เรื่องเล่า...จากครูโยคะ

เรื่องเล่า...จากครูโยคะ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆจากประสบการณ์การสอนโยคะของครูจิมมี่ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทความ สอดแทรกอารมย์ขัน เหมาะกับผู้ที่สนใจในการฝึกโยคะ, ครูฝึกโยคะและทุกๆคน ทุกเพศทุกวัย



สำหรับทุกๆท่านที่เพิ่งจะเข้ามาใช้บริการ อ่านบล็อก เรื่องเล่า...จากครูโยคะ โดยครูจิมมี่ สามารถเลือกคลิ๊กเข้าไปอ่าน บทความอื่นๆได้ ที่เดือนต่างๆ ซึ่งเรียงอยู่ทางด้านขวามือของบทความ ขอบพระคุณมากครับ



ขอพลังแห่งโยคะจงอยู่กับคุณตลอดไป...นมัสเต...





วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

เปิดประสบการณ์ การฝึกโยคะครั้งแรกที่มัยซอร์ ของครูจิมมี่(Jimmy in Mysore 8)



   (ภาพการ์ตูน Ashtanga Yoga โดยครูบุญชู, จากเว็บไซต์ www.alliscoming.com)

เปิดประสบการณ์ การฝึกโยคะครั้งแรกที่มัยซอร์ ของครูจิมมี่(Jimmy in Mysore 8)

เช้าวันจันทร์ที่ 31ธันวาคม 2555(วันสิ้นปี) เป็นวันแรกที่ผมจะได้เข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์การฝึกแบบมัยซอร์สไตล์ที่ KPJAYI.Shala เป็นครั้งแรก, ผมรู้สึกตื่นเต้นอย่างมากเลยล่ะครับ แถมในความตื่นเต้นอย่างมากนี้ยังมีความรู้สึกวิตกกังวลบวกเข้าไปอีกด้วยล่ะครับ ไอ้ความวิตกกังวลที่บวกเข้าไปด้วยก็สืบเนื่องมาจากที่ผมยังไม่ค่อยแม่นยำในซีรี่ส์ท่าฝึกทั้งหมดของ Primary Series (ซึ่งหมดทั้งซีรี่ส์มีประมาณ 50ท่า) ก็เลยเกรงๆว่าจะถูกครูเขาสั่งให้หยุดฝึกกลางครันในท่าที่เราติดขัด(อันนี้เป็นความวิตกกังวลที่ผมคิดอยู่ในใจตลอดเวลาในขณะที่กำลังจะเดินทางออกจากที่พักเพื่อไปรอฝึก)ทั้งๆที่ผมก็ผ่านการฝึก Ashtanga Vinyasa Yoga Primary Series มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แล้วก็สามารถทำได้ทุกท่าอีกด้วย แต่ปัญหาคือว่าผมมันห่างหายไปนานไม่ค่อยได้ฝึกทบทวน ก็เลยจำซีรี่ส์ท่าฝึกได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็เท่านั้นเองล่ะครับ(แต่เดี๋ยวก็รู้ อิๆๆ)



ก่อนหน้านี้ 1วัน ผมได้มีโอกาสคุยกับครูไนเจล, ครูไนเจลก็ได้แนะนำผมเอาไว้ว่า ให้ไปนั่งรอที่หน้าศาลาฝึกก่อนเวลาที่เราได้ถูกนัดหมายไว้สักครึ่งชั่วโมง และครูไนเจลก็พูดต่ออีกว่าส่วนช่วงที่ฝึกคงไม่มีปัญหา คุณคงจำซีรี่ส์ท่าฝึกได้หมดแล้ว และน่าจะทำทุกๆท่าได้อยู่ด้วย(ไม่อยากบอกครูไนเจลเลยว่า นั่นแหล่ะมันเป็นปัญหาสำคัญของผมเลยล่ะ)และครูไนเจลก็ยิ้มพร้อมกับอวยพรให้ผมโชคดีกับการฝึกในวันรุ่งขึ้น



เนื่องจากผมได้ฝึกตอนเวลา 9:30น. ผมก็เลยไปนั่งรอตั้งแต่ก่อนที่จะ 9:00น. อีกล่ะครับ  (เนื่องจากที่พักของผมไม่ห่างจากศาลาฝึกมานัก ใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ 5 – 7นาทีเท่านั้นเองล่ะครับ) ในขณะที่ผมไปถึงก็มีผู้ฝึกท่านอื่นๆที่ฝึกในรอบเวลาเดียวกันกับผม นั่งรออยู่ประมาณ 10 –15คนเห็นจะได้



(ภาพการ์ตูน Ashtanga Yoga โดยครูบุญชู, จากเว็บไซต์ www.alliscoming.com ) 

ในขณะที่พวกเรากำลังนั่งรอกันอยู่ที่ด้านหน้าประตูห้องฝึก ก็จะได้ยินเสียงของครูSharath ตะโกนเรียกเป็นระยะๆ  One More…You Come! มีอยู่จังหวะหนึ่งครูSharath เดินผ่านมาที่หน้าประตูทางเข้าห้องฝึก และมองมาที่ผมพอดี โดยไม่ละสายตา แล้วชี้ให้ผมเข้ามานั่งในตำแหน่งที่อยู่ใกล้ๆประตูห้องฝึกที่สุด คงจะรู้สึกว่าคุ้นหน้าผม หรืออาจจะคิดว่าผมเป็นนักเรียนเก่า ครูก็เลยอาจจะอยากให้เข้าไปฝึกก่อน (สาเหตุที่น่าจะทำให้ครูSharath รู้สึกคุ้นหน้าผม อาจจะเป็นเพราะว่าผมได้มีโอกาสได้เจอกับครู Sharath ในงานเอเชียโยคะ คอนเฟอร์เร้นท์ ที่ประเทศฮ่องกง 2ปีติดต่อกัน คือ ปี2011และ 2012)  สักพักหนึ่งจากความรู้สึกที่ครูSharathคุ้นหน้าผม ก็คงค่อยๆเริ่มจะเปลี่ยนเป็นความรู้สึกสงสัย??? จึงทำให้ครูเดินผ่านมาอีกรอบหนึ่งและถามผมเพื่อความแน่ใจว่า “คุณได้เวลาฝึกกี่โมง?” ผมก็ตอบไปว่า 9:30น. ครูSharath หน้าตาอมยิ้ม แล้วบอกผมว่างั้นไปนั่งแถวหลังโน้นก่อนเลย ยังไม่ถึงเวลา...ฮ่าๆๆๆ   


เวลาที่ทุกๆคนได้รับการนัดหมายให้มาฝึกนี่เองล่ะครับ ที่จะเป็นตัวบ่งชี้บอกว่าเราเป็นนักเรียนมาใหม่หรือเป็นนักเรียนเก่า  เพราะถ้าเป็นนักเรียนเก่าที่เคยมาฝึกที่นี่แล้ว ก็จะได้รับเวลานัดหมายให้มาฝึกค่อนข้างจะเช้า  แต่ถ้าเป็นนักเรียนใหม่ก็จะได้เวลานัดหมายในการมาฝึกหลังจาก 9:00น. ไปจนถึง 9:45น. ดังนั้น จากเวลาของผมที่บอกออกไปว่า 9:30น. เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนเลยล่ะครับ ว่าผมเป็นนักเรียนใหม่แน่นอน และอาจจะเพิ่งมาฝึกที่นี่ครั้งแรกด้วยซ้ำไป



ผมถูกเรียกเข้าไปในห้องฝึกตอนเวลาประมาณ 9:30น. พอดิบพอดีเลยครับ และเมื่อเราเข้าไปในห้องฝึกแล้วเราอาจจะยังมองไม่เห็นที่ว่างที่เราจะใช้ฝึกได้หรอกครับ แต่ครูจะเป็นคนชี้บอกตำแหน่งที่เราจะนำเสื่อไปวาง แสดงว่า ผู้ที่ฝึกอยู่ตรงตำแหน่งนั้นได้ทำการฝึกเสร็จแล้วและกำลังจะลุกออกไป พอเขาพับเสื่อลุกออกไปเรียบร้อยแล้วเราก็จะได้พื้นที่ในการฝึก  สิ่งที่เราต้องทำต่อไปแบบเร่งด่วนก็คือรีบปูเสื่อโยคะออกมาตรงพื้นที่ว่างนั้นไว้ก่อน วางเสื่อที่ปูออกแล้วไว้ตรงนั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าตรงนี้มีเจ้าของที่แล้วนะ จากนั้นเราก็จะต้องรีบไปเปลี่ยนชุดฝึก พร้อมกับเก็บสัมภาระต่างๆของเราไว้ในล็อคเกอร์ ภายในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เสร็จเรียบร้อยแล้วก็รีบกลับมาพื้นที่ฝึกของเราที่ได้ปูเสื่อเอาไว้แล้ว และเริ่มฝึกด้วยตนเองโดยจะมีครูSharath และครูผู้ช่วยซึ่งได้รับการรับรองจาก KPJAYI.อีกประมาณ 3-4ท่าน คอยช่วยสังเกตการณ์การฝึกของพวกเราทุกๆคนภายในห้องฝึก(ในห้องฝึกก็จะมีผู้ฝึกอยู่ประมาณ 70-80คน แต่ละเสื่อโยคะที่ใช้ฝึก วางห่างกันแค่ไม่เกิน หนึ่งฝ่ามือเท่านั้นเองล่ะครับ แน่นมาก)



ผมโชคดีเพราะว่าได้อยู่แถวกลางๆในการฝึกวันแรก ซึ่งจะทำให้เราสามารถชำเลืองมองดูผู้ฝึกคนอื่นๆที่อยู่ด้านหน้าและด้านข้างของตัวเราเองได้ ในบางจังหวะที่เราจำซีรี่ส์ท่าฝึกไม่ค่อยได้ เข้าทางมากๆตรงที่ว่าผู้ที่อยู่ล้อมรอบผมก็เพิ่งจะเริ่มฝึกก่อนหน้าผมไปเพียงไม่กี่ท่า ดังนั้นผมสามารถค่อยๆทบทวนความจำซีรี่ส์ท่าทั้งหมดด้วยการค่อยๆทำตามไปได้เลย เข้าทาง เข้าทาง (และผมก็แอบคิดในใจเล่นๆว่า แล้วถ้าวันนี้เราเกิดโชคร้ายขึ้นมาล่ะ! แบบว่าพื้นที่ว่างที่เราจะต้องไปวางเสื่อดันเกิดเป็นแถวหน้าสุด ตรงบริเวณที่ติดกับStage ของครูผู้สอนพอดี คงจะซวยมิใช่น้อยเลย  อิๆๆ) แต่วันนี้ถือเป็นความโชคดีมากๆของผม อย่างแรกเลยคือได้พื้นที่ฝึกอยู่ตรงกลางห้อง  อย่างที่สองก็คือผู้ฝึกที่ล้อมรอบผมเริ่มฝึกก่อนหน้าผมประมาณ2-3ท่าฝึกเท่านั้น


                            (ท่า Supta Kurmasana, ท่าเต่าหลับ)


ผมก็ฝึกได้อย่างกลมกลืนกับคนส่วนใหญ่ในห้องฝึกล่ะครับ แต่พอมาถึงท่า Supta Kurmasana ท่าเต่านอนหลับ ที่เราจะต้องนั่งก้มหน้าไปจนหน้าเราแตะพื้นและนำเท้าทั้งสองมาพาดไว้บนศรีษะ ผมเคยทำได้ครับ แต่ไม่ได้ทำนานแล้ว พอจะเข้าสู่ท่าก็เลยเกิดอาการผิดจังหวะเล็กน้อย จนทำให้รู้สึกเจ็บตึงบริเวณกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างด้านขวา แต่ก็สามารถฝึกผ่านไปได้ในทุกๆท่า 
   
    (ครูอดัมส์ ครูผู้ช่วย ชาวอังกฤษ ที่เข้ามาช่วยผม Drop Back จับข้อเท้าตัวเองวันนี้)

พอมาถึงการทำท่าโค้งแอ่นหลังโดยการ Drop Back เพื่อไปจับข้อเท้าตัวเราเอง ก็จะมีครูผู้ช่วยมาคอยช่วยเรา วันนี้ครูที่มาช่วยผม ชื่อ อดัมส์ มาจากประเทศอังกฤษ พอ Drop Back เสร็จแล้ว เราก็จะนั่งลงไปเหยียดขาและก้มตัว ในท่า Paschimottanasana ซึ่งครูก็จะมาช่วยกดหลังเพื่อยืดกล้ามเนื้อหลังให้กับเรา  ผมก็ได้เรียนรู้และทราบเพิ่มเติมว่า พอเราทำท่านี้เสร็จแล้ว ท่าฝึกอื่นๆเหลืออยู่ ก็คือชุดท่าฝึก Finishing Sequence ทั้งหมด และท่าศพอาสนะ เราจะต้องไปทำต่อเองในห้องล็อคเกอร์ ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เพื่อเป็นการเสียสละแบ่งพื้นที่ในการฝึกให้กับผู้ฝึกที่ยังคงนั่งรอฝึกอยู่ที่ด้านนอกห้องฝึกได้เข้ามาฝึกเร็วขึ้น และบางครั้งก็อาจจะมีการใช้พื้นที่ของศาลาฝึกเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อในช่วงเวลา 11:15น.



ในห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวของผู้ชายก็จะแบ่งออกเป็นสองชั้น(ชั้นบนจะเป็นเหมือนชั้นลอย ซึ่งมีตู้ล็อคเกอร์เก็บของวางเลียงลายอยู่) ด้านหน้าตู้ล็อคเกอร์มีพื้นที่ว่างให้สามารถปูเสื่อฝึกโยคะได้ 3ที่, ส่วนชั้นล่างก็จะมีพื้นที่มากกว่าชั้นลอยประมาณ สองเท่า พื้นที่ของชั้นล่างประกอบไปด้วยห้องอาบน้ำ  1 ห้อง, ห้องน้ำ 1 ห้อง,มีพื้นที่กว้างข้างๆห้องน้ำ สามารถวางเสื่อโยคะได้ 4-5 ที่ และที่หน้าห้องน้ำ วางได้อีก 1ที่  สรุปรวมแล้วในห้องแต่งตัวของผู้ชายก็จะมีพื้นที่ให้พวกเราทยอยเข้ามาฝึกชุดท่าจบ Finishing Sequence และศพอาสนะ ประมาณ 8-9ที่ด้วยกันครับ สุดยอดมากๆเลยครับ ทุกๆพื้นที่ในศาลาฝึกถูกใช้สอยให้เกิดประโยชน์หมดเลยล่ะครับ ในส่วนของห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของผู้หญิงก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันนี่ล่ะครับ



และเมื่อทุกๆคนฝึกเสร็จแล้วทำการเปลี่ยนชุด เก็บข้าวของเพื่อจะเดินออกจากศาลาฝึก ก็จะเป็นธรรมเนียมฏิบัติครับ ว่า ถ้าครูSharath ยังคงสอนอยู่ในห้อง ทุกๆคนที่กำลังจะเดินออกจากห้องฝึก เมื่อเดินไปจนถึงประตูทางออกของห้องฝึกแล้วก็จะหันกลับมา พร้อมกับยืนมองไปที่ครูSharath และรอจนกว่าครูจะหันมามอง เมื่อครูหันมามองเราก็จะยกมือไหว้เพื่อเป็นการลากลับที่พักหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติ ครูก็จะพยักหน้ารับการไหว้ หรือในบางครั้งจังหวะดีๆครูก็จะยกมือขึ้นมารับไหว้ด้วยล่ะครับ




เมื่อออกมาด้านนอกศาลาแล้ว หลายๆคนก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อดื่มน้ำมะพร้าว พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  แต่ว่าวันนี้เป็นวันแรกของผมก็เลยไม่ค่อยรู้จักกับใคร แล้วก็ไม่ค่อยมีเรื่องจะพูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรกลับใคร  คิดแค่เพียงว่าอยากจะรีบกลับไปพักผ่อน อาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากท่า Supta Kurmasana ท่าเต่าหลับ จึงทำให้ผมรู้สึกเจ็บตึงกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างด้านขวา...เต่าน่ะคงจะหลับสบาย แต่ว่าคืนนี้ ไอ้ผมนี่ซิครับ จะนอนหลับได้หรือเปล่าก็ไม่รู้น่ะคร้าบบบ พี่ๆน้องๆชาวโยคะ ฮ่าๆๆๆ



ขอพลังแห่งโยคะ ความรักและศรัทธาจงอยู่กับทุกๆคนตลอดไป บุญรักษา พระคุ้มครอง



นมัสเต,



จิมมี่โยคะ

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger