครูไนเจลพาผมมาแนะนำให้รู้จักกับนิชิต(Nichit)เจ้าของร้านขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ต ผมซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือในระบบ 3Gของอินเดีย
เพื่อใช้ในการโทร.ติดต่อกลับเมืองไทยและใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของผม
และก็ซื้ออุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คของผมกับระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้
(Nichit.เจ้าของร้านขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เชื่อต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบอินเตอร์เน็ต)
การที่ชาวต่างชาติอย่างเราๆจะซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่อินเดียใช้
นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆครับ เป็นอะไรที่น่าสนใจพอสมควร
เราจะต้องเตรียมเอกสารเหมือนๆกับที่เราใช้ในการสมัครลงทะเบียนเรียนที่ KPJAYI.เลยล่ะครับ ก็จะต้องมี สำเนาพาสปอร์ต, สำเนาวีซ่า
และรูปถ่าย แล้วก็จะต้องกรอกเอกสารในการขอซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ให้ครบถ้วนชัดเจน
ซึ่งในเอกสารต่างๆในทุกๆหน่วยงานของอินเดียเขาจะเน้นมากๆเลยครับ
ว่าเราจะต้องกรอกชื่อ-นามสกุล ของ "บิดา" เราลงไปให้ชัดเจน(เขาต้องการทราบชื่อ-นามสกุล
ของพ่อเรามากๆอ่ะครับไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐบาลอินเดียเขาอยากจะรู้ชื่อพ่อเราไปทำไมกัน,
แค่ได้ชื่อ-นามสกุลของเราไปคนเดียวก็ไปสืบค้นข้อมูลอื่นๆได้หมดแล้วคร้าบบบบ)
ซึ่งในเรื่องของการเข้มงวดในการซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศอินเดียนี้
น่าจะเป็นระบบที่ทางรัฐบาลอินเดียเขาบังคับให้ทุกๆร้านที่ขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของอินเดียต้องทำแบบนี้
เพื่อเป็นการป้องกันการนำซิมการ์ดโทรศัพท์ไปใช้เป็นอุปกรณ์ในการก่อการร้ายภายในประเทศอินเดียน่ะครับ และพอเขาได้เอกสารต่างๆรวมถึงแบบฟอร์มการขอซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์จากเราไปแล้ว
เขาก็จะทำการตรวจเช็คเอกสาร หากาวมาติดรูปเราไว้บนแบบฟอร์มการขอซื้อฯ
และสุดท้ายก็ให้เราเซ็นกำกับบนเอกสารประมาณ 3-4จุด
และเรื่องซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของอินเดียนี่
ยังไม่จบง่ายๆแค่นี้หรอกครับ
ที่ผมบรรยายให้ฟังนี่เป็นแค่เพียงขั้นตอนของการขอซื้อ เท่านั้นน่ะครับ...
โปรดติดตามตอนต่อไป...
ขอพลังแห่งโยคะ ความรักและศรัทธาจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง
นมัสเต,
จิมมี่โยคะ