เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

วันสบายๆกับวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีที่อินเดีย ของครูจิมมี่(Jimmy in Mysore 4)



วันสบายๆกับวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีที่อินเดีย ของครูจิมมี่(Jimmy in Mysore 4)


เมื่อเอกสารในการขอซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือครบถ้วนเรียบร้อยดีแล้ว คุณนิชิต เจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือชาวอินเดีย ก็หยิบ เบอร์โทรศัพท์ออกมาให้ผมเลือกครับ ผมมองๆแล้วก็เลือกหยิบเบอร์ที่ชอบออกมา หนึ่งอัน แล้วนิชิตก็ขอเก็บเงินค่าซิมการ์ด ราคาเพียงแค่ 15รูปีเท่านั้นครับ(คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 8บาท50สตางค์ครับ) ซึ่งเราก็จะสามารถใช้โทรออกได้ตามวงเงินในซิมการ์ด ก็คือแค่ 15รูปีเท่านั้นครับ ถ้าต้องการใช้วงเงินในการโทรออกมากกว่านี้ก็สามารถเติมเงินเพิ่มกับที่ร้านได้, การเติมเงินขั้นต่ำก็จะเริ่มต้นที่ 201รูปี สามารถใช้งานได้ 30วันครับ ราคานี้เฉพาะการโทรและการส่งข้อความ เท่านั้นนะครับ, แต่ถ้าเราต้องการจะใช้การเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือของเราด้วย เราก็จะต้องซื้อแพ็คเกจอีกต่างหากครับ เพราะจะแยกแพ็คเกจไม่เกี่ยวข้องกับการโทร แพ็คเกจของการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็จะเริ่มต้นที่ราคาประมาณ 200รูปี ใช้งานได้ 15วันครับ



                              (ซองซิมการ์ด ของค่ายโทรศัพท์ Airtel)
แล้วนิชิตก็แกะซิมการ์ดออกมา เท่าที่ผมเห็นก็เป็นซิมการ์ดขนาดมาตรฐานที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือโดยทั่วๆไป(ที่ไม่ใช่ไอโฟน 4s น่ะครับ) แต่ปัญหาก็คือ โทรศัพท์ของผมดันเป็นไอโฟน4sซะด้วยนะซิครับ  ผมเลยถามนิชิตว่า แล้วถ้าโทรศัพท์ของผมเป็นไอโฟน4sล่ะ จะต้องทำอย่างไรดี นิชิตขอผมดูโทรศัพท์มือถือของผมและถามผมว่า แล้วจะให้ใส่ซิมการ์ดเลยไหมล่ะ? ผมก็ตอบกลับไปทันทีว่าใส่เลยซิครับ หลังจากที่พูดจบผมก็ยืนรอดูผลงานของนิชิตอย่างใจจดใจจ่อ ว่านิชิตจะจัดการทำยังไงต่อไปกับซิมการ์ด  ทันใดนั้นเองผมก็เห็นนิชิตเอื้อมมือไปหยิบอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งขึ้นมาดูคล้ายๆกรรไกรแต่ก็ไม่เชิง แล้วเขาก็นำเอาซิมการ์ดของผมไปตัด “ฉึบๆ” ซิมการ์ดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน แล้วนิชิตก็จัดการนำซิมการ์ดส่วนที่สามารถใช้การได้ใส่เข้าไปในเครื่องโทรศัพท์มือถือไอโฟนของผม ใช้เวลาแป๊บเดียวจริงๆครับ เหตุการณ์ผ่านไปอย่างรวดเร็วมากๆ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วเขาก็ยื่นโทรศัพท์มือถือกลับคืนมาให้ผม  พร้อมกับชื่อที่อยู่ของร้านอย่างละเอียด และให้เบอร์โทรอะไรสักอย่างมา ซึ่งเป็นเบอร์โทรที่เราจำเป็นจะต้องโทรไปน่ะครับ



 













  




ณ ตอนนี้บอกตามตรงเลยครับว่าผมยังคงช็อคและยังตลึงกับการตัดซิมการ์ดของนิชิตอยู่เลยน่ะครับ ก็แค่คิดในใจว่า เฮ่ย! มันทำกันง่ายๆแบบนี้เลยเหรอว๊ะ? ไม่จริงมั๊ง? จิมมี่งานนี้อย่าได้แค่คิด เดี๋ยวจะพลาด ต้องถาม ต้องถาม...ผมก็ไม่รีรอรีบถามนิชิตทันทีว่า..แล้วมันจะใช้การได้เหรอ? นิชิตบอกว่าตอนนี้ยังใช้ไม่ได้หรอก (อ้าว!ซะงั้น) แล้วเขาก็บอกต่ออีกว่า มันจะใช้ได้ตอนประมาณ สองทุ่มโน่นแหล่ะ เป็นช่วงเวลาหลังจากที่เบอร์โทรศัพท์นี้ได้ถูกทำการลงทะเบียนในระบบแล้ว และตอนนี้ก็ยังเพิ่มวงเงินการโทรไม่ได้ให้โทรศัพท์ใช้ได้ก่อนแล้วค่อยมาเพิ่มวงเงินการโทรออก, ซึ่ง ณ ตอนนี้ที่กำลังคุยกันอยู่นี่ เวลาก็เพิ่งจะเที่ยงกว่าๆเองล่ะครับ 

ยังครับ ยังไม่จบครับ ผมยังคงมีคำถามเกี่ยวกับซิมการ์ดที่ถูกตัดให้เป็นขนาดเล็กเพื่อนำไปใส่ไอโฟน ยังมีคำถามอยู่อีกข้อสงสัยหนึ่งก็คือ แล้วถ้าเราต้องการจะนำซิมการ์ดอันเดิม อันเดียวที่ใช้กับไอโฟนนี้ออกมาใช้กับเครื่องโทรศัพท์มือถือธรรมดาทั่วๆไปล่ะจะโอเคไหม? นิชิตนิ่งคิดไปแป๊บหนึ่งแล้วก็ตอบผมกลับมาว่าไม่มีปัญหา  มีสองแนวทาง                               

         1.  คือนำชิ้นส่วนของซิมการ์ดที่ถูกตัดออกไปมาประกอบเข้ากับส่วนที่ใช้ได้แล้วแปะเทปใสที่ด้านหลังกันชิ้นส่วนของซิมการ์ดทั้งสองหลุดออกจากกัน แล้วก็นำไปใช้กับโทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่นทั่วๆไปได้(เป็นวิธีที่ทุเรศมาก นิชิต)

         2.  เพื่อความแน่นอน ถ้าจะใช้เครื่องใหม่ก็มาซื้อซิมการ์ดใหม่ไปเลย ราคาไม่แพง (ใช่ราคาไม่แพง แกก็พูดได้ซิ พ่อค้าอยากขายของ แต่เอกสารล่ะ แกอย่าลืมซิ นิชิต สำเนาพาสปอร์ต, สำเนาวีซ่า, รูปถ่าย และต้องกรอกแบบฟอร์มขอซื้อซิมการ์ดอีก ซึ่งเขาจะถาม ชื่อ-นามสกุลของพ่อเราอีกเช่นเดิมแน่นอน)

        นิชิตพูดแบบยิ้มๆ พร้อมกับส่ายศรีษะ ซ้าย-ขวา ตามแบบสไตล์ของชาวอินเดีย

ผมคิดในใจว่า เอาว๊ะ! เป็นไงเป็นกัน...ลองดู สองทุ่มก็สองทุ่ม ถ้าใช้ไม่ได้ ไม่เวิร์คแล้วค่อยกลับมาเจรจากับนิชิตอีกทีก็แล้วกัน
แต่พอผมลองแกะซิมการ์ดออกมาดู และสังเกตตรงบริเวณแผ่นทองเหลือที่ซิมการ์ด ผมก็พบว่าขนาดแผ่นทองเหลืองที่ซิมการ์ดของอินเดีย มีขนาดเล็กเท่ากับซิมการ์ดขนาดเล็กที่ใช้ในกับไอโฟนเลยล่ะครับ เริ่มใจชื้นครับ ดังนั้น น่าจะใช้ได้

หลังจากที่หาอะไรง่ายๆรับประทานในมื้อกลางวันแล้ว ผมก็กลับมายังที่พัก ก็นำข้าวของต่างๆที่เตรียมมาจากเมืองไทยออกจากกระเป๋าเดินทาง ตรวจเช็คดูว่าขาดเหลืออะไรบ้างจะได้ออกไปหาซื้อ  แล้วก็ทำโน่นนี่นั่นไปเรื่อยเลยล่ะครับเวลาก็ค่อยๆล่วงเลยผ่านไปถึงช่วงค่ำ  

ผมก็มีความหวังที่ว่าช่วงค่ำนี้จะสามารถติดต่อกับคนทางบ้านที่เมืองไทยได้สักที สรุปว่าประมาณหนึ่งทุ่ม ไฟฟ้าก็ดับซะงั้น มืดตึ๊บกันหมดเลยทีเดียว พอไฟฟ้าดับความหวังของการที่ผมจะใช้โทรศัพท์ติดต่อกับทางบ้านก็เหมือนจะดับไปด้วยโดยปริยาย เพราะถ้าไฟฟ้าดับที่อินเดียช่วงกลางค่ำกลางคืนนี่เขาก็จะไม่ทำอะไรกันทั้งนั้นละครับ กลับบ้านนอน แล้วเช้ามาค่อยว่ากนใหม่, เท่าที่ผมได้ทราบข้อมูลมาคือ ที่อินเดียเขาจะมีนโยบายการควบคุมการใช้ไฟฟ้า เพื่อประหยัดการใช้พลังงานน่ะครับ ดังนั้นในแต่ละวันก็จะมีการตัดกระแสไฟฟ้าเป็นช่วงๆไปน่ะครับ วันหนึ่งอาจจะสองรอบ กลางวันรอบหนึ่งและกลางคืนอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะยกเว้นในบริเวณที่เป็นย่านเศรษฐกิจเท่านั้น

   (ลักษณะของแผงโซล่าเซลล์ ที่ติดตั้งอยู่บนชั้นดาดฟ้าของบ้านหลายๆหลัง ในย่านมัยซอร์)
 
แน่นอนครับย่านที่ผมมาอยู่นี่ไม่ใช่ย่านเศรษฐกิจหรอกครับ ดังนั้นเราก็ต้องปรับตัวตามเขาไปน่ะครับ  ระแวกมัยซอร์ที่ผมพักอยู่นี้ถ้าบ้านไหน มีแผงโซล่าเซลล์ที่สามารถสำรองพลังงานเก็บไว้ใช้ได้ ก็จะเห็นบ้านนั้นยังคงมีไฟฟ้าใช้งานได้อยู่น่ะครับ(คือระแวก Gokulam Mysore นี้เป็นกลุ่มหมู่บ้านของคนที่มีการศึกษาดี, มีฐานะ ดังนั้นการติดแผงโซล่าเซลล์ประจำบ้านไว้ บนดาดฟ้า ถือว่าคุ้มค่ามากๆ ช่วยประหยัดพลังงานตามนโยบายของรัฐบาลอินเดีย โดยการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์) แต่บ้านที่ผมพักอยู่เนี่ยไม่มีไอ้แผงโซล่าเซลล์ที่ว่านี่หรอกครับ มืดตึ๊บครับ, ร้อนด้วย, ยุงด้วย ครบสูตร  ทางออกของผมก็คือ อาบน้ำแล้วนอนเลยดีกว่า พรุ่งนี้ตื่นมาค่อยว่ากันใหม่ และเวลาของวันศุกร์ที่ 28ธันวาฯ ก็ได้ผ่านพ้นไป



                             (นิชิต เจ้าของร้านขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ)  
เช้าวันเสาร์ที่ 29ธันวาฯ ผมตื่นขึ้นมาตอนเช้าตรู่และพบว่าโทรศัพท์มือถือมีสัญญาณสามารถใช้งานได้แล้ว จากนั้นเราก็ต้องทำตามสิ่งที่นิชิตแนะนำล่ะครับ คือจะต้องโทรไปขออนุญาตใช้งานโทรศัพท์มือถือตามเบอร์ที่นิชิตให้มา คือโทรไปที่ เบอร์ 59059 ก็จะมีสุภาพสตรี ชาวอินเดียรับสายครับ เธอพูดรัวมาเป็นชุด ชุดยาวด้วย ที่สำคัญไม่ได้พูดภาษาอังกฤษครับ เธอพูดฮินดี้(ภาษาอินเดีย) ผมตอบเธอกลับไปเป็นภาษาอังกฤษว่า ไม่เข้าใจพูดไรอ่ะ เธอบอกให้ผมรอแป๊บหนึ่งแล้วไปตามคนที่พูดภาษาอังกฤษได้มาสนทนากับผม เธอถามถึงที่อยู่ ผมก็บอกไปตามที่นิชิตได้ให้รายละเอียดของที่อยู่มานั่นแหล่ะครับ  และมาถึงคำถามสุดท้าย เธอถามชื่อพ่อผมครับ(รัฐบาลอินเดียนี่เขาจะเอาชื่อพ่อไปทำไรกันฟ๊ะ ทุกหน่วยงานขาดไม่ได้จริงๆ คิดได้ไง, ถ้าไม่เกรงใจกะว่าจะแกล้งตอบไปว่าผมเป็นลูกชายของอดีตนายกฯของเมืองไทยใครสักท่านหนึ่ง ฮ่าๆๆ แค่คิดเล่นๆ)  จากนั้นมาโทรศัพท์มือถือก็ใช้ได้ ก็ติดต่อกับคนทางบ้านที่ประเทศไทย โทรกลับไปบอกภรรยาและครอบครัวทุกคนว่าเดินทางมาถึงที่หมายปลอดภัยสบายดี และที่สำคัญตอนนี้กำลังค่อยๆปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่นี่...

จากนั้นผมก็กลับไปที่ร้านนิชิตขอให้นิชิตเติมวงเงินการโทรเพิ่มให้ เติมวงเงินสำหรับการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งซื้อ ตัวเสียบยูเอสบีเพื่อเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คของผมกับระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ต(ตัวเสียบยูเอสบีเพื่อเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตนี้ ราคา 1,800รูปีครับ สามารถใช้งานได้ประมาณ 80ชั่วโมง ภายใน 30วัน) เพื่อความชัวร์ก็ถือโน๊ตบุ๊คไปให้นิชิต ลองต่อเชื่อมให้เราดูเลยน่าจะดีกว่า

สรุปแล้ววันเสาร์ที่ 29ธันวาฯ เวลาส่วนใหญ่ของผมก็หมดไปกับการใช้เทคโนโลยี ที่ประเทศอินเดียนี่ล่ะครับ ก็ต้องยอมรับกันตามความเป็นจริงเลยล่ะครับว่าระบบเทคโนโลยีการสื่อสารของประเทศอินเดียนี่ไม่ว่าจะเป็นระบบโทรศัพท์มือถือ หรือระบบอินเตอร์เน็ตก็ตามแต่สามารถใช้งานได้ค่อนข้างดีพอสมควรเลยล่ะครับ(ผมคิดว่าน่าจะดีและราคาค่าบริการถูกกว่าที่เมืองไทยของเราด้วยล่ะครับ)  พอเข้าอินเตอร์เน็ตได้ ก็มีอะไรมากมายให้เราได้ทำไปเรื่อยเลยล่ะครับ ก็เริ่มด้วยการเข้าเฟสบุ๊ค โพสท์รูปต่างๆบอกความเคลื่อนไหวของเราให้คนทั่วทั้งโลกได้รับรู้ แล้วก็เตรียมตัวเริ่มเขียนบทความเผยแพร่ลงสู่บล็อกของผม “เรื่องเล่า...จากเมืองมัยซอร์ อินเดีย” 

และวันพรุ่งนี้แล้วครับ ซึ่งจะเป็นวันที่ผมต้องไปลงทะเบียนตอนบ่ายสามโมงครึ่ง ดังนั้นช่วงเช้าก็จะว่างน่ะซิ น่าจะหากิจกรรมอะไรทำอ่ะน๊ะ ไม่ควรจะอยู่กับห้องเฉยๆ และแล้วผมก็คิดออกว่า ช่วงเช้าวันอาทิตย์ ผมจะทำอะไรดี...

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ...

ขอพลังแห่งโยคะ ความรักและศรัทธาจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง

นมัสเต,

จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger